กัณฑ์ที่ ๘๐      ๑๓  กรกฎาคม  ๒๕๔๔

ทางสายกลาง

 

ในพระปฐมเทศนาพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงถึงทางแห่งการดับทุกข์ ทรงเรียกวิธีการดับทุกข์ที่ได้ทรงดำเนินว่า มัชฌิมาปฏิปทา  ทางสายกลาง อยู่ตรงกลางระหว่าง กามสุขัลลิกานุโยค การดับทุกข์ด้วยกามสุข และ อัตตกิลมถานุโยค การพ้นทุกข์ด้วยการทรมานตนเองโดยเปล่าประโยชน์  ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติกันมาก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  คนเราเวลามีความทุกข์ก็จะดับทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ แนวทางหนึ่งก็คิดว่าความทุกข์ดับได้ด้วยกามสุข  จึงแสวงหาความสุขในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงทำให้ต้องแสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะว่าเมื่อมีลาภแล้วก็จะได้เอาไปเสพเอาไปสร้างสิ่งต่างๆ ที่เสริมสร้างกามสุข คนเราจึงแสวงหาเงิน หาทองกัน เพื่อจะได้เอามาซื้อข้าวซื้อของ สร้างบ้านใหญ่ๆโตๆ มีเครื่องใช้ไม้สอยมากมายก่ายกอง  ต้องการอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็จะได้สมดังใจ   แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดับทุกข์ในจิตใจได้ เพราะความทุกข์ของจิตใจไม่ได้เกิดจากการขาดตกบกพร่องในสิ่งเหล่านี้ เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาแล้วก็ไม่ไปดับความทุกข์ภายในจิตใจ ไม่ได้ทำให้ความอยากในสิ่งเหล่านี้ลดน้อยถอยลงไป แต่กลับมีเพิ่มพูนมากขึ้นไปเสียอีก  เมื่อมีแล้วก็อยากจะมีไปนานๆ อยากจะมีมากๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ มีของอะไรออกมาใหม่ๆ ก็อยากจะได้อยู่เรื่อยๆ มีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาก็อยากจะได้  มีของใช้ไม้สอยที่มีออกมาใหม่ๆ ก็อยากจะได้อยู่เรื่อยๆ เมื่อมีความอยากก็ต้องขวนขวาย ดิ้นรน จึงกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา อยู่ไม่สุข อยู่เฉยๆไม่ได้  เพราะไม่รู้จักตัดความอยาก 

พระพุทธองค์ทรงเห็นสิ่งเหล่านี้มาแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้เสด็จออกบวช   สมัยนั้นทรงอยู่ท่ามกลางกองเงินกองทอง ทรัพย์สมบัติต่างๆอันเลอเลิศที่มนุษย์จะสามารถหากันได้ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ ห้อมล้อมด้วยกามคุณ ๕ อันประณีตวิเศษทั้งหลาย  แต่ทรงกลับไม่มีความสุขที่แท้จริง คือยังมีความทุกข์ มีความกังวลใจ  เกี่ยวกับเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจ และการประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาทั้งหลาย หลังจากได้พิจารณาด้วยปัญญาอย่างรอบคอบแล้วจึงได้ทรงสลัดสิ่งเหล่านี้ทิ้งไป แล้วเสด็จออกบวช  เมื่อบวชแล้วก็ได้พบเห็นวิธีการดับทุกข์อีกแบบหนึ่ง คือการทรมานกายด้วยวิธีต่างๆของสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลาย   บางพวกไม่ใส่เสื้อผ้า  บางพวกจะนั่งนอนบนที่นั่งอันแหลมคม เพื่อทรมานร่างกาย  พระพุทธองค์เองก็ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วันด้วยกันจนกระทั่งร่างกายแทบจะไม่มีเนื้อเหลืออยู่เลย มีแต่หนังหุ้มกระดูก  ถ้าอดต่อไปก็จะต้องตายแน่นอน  ทรมานตนถึงขนาดนั้นแล้วความทุกข์ ก็ยังไม่หายไปจากใจ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจที่เกิดจากความกลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ยังไม่หมดไปจากจิตจากใจ  จึงรู้ว่าทางทั้ง ๒ นี้ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ เพราะไม่ได้ไปทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆที่มีอยู่ในใจ

ทรงเห็นว่ากายกับใจเป็นคนละเรื่องกัน ร่างกายเป็นเรื่องหนึ่ง ใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความทุกข์ที่แท้จริงอยู่ในใจ เกิดจากความอยาก  จึงหันมาปฏิบัติที่ใจ เจริญจิตตภาวนา ด้วยการเจริญอานาปานสติ  กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก  ทำจิตให้สงบ  เมื่อจิตสงบแล้ว ก็เจริญวิปัสสนาต่อไป หาสาเหตุว่าอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้จิตอยากกับสิ่งต่างๆ   ทำไมถึงต้องอยากมี อยากเป็น ทำไมถึงจะต้องกลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย  สิ่งเหล่านี้เป็นของปกติไม่ใช่หรือ  ทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ก็ต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น ไม่มีใครจะหนีพ้นเลยเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย  เรื่องการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลาย  เรื่องการสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของโลกนี้  เมื่อเกิดมาแล้วทุกๆ คนก็ต้องประสบกันทั้งนั้น 

เมื่อทรงพิจารณาแล้วก็เห็นว่าความไม่อยากประสบกับสิ่งเหล่านี้เองเป็นต้นเหตุของความทุกข์ เกิดจากความไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของโลกนี้ จึงทำให้เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา  เมื่อเข้าใจแล้วจึงรู้ว่าเป็นธรรมดา   ของโลกนี้ ถ้าเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องเหล่านี้ ทำใจยอมรับเสียแล้วใจก็จะสบาย  ส่วนความอยากในกามสุข ก็อย่าไปอยาก  เพราะได้มาเท่าไรก็ไม่สุขสักที  ไม่อิ่มสักที  ไม่พอสักที เปรียบเหมือนกับยาเสพติดทั้งหลาย  เวลาเสพเข้าไปก็มีความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว หลังจากนั้นก็อยากจะเสพอีก สูบบุหรี่ไปมวนหนึ่งแล้วก็อยากจะสูบอีกมวนหนึ่ง  กินเหล้าหมดไปขวดหนึ่งแล้วก็ยังอยากจะกินอีกขวดหนึ่ง  ลองมาเก็บขวดที่เคยกินไว้ดู หรือลองเก็บก้นบุหรี่ที่เคยสูบไว้ดู รวบรวมดู จะกองเท่าภูเขาเลยทีเดียว  แต่ก็ยังไม่พอ  ยังไม่อิ่มฉันใด  เรื่องกามสุขที่ชอบกันก็เหมือนกัน ชอบดูหนังดูละคร ดูมาแล้วกี่เรื่อง อ่านหนังสือมาแล้วกี่เล่ม ก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ  ทำให้เพลิดเพลินมีความสุขไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง  หลังจากนั้นแล้วก็ทำให้หิวให้อยากอีก  ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว วันนั้นจะทุกข์จะเดือดร้อนมาก  คนที่เคยสูบบุหรี่ทุกๆวัน ถ้าอยู่ๆ ทางรัฐบาลประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามขายบุหรี่ในเมืองไทย คนที่สูบบุหรี่คงจะไม่สบายกันเยอะ เพราะหาบุหรี่สูบไม่ได้ หรือคนที่เคยกินเหล้าอยู่เป็นประจำ ถ้าไม่มีเหล้าขายในเมืองไทยแล้ว คนนั้นจะต้องลงแดงตายแน่ๆ  นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากการเสพกามสุข 

พระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้ตัดตัณหาทั้ง ๓  คือ กามตัณหา ความอยากในกามสุข วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เช่นไม่อยาก แก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย  ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้  มันก็เป็นสมมุติทั้งนั้น  ความจริงแล้วคนเราเกิดมา ไม่มีใครเป็นอะไร มาตั้งกันขึ้นมาเอง  ตั้งคนนี้เป็นนายก คนนี้เป็น ส.ส. แล้วก็ให้มีอำนาจอย่างนั้นอย่างนี้  มีเงินเดือนสูงๆ  คนที่ไม่รู้เรื่องก็หลง ก็อยากจะมีอยากจะเป็นกับเขา  แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริงของตัวเอง  ไม่ได้เปลี่ยนความแก่ ความเจ็บ ความตายของตัวเอง  ไม่ได้ไปแก้ความทุกข์ภายในจิตใจ  แต่กลับไปเพิ่มความทุกข์ให้มีมากขึ้นอีก  เพราะเมื่อเคยเป็นใหญ่แล้ว เวลาไม่ได้เป็นใหญ่จะรู้สึกทุกข์มาก  สังเกตดูเวลาเป็นนายกจะยิ้มแย้มแจ่มใส  แต่พอไม่ได้เป็นแล้วหน้าตาเศร้าสร้อยหงอยเหงา  เพราะความหลงนั่นเองทำให้ยึดติดกับสิ่งต่างๆ คิดว่ามีแล้วจะมีความสุข  แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งนั้น  เมื่อไปยึดไปติดแล้ว เวลาไม่มีเข้าก็จะทุกข์ใจ 

จึงทรงสอนไม่ให้ไปยึดไปติดกับความอยากทั้ง ๓ นี้  ไม่ให้มีกามตัณหา ความอยากในกาม  ไม่ให้มีภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  ไม่ให้มีวิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  คืออยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย อยากจะไม่เจอสิ่งต่างๆที่ไม่ปรารถนา  ที่เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญา  ไม่รู้จักธรรมชาติของโลก เมื่ออยู่ในโลกนี้แล้ว จะไปฝืนความจริงของโลกได้อย่างไร  ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น  ทรงเจริญวิปัสสนาปัญญาพิจารณาหลังจากที่จิตมีความสงบ เพราะจะสามารถพิจารณาจนเห็นคล้อยตามความเป็นจริงได้  ในขณะที่จิตสงบจะไม่มีอารมณ์ของกิเลสมาคอยต่อต้าน ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีความอยากต่างๆมาคอยต่อต้าน มาคอยคัดค้าน มาคอยแย้ง ก็เลยทำให้เห็นสภาพความเป็นจริง เห็นโทษของความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีตัวตนของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่ไปชื่นชมยินดี อยากมีอยากเป็น สิ่งเหล่านี้เป็นของชั่วคราว ในที่สุดก็ต้องหมดไป ช้าหรือเร็ว และเมื่อหมดไปก็จะมีความทุกข์  ถ้าไปยึดไปติด

ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะมีแต่ความสบายใจ ใครจะเป็นนายกหรือไม่เป็นนายกก็ไม่เดือดร้อน จะมีเงินทองมากหรือน้อยก็ไม่เดือดร้อน  ตราบใดมีกินมีอยู่ก็ใช้ได้แล้ว ให้ร่างกายอยู่ไปได้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่หิว จากการขาดแคลนในเรื่องปัจจัย ๔ ก็พอเพียงแล้ว ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการระงับดับความอยากที่มีอยู่ในใจต่างหาก  ถ้าระงับดับความอยากได้แล้ว ก็จะถึงเมืองพอ  ถึงคำว่าอิ่ม คำว่าพอ ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว  จิตที่อิ่ม จิตที่สงบ จิตที่ตัดกิเลส ตัดความอยากออกไปได้แล้ว จะไม่หิวกับอะไร ไม่อยากกับอะไร อยู่เฉยๆก็มีความสุข เปรียบเหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้ว  เติมเข้าไปอีกก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  น้ำเต็มแก้ว เติมเข้าไปก็มีแต่จะล้นทิ้งไปเสียเปล่าๆฉันใด ใจก็เหมือนกัน ใจนี้เปรียบเหมือนกับตุ่มน้ำที่มีรอยรั่วอยู่ ๓ รอย ที่เกิดจากความอยากในกาม อยากเป็น และความกลัวแก่ เจ็บ ตาย  นี่คือรอยรั่วของใจ  ถ้าไม่อุดรอยรั่วทั้ง ๓ รอยนี้แล้ว  เวลาเติมน้ำให้เต็ม  เดี๋ยวน้ำก็ต้องซึมออกมาจนหมดไป  ต้องเติมอยู่เรื่อยๆ ต้องอยาก ต้องกลัวไปเรื่อยๆ แต่คนฉลาดถ้ารู้ว่ามีรอยรั่วอยู่ ก็จะอุดรอยรั่วทั้ง ๓ นี้เสีย  เมื่ออุดแล้วทีนี้เติมน้ำเข้าไปทีเดียวให้เต็ม น้ำก็จะไม่พร่อง จะเต็มอยู่เสมอ ใจก็เหมือนกับตุ่มน้ำนี่แหละ  ตุ่มน้ำที่ยังมีรอยรั่วอยู่  รอยรั่วที่เกิดจากความอยากทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ถ้าอุดรอยรั่วทั้ง ๓ นี้ได้ คือ ตัดตัณหาทั้ง ๓ นี้ได้ ใจก็จะถึงเมืองพอ ถึงบรมสุข ปรมัง สุขัง

สิ่งที่จะดับ จะอุดรอยรั่ว คือตัดตัณหาความอยากทั้ง ๓ นี้ได้ คือมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงดำเนินมานั่นเอง เรียกว่ามรรค ๘  คือ  .  สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ .  สัมมาสังกัปปะ  ดำริชอบ  .  สัมมาวาจา เจรจาชอบ  .  สัมมากัมมันตะ  ทำการชอบ  .  สัมมาอาชีวะ  เลี้ยงชีพชอบ  .  สัมมาวายามะ เพียรชอบ  .  สัมมาสติ ระลึกชอบ  . สัมมาสมาธิ  ตั้งจิตมั่นชอบ นี่คือธรรมที่จะไปทำลายตัณหา ความอยากทั้งหลายที่มีอยู่ในใจให้หมดไปได้  ถ้าเจริญธรรมทั้ง ๘ นี้แล้ว จะมีน้ำไว้ดับไฟในใจ  เมื่อเจริญมรรคได้เต็มที่แล้ว ตัณหาทั้ง ๓ คือความอยากทั้ง ๓ ก็จะหมดไป  มีแต่ความอิ่ม ความพอ ความสงบ ความสุข เข้ามาแทนที่  ความทุกข์ต่างๆก็จะหมดไป

มรรคเมื่อแยกเป็น ๓ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นมรรคเหมือนกัน สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ กับ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เป็นองค์ประกอบของปัญญา  เห็นอะไรถึงเรียกว่าเห็นชอบ เห็นว่าโลกนี้เป็นโลกของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นโลกของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่  เป็นเจ้าของอยู่นั้น ที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นของๆตน   ไม่อยู่ไปตลอด จะต้องหมดไป  ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์  นี่คือความเห็นชอบ  เมื่อเห็นชอบแล้ว ก็มีความดำริชอบตามมาว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว  สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนกับอสรพิษ เหมือนกับไฟ  คนฉลาดย่อมไม่เข้าใกล้สิ่งเหล่านี้ ย่อมถอยห่างจากสิ่งเหล่านี้  ถอยห่างจากสภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือถอยห่างจาก ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข นั่นเอง  ไม่หลงไม่อยากมีลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข เพราะมีแล้วสักวันหนึ่งจะต้องเสียใจ  จะต้องร้องห่มร้องไห้ จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้  แต่ถ้าไม่ยินดีกับเขา  ก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข  ดูพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เป็นตัวอย่าง ท่านตัดแล้ว เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ทั้งหลาย  ท่านก็อยู่ได้ ท่านกลับมีความสุขมากกว่าเดิมเสียอีก  สุขกว่าคนที่มีสิ่งเหล่านี้เสียอีก  เพราะท่านมีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มีสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ  ท่านจึงปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติด

พวกเราชาวพุทธก็เช่นกัน  เรามีความศรัทธา มีความเชื่อในพระพุทธเจ้า มีความปรารถนาที่จะอยู่เหนือความทุกข์เหมือนกับพระพุทธเจ้า  เราก็ต้องมีปัญญา ต้องคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของที่เขาให้เรายืมมาใช้  เขาจะมาเอาคืนเมื่อไรก็ไม่รู้  ไม่ว่าพ่อแม่เราก็ตาม สามีหรือภรรยาเราก็ตาม บุตรธิดาของเราก็ตาม  ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของ ลาภ ยศ ฐานะต่างๆ ตำแหน่งต่างๆ ให้คิดว่าเป็นของยืมมาใช้  มีก็ใช้ไป  แต่อย่าไปหลงติด  เตรียมตัวคืนเขาไป  วันไหนเขามาเคาะประตูแล้วพูดว่า ขอของเหล่านี้คืนนะ เราจะได้ตอบเขาไปว่า เออ เอาไปเลย เรารู้แล้วว่าของเหล่านี้ไม่ใช่ของๆเรา  แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของๆเรา  สักวันหนึ่งเขาก็ต้องมาทวงมาเอาคืนไป  ถ้ามีปัญญา มีความเห็นชอบ  ก็จะคิดเตรียมตัวเตรียมใจอยู่เสมอ เมื่อถึงเวลาใจจะไม่ทุกข์เลย  จะไม่หวั่นไหว จะยิ้ม จะสบาย เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ใจ  ใจเป็นของไม่ตาย ใจไม่มีปัญญา ใจเลยไปหลงไปติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวเป็นตน  เป็นของๆ ตนขึ้นมาเท่านั้นเอง  นี่คือความหลง  เมื่อไม่มีความหลง ก็จะปล่อยวางได้  ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้  ถึงเวลาก็รู้ว่าต้องจากกันไป   แต่ใจเป็นของไม่ตาย  ถ้ายังไม่ถึงที่สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะไปเกิดใหม่  แต่จะไปเกิดในภพที่ดีต่อไป  เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อมีปัญญาแล้ว ย่อมดำรงตนอยู่ในศีลธรรมนั่นเอง 

ศีลคือ สัมมาวาจา   สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ   การกระทำทางกาย ทางวาจา  ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  สัมมาวาจาคือ  พูดแต่คำสุภาพ ไม่พูดคำหยาบ พูดจริง ไม่พูดปดมดเท็จ พูดสิ่งที่มีสาระ มีประโยชน์ พูดด้วยความเมตตา  ไม่พูดยุยงให้คนเขาทะเลาะกันอย่างนี้เป็นต้น  เรียกว่าพูดดี  พูดแล้วไม่เกิดโทษกับตนเองหรือผู้อื่น  การกระทำก็เช่นกัน  ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่ไปล่วงเกินสามีภรรยาบุตรธิดาของผู้อื่น  ต้องไปสู่ขอให้ถูกต้องตามธรรมเนียมเสียก่อน  ให้เป็นที่ยินยอมของทุกฝ่ายเสียก่อน  ถึงจะถือว่าไม่เป็นการสร้างโทษให้กับตนเองและผู้อื่น  สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพชอบ มีสัมมาอาชีพ  ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดไม่โกง ไม่สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น  เช่นไม่ค้าขายสิ่งที่มีชีวิต เช่นค้าหมู ค้าวัว ค้าควาย เพื่อที่จะเอาไปฆ่า ไม่ค้าขายสิ่งที่เป็นพิษ เช่นยาฆ่าแมลง  ไม่ค้าขายศัสตราวุธ ปืนผาหน้าไม้ กับดักสัตว์ชนิดต่างๆ  ไม่ค้าขายสุรายาเมาทั้งหลาย ผู้มีปัญญาย่อมรู้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องค้าขายสิ่งเหล่าเพื่อการดำรงชีพ คนฉลาดย่อมรู้ว่าสิ่งที่มีความจำเป็นกับชีวิตนั้นมีไม่มากเลย  การดูแลร่างกายไม่ต้องใช้เงินทองมากเลย  ส่วนใหญ่จะหมดไปกับของที่ไม่มีสาระ ของฟุ่มเฟือย ของที่ไม่จำเป็นเสียมากกว่า   แต่กลับไปหลงว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเห็นเขามี ก็ต้องมีเหมือนเขา  เช่นจะต้องมีรถคันละสองสามล้าน  กินอาหารต้องมื้อละสองสามพัน อย่างนี้เป็นความหลงต่างหาก  กินอาหารมื้อละสามสี่สิบบาทก็อยู่ได้แล้ว  ถ้ากินเพื่อดูแลรักษาร่างกาย  แต่ส่วนใหญ่จะถูกกิเลสหลอกให้ไปรับใช้กิเลส รับใช้ตัณหา รับใช้ความอยากเสียมากกว่า  ต้องเสียเวลา เสียเงินเสียทองไปกับกิเลสตัณหา ไม่รู้จักเท่าไร 

สมาธิคือการทำจิตให้มีความสงบตั้งมั่น  การที่จะมีปัญญาได้ จิตจะต้องมีความสงบ ตั้งมั่นก่อน จึงต้องมีสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ต้องพยายามรักษาจิตให้สงบ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ ทั้งเช้าทั้งเย็น ทำได้มากน้อยเท่าไร จิตจะมีความตั้งมั่น สงบ เย็น สบาย จิตจะตั้งมั่นได้ก็ต้องมีสัมมาสติ คือการระลึกรู้ชอบ สติเป็นผู้ที่จะควบคุมจิต เป็นผู้ที่เบรกจิตได้ สติคือการระลึกรู้ ให้รู้อยู่ในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ขณะที่นั่งอยู่ ก็ให้รู้ว่ากำลังนั่งอยู่  ขณะที่ยืน ก็ให้รู้ว่ากำลังยืน  ขณะที่เดิน ก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน  ขณะที่นอน ก็ให้รู้ว่ากำลังนอน  ขณะกำลังทำอะไรก็ให้มีสติ  ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ อย่าให้จิตคิดไปที่อดีต ไปที่อนาคต หรือไปที่ต่างๆ เช่นขณะนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่  ก็อย่าปล่อยให้จิตคิดไปที่กรุงเทพฯ ที่บ้าน หรือคิดว่าพรุ่งนี้จะไปทำอะไร ออกจากศาลานี้แล้วจะไปทำอะไรต่อ  ถ้านั่งคิดอยู่อย่างนี้ก็แสดงว่าไม่มีสติ  เมื่อไม่มีสติแล้วจิตจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว  จะลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ  จะไหวไปกับอารมณ์ต่างๆได้ง่าย มีอะไรมากระทบมาสัมผัสก็จะไหวตาม  เป็นเหมือนนุ่น จะปลิวไปง่ายๆกับอารมณ์ต่างๆ  แต่ถ้ามีสติคอยดึงจิตไว้เรื่อยๆ ต่อไปจิตจะมีความมั่นคง  จะมีสมาธิ จะเป็นเหมือนกับหิน เวลามีลมพัดมาก็จะไม่ปลิวไปตามลมฉันใด  จิตที่มีสมาธิ มีความตั่งมั่น ก็จะไม่ไหวไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่มาสัมผัสผ่าน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  จะไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดความอยากขึ้นมาง่ายๆ เพราะจิตมีความตั้งมั่นเหมือนกับหิน และถ้ามีปัญญาก็จะดับอารมณ์ต่างๆได้ทันที 

นี่คือเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง มรรค ๘  ศีล สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา เป็นธรรมที่ชาวพุทธทุกๆคนควรเจริญอย่างต่อเนื่อง  เพราะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุขไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้ ดูเศรษฐีผู้มีอันจะกินทั้งหลาย เขาก็ยังทุกข์กันได้  ดีไม่ดีทุกข์มากถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มี  เพราะไม่มีเครื่องดับทุกข์นั่นเอง  ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีมรรค ๘ ไม่เคยทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม  ผู้ที่มีธรรมสมบูรณ์อยู่ในใจ อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก จะไม่มีความทุกข์อยู่ในใจเลย  มีแต่คำว่าสุขหนอ สุขหนอ อยู่ตลอดเวลา เป็นบรมสุข เป็นความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการสิ้นสุด เป็นความสุขตลอดอนันตกาล  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้