กัณฑ์ที่
๘๑
ใจ
พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมไว้บทหนึ่งว่า
มโนปุพพังคมา
ธัมมา มโนมยา
มโนเศรษฐา
แปลว่า
ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน
ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ในบรรดาสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดได้ด้วยใจ ใจเป็นใหญ่
ใจเป็นประธาน
ใจเป็นผู้สร้างขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นความดีงาม
ความประเสริฐเลิศโลกทั้งหลาย
หรือความเลวทรามต่ำช้าทั้งปวง
มีใจเป็นผู้สร้างขึ้นมาทั้งนั้น
สวรรค์ นรก มรรค ผล
นิพพาน ก็มีใจเป็นผู้สร้างขึ้นมา
ทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ดูแลรักษาใจ
เพราะใจที่ได้รับการดูแลรักษา
และรับการอบรมด้วยดีแล้ว
เป็นใจที่ประเสริฐ ไม่มีอะไรจะประเสริฐเท่ากับใจที่ได้รับการ
อบรมด้วยดีแล้ว
และไม่มีอะไรที่จะร้ายหรือเลวเท่ากับใจที่ยังไม่ได้รับการอบรม
ดังที่เห็นได้ในโลกนี้
ที่มีคนที่ดีแสนดี
ก็เป็นเพราะว่าใจดี
และที่มีคนที่เลวแสนเลว
ก็เป็นเพราะว่าใจเลว
ใจของทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ดีไม่งามอยู่
เรียกว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมอง
ที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้กับใจ
ให้กับโลก ถ้ามีกิเลสมากเท่าไหร่
ใจก็จะเลวร้ายมากเท่านั้น ถ้าไม่มีกิเลสเลย
ก็จะเป็นใจที่ประเสริฐ ดังใจของพระพุทธเจ้า
ของพระอรหันต์ทั้งหลาย
เป็นใจที่ประเสริฐ
เป็นบุคคลที่ประเสริฐ
เพราะใจของท่านสิ้นแล้วเรื่องกิเลส
โลภ โกรธ
หลง
ไม่มีอยู่ในใจของพระพุทธเจ้า
ไม่มีอยู่ในใจของพระอรหันต์
เมื่อไม่มีกิเลสแล้ว
ท่านก็ไม่สร้างปัญหา
สร้างความเดือดร้อนให้กับตนและผู้อื่น
มีแต่สร้างคุณสร้างประโยชน์โดยถ่ายเดียว
พระคุณของท่านจึงได้ขจรขจายมากว่า
๒๕๐๐ ปีแล้ว ก็เพราะใจของท่านเป็นใจที่ประเสริฐ เป็นใจที่มีแต่คุณงามความดี
เป็นใจที่มีแต่ความรู้
มีปัญญาที่เป็นเหมือนกับแสงสว่าง
พูดสอนใครแล้ว
ก็ทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเกิดความรู้
เกิดความฉลาดขึ้นมา สามารถนำเอาไปดับความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจของเขาได้
การดูแลรักษาใจ การอบรมใจจึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติ
ก็มีจุดหมายอยู่อันเดียวเท่านั้น
คือรักษาใจ พัฒนาใจ
ให้เป็นใจที่ดีที่งาม
เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธจ้าทรงสั่งสอน
ก็เพื่อประโยชน์ของใจ
เมื่อใจได้รับการอบรม
ได้รับธรรมเข้าไปแล้ว
ใจจะเป็นใจที่ดีที่งาม
อยู่ในทำนองคลองธรรม
ไม่ไปทำสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย
ใจจะดีได้ก็ต้องอาศัยการชำระสิ่งที่ไม่ดี
ที่สร้างความชั่วร้ายทั้งหลายให้เกิดขึ้น
มูลเหตุของความชั่วก็คือ
ความโลภ
ความโกรธ ความหลง
เป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของปุถุชนทุกๆคน
ที่จะต้องถูกชำระสะสางให้ออกไปจากใจให้ได้ ถ้ายังมีอยู่ในใจ
เวลากำเริบขึ้นมา
ก็จะทำให้ใจเป็นใจที่เลวร้าย
โหดร้าย ทารุณ
สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง
อย่างใจของพวกเราก็เช่นกัน
ยังมีโลภ โกรธ
หลงอยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่แสดงอาการออกมา
เราเลยนั่งอยู่ได้เป็นปกติ
แต่ถ้าเกิดมีอะไรไปสะกิดเข้า
ไปกระตุ้นขึ้นมา
ทำให้เกิดโลภ โกรธ
หลงขึ้นมาแล้ว ก็จะเริ่มออกอาละวาด
สร้างปัญหาให้กับตัวเราเองและกับผู้อื่น
ปัญหาของเราก็คืออยู่ไม่เป็นสุข
อยู่เฉยๆไม่ได้
เมื่อมีโลภ โกรธ
หลงแล้ว
จะต้องระบายออกไปทางกายและทางวาจา
ถ้าไม่ควบคุมไว้แล้ว ก็จะไปสร้างความเดือดร้อน
สร้างปัญหาให้กับคนทั่วไปและตัวเราด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การดูแลใจ
ควบคุมใจ ชำระความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ที่มีอยู่ในใจให้หมดไป
ถ้า โลภ โกรธ
หลง หมดไปจากใจแล้ว
ใจจะสบาย
ไม่มีอะไรมาก่อกวน
ไม่มีอะไรมาสั่งการให้ไปโลภ
ให้ไปโกรธ ให้ไปหลงกับอะไร
เพราะไม่มี โลภ
โกรธ หลง ที่จะไปกระตุ้นใจนั้นเอง
เมื่อไม่มี โลภ โกรธ
หลง แล้ว
อยู่เฉยๆก็เป็นสุข
ไม่ต้องไปดิ้นรนให้เหนื่อยยากเปล่าๆ
สิ่งของต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นของปลอม
ไม่ใช่ของจริง
ไม่ใช่สิ่งที่จะให้ความสุขที่แท้จริงกับใจ
แต่ใจที่มีความหลง
เวลาเห็นอะไรก็ดีไปหมด
เมื่อดีแล้วก็อยากได้มา
เมื่อได้มาแล้วก็คิดว่าจะมีความสุข
แต่ก็ไม่สุขสักที
ก็อยากจะมีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งตายไป
สิ่งของต่างๆที่หามาได้ก็ไม่ได้เอาไปแม้แต่ชิ้นเดียว
เอาไปแต่โลภ โกรธ
หลง เมื่อไปเกิดใหม่ก็มาทำแบบนี้อีก
ทำแบบนี้มาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ
และจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าตราบใดไม่ชำระความโลภ
ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากใจ
ถ้าทำได้แล้วใจก็สะอาดบริสุทธิ์
เป็นใจของพระอรหันต์
เป็นใจของพระพุทธเจ้า
เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ไม่ต้องกลับมาอยู่แบบทุรนทุราย
อยู่เฉยๆไม่ได้
อยู่ไม่เป็นสุข
ต้องออกไปหาลาภ
ยศ สรรเสริญ
กามสุขอยู่เรื่อยๆ
หามาเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม
ไม่พอ แต่ถ้าตัดโลภ โกรธ หลงได้แล้ว
ก็จะไม่หิวกับอะไรอีก
จะมีเงินมีทองมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญ
จะมีตำแหน่งสูงหรือไม่สูงก็ไม่สำคัญ
จะมีใครยกย่องสรรเสริญเยินยอ
หรือตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าว
ก็ไม่เดือดร้อน
ไม่หิวกับกามสุข
ไม่ต้องไปดูหนัง ดูละคร
ไม่ต้องไปกินเลี้ยงกินอะไร
ฉลองกันให้วุ่นวายเปล่าๆ
อยู่เฉยๆก็มีความสุข
ดูแลรักษาอัตภาพร่างกายไปวันๆหนึ่งก็พอแล้ว เมื่อร่างกายสลายไปก็จบ
ปล่อยวางไม่ไปหาร่างกายใหม่อีกต่อไป
เพราะใจถึงเมืองพอแล้ว
อิ่มแล้ว พอแล้ว
อย่างนี้เป็นความสุขที่เลิศที่สุด
ประเสริฐที่สุด
เพราะเป็นความสุขที่ไม่สูญสลาย ไม่หมดไป
จะเป็นอย่างนี้ไปตลอดอนันตกาล
ส่วนใจของผู้ที่ยังมีโลภ
โกรธ หลงอยู่
ก็ยังต้องไปโลภ
ไปโกรธ ไปหลงอยู่ตลอดอนันตกาลเหมือนกัน
ไม่มีที่สิ้นสุด ตายแล้วเกิด
เกิดแล้วตาย
เป็นอย่างนี้อยู่ร่ำไป
เกิดมาแล้วก็โลภ
โกรธ หลงจนถึงวันตาย
ตายไปแล้วก็ไปเกิดแล้วก็โลภ
โกรธ หลง
อีก นี่คือลักษณะของใจ
๒ ชนิด คือ ๑.
ใจที่สิ้นแล้วด้วยความโลภ
ความโกรธ ความหลง
เป็นใจที่ประเสริฐ
เป็นใจที่มีความสมบูรณ์
มีความอิ่ม มีความพอ
เป็นใจที่ไม่ต้องออกไปแสวงหาสิ่งของภายนอก เป็นใจที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง
๒. ใจที่ยังมีโลภ
โกรธ หลงอยู่
เป็นใจที่ดิ้นรนกวัดแกว่ง
ทุรนทุราย ต้องออกไปหาสิ่งของต่างๆภายนอก
แล้วก็สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่นไปไม่มีที่สิ้นสุด
เป็นใจที่มีอยู่ในโลกนี้
ทุกๆคนมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าจะเอาใจแบบไหน
จะเอาใจที่มีโลภ โกรธ หลงก็ได้
หรือจะเอาใจที่สิ้นแล้วซึ่งความโลภ
ความโกรธ ความหลงก็ได้
ถ้าปรารถนาความสุขที่แท้จริงแล้ว
และไม่ต้องการความทุกข์เลย
ก็ต้องเอาใจที่ไม่มีความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ถ้ายังรักที่จะโลภ
ยังรักที่จะโกรธ ยังรักที่จะหลง
ยังรักความทุกข์อยู่
ก็ขอให้เลือกใจที่ยังมีโลภ
โกรธ หลงอยู่
แต่ไม่มีใครอยากจะทุกข์หรอก
เพราะเวลาทุกข์มันแสนทรมาน
บางทีร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
แต่ใจกลับทุกข์มาก จนถึงกับทนอยู่ไม่ได้ก็มี
ต้องฆ่าตัวตายกันก็เพราะโลภ
โกรธ หลงนี่แหละเป็นต้นเหตุ
เวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมามากๆก็จะทนไม่ไหว
และด้วยความหลงนี่แหละ
จึงคิดว่าวิธีที่จะหนีพ้นจากความทุกข์ได้
ก็คือการฆ่าตัวตาย
แต่นั่นไม่ใช่เป็นวิธีแก้ปัญหา
เพราะว่าต้นเหตุของความทุกข์ในใจก็คือตัวโลภ โกรธ หลงนี่แหละ
ถ้าต้องการจะดับความทุกข์ในใจ
ก็ต้องดับความโลภ โกรธ หลง
ที่มีอยู่ในใจให้หมดไป
และสิ่งที่จะดับได้ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้แหละ
ที่เราได้ยินได้ฟังกันนี้แหละ
ที่จะเป็นเครื่องมือชำระโลภ
โกรธ หลง
ให้หมดไป
ด้วยการเจริญจิตตภาวนา
ทำให้โลภ โกรธ
หลงลดน้อยลงไป
เบาบางลงไป
จนหมดสิ้นไปในที่สุด
เมื่อหมดสิ้นไปแล้วก็เป็นใจที่ได้พัฒนาถึงจุดสูงสุด
เป็นใจที่ประเสริฐที่สุด
การที่จะชำระความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ออกไปจากใจได้ก็ต้องอาศัยธรรม
๒ ชนิด คือ สมาธิ
และ ปัญญา
สมาธิคือความสงบตั้งมั่นของจิต
ปัญญาคือความสว่าง ความฉลาด
ความรู้จักผิดถูกดีชั่ว
รู้เหตุ
รู้ผลรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์
อะไรเป็นเหตุของความสุข
รู้ว่าสุขและทุกข์เกิดจากอะไร
รู้ว่าสภาวธรรมทั้งปวงเป็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ต้องมีธรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้
จึงจะสามารถชำระโลภ
โกรธ หลงให้ออกไปจากใจได้
แต่การที่จะมีสมาธิ
หรือมีปัญญาขึ้นมาได้
ก็ต้องมีธรรมคือสติ
สติเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา
เกิดปัญญาขึ้นมา
ถ้าไม่มีสติ
สมาธิก็ไม่เกิด
ปัญญาก็ไม่เกิด
เหมือนกับรถยนต์ ถ้าไม่มีกุญแจรถไปไขเปิดประตูรถ
แล้วใช้กุญแจนั้นติดเครื่อง
รถก็จะวิ่งไปไหนไม่ได้ฉันใด
สมาธิและปัญญาที่เป็นเครื่องมือชำระความโลภ ความโกรธ
ความหลงให้หมดไปจากใจ
ก็ต้องมีสติเป็นผู้นำ
ถ้าไม่มีสติแล้วสมาธิก็จะไม่เกิด
ปัญญาก็จะไม่เกิด ในขั้นแรกจึงต้องฝึกตั้งสติกันก่อน
พัฒนาให้มีสติก่อน
เมื่อมีสติแล้วถึงค่อยพัฒนาไปสู่สมาธิและปัญญาต่อไป
การเจริญสตินี้
สามารถเจริญได้ตลอดเวลา
นับตั้งแต่เวลาที่ตื่นขึ้นมา
จนกระทั่งหลับไป
การปฏิบัติธรรมจึงไม่ต้องอยู่ที่วัดเสมอไป
อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้
ถ้ารู้ว่าการปฏิบัติธรรมปฏิบัติอย่างไร
การปฏิบัติเบื้องต้นคือการตั้งสติ
สติคือความระลึกรู้ ความระลึกรู้นี้ไม่ได้ให้ระลึกถึงเรื่องโน้นหรือเรื่องนี้
แต่หมายถึงว่าให้รู้อยู่กับปัจจุบัน
อยู่ที่นี่เดี่ยวนี้
ให้รู้ว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่
ฟังธรรมอยู่ใช่ไหม
แต่ใจฟังธรรมอยู่หรือเปล่า
หรือกำลังคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่
คิดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว
คิดถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ถ้าใจอยู่กับเรื่องเหล่านี้แสดงว่าไม่มีสติ ไม่ได้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้
การมีสติหมายถึง
รู้อยู่ในปัจจุบันทุกขณะเลยทีเดียว
ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่
ขอให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ
ถ้ามีสติแล้ว
ก็เท่ากับมีเครื่องมือไว้ควบคุมจิต
ซึ่งโดยปกติจะไม่ชอบอยู่กับที่
ไม่ชอบอยู่นิ่งๆเฉยๆ
แต่ชอบลอยไปลอยมา ชอบคิดถึงเรื่องนั้นบ้าง
เรื่องนี้บ้าง คิดไปแล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา
ทำให้ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง
แต่ไม่ทำให้จิตตั้งมั่น
มีความแข็งแกร่ง มีพลัง
มีกำลังเลย กลับทำจิตให้อ่อนไหวง่ายเหมือนกับนุ่น
เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบหน่อย
ก็จะปลิวไปตามอารมณ์นั้น
เห็นอะไรหรือได้ยินอะไร
ก็จะเกิดความดีใจขึ้นมาบ้าง
เกิดความเสียใจขึ้นมาบ้าง
ไม่สามารถควบคุมใจให้ตั้งอยู่เป็นปกติ
คือเป็นอุเบกขาได้
เป็นใจที่นิ่งเฉย
ไม่เดือดร้อนกับอารมณ์ต่างๆที่มาสัมผัส
ไม่ว่าจะมาทางตา หู จมูก
ลิ้น กาย
หรือทางใจ
ถ้ามีสติแล้ว
ต่อไปจิตจะค่อยๆนิ่ง
ค่อยๆสงบ จิตมีความนิ่งมีความสงบมากน้อยเท่าไหร่
ก็จะมีความหนักแน่นมากน้อยตามมาเหมือนกับหิน หินไม่เหมือนนุ่น
เวลาลมพัดมาหินจะไม่ขยับเขยื้อนเลย
แต่นุ่นเวลามีลมพัดมาเพียงแผ่วเบาก็จะปลิวตามลมไป
จิตของผู้ที่ยังไม่มีสติจะเป็นเหมือนกับนุ่น จะหวั่นไหวง่าย
มีอะไรมากระทบ
ก็จะมีอารมณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ใครพูดอะไรให้ฟังเพียงนิดเดียว
ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว
เห็นใครทำอะไรนิดหน่อยก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว เป็นเพราะว่าไม่มีสติคอยรั้ง
คอยดึงไว้นั่นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างสติกับจิตเหมือนเรือกับเชือก
ถ้าจอดเรือไว้เฉยๆไม่เอาเชือกผูกไว้กับเสากับท่าเรือ
หรือทอดสมอไว้
เดี๋ยวเรือก็ต้องลอยไปกับน้ำ
กระแสน้ำจะพัดพาเรือลำนั้นให้ลอยไปเรื่อยๆ แต่ถ้าผูกเรือไว้กับเสากับท่าเรือ
หรือทอดสมอไว้
เรือนั้นก็จะไม่ลอยไปไหน
ถึงแม้กระแสน้ำจะไหลมาแรง
เรือก็จะไม่ลอยไปตามกระแสน้ำ
จิตก็เช่นกัน
จะนิ่งสงบเป็นสมาธิตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันได้
ก็ต้องมีสติเป็นผู้รั้งดึงไว้
การรั้งดึงจิตไว้ก็ทำได้หลายวิธีด้วยกัน
แต่ละสำนักก็จะสอนต่างกันไปขึ้นอยู่กับจริต
ความถนัด ของอาจารย์ผู้สอน
เนื่องจากจริตนิสัย
ความถนัดในการปฏิบัติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ผู้ปฏิบัติจึงต้องทดลองดูว่าวิธีไหนที่เหมาะกับตน
ปฏิบัติไปแล้วได้ผลดี
จิตนี้เป็นเหมือนเรือ
จึงต้องมีเชือกคือสติ
ไว้ผูกจิตไว้กับเสาต้นใดต้นหนึ่ง
เพื่อจิตจะได้ไม่ลอยไปไหน
เสาก็มีหลายชนิดด้วยกัน
การเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ
สังฆานุสติ หรืออานาปานสติ
ก็ใช้เป็นเสาได้ ถ้าบริกรรม พุทโธๆๆ
ก็ให้มีสติรู้อยู่กับพุทโธๆๆ
ทำอย่างนี้ก็เท่ากับได้ผูกจิตไว้แล้ว
ถ้าระลึกแต่พุทโธๆๆ จิตจะไม่สามารถไปคิดเรื่องราวต่างๆได้ ถ้าจิตคิดออกไปก็ต้องดึงกลับมาอยู่กับพุทโธๆๆ
ในเบื้องต้นของการฝึกตั้งสติ
สติยังไม่มีกำลังมาก
จะแพ้กำลังของความเผลอสติ
เมื่อเผลอสติปั๊บจิตก็จะแว่บออกไป
จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อไป
แต่เมื่อได้สติปั๊บ เราก็ดึงกลับมาใหม่
ถ้าใช้การบริกรรมพุทโธๆๆ
เป็นเครื่องผูกใจ ก็ระลึกถึงพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ
พอจิตไปคิดถึงเรื่องจะไปกินไปเที่ยว
ก็ดึงกลับมา กลับมาอยู่ที่พุทโธๆๆ
พยายามทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ
ขั้นต้นก็จะเหนื่อยหน่อย
จะมีความรู้สึกท้อแท้หน่อย
เพราะทำไปแล้วรู้สึกจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ แต่ไม่เป็นไร
เพราะว่าเวลาทำอะไรใหม่ๆก็จะไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่
แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ
ก็จะมีประสบการณ์
มีความชำนิชำนาญขึ้นมา
แล้วต่อไปก็จะมีสติมากขึ้นไป
ในที่สุดก็จะสามารถรั้งดึงจิตให้อยู่กับตัวได้ตลอดเวลา
ขอให้พยายามทำไปเถิด
ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา
ก่อนจะลุกขึ้นจากเตียงก็ตั้งสติก่อน
ให้รู้ว่ากำลังนอนอยู่ให้รู้ว่ากำลังจะลุกขึ้น เมื่อลุกขึ้นก็ให้มีสติรู้อยู่กับการลุกขึ้นมา
ไม่ว่าจะทำอะไร จะเดิน จะนั่ง
จะยืน จะนอน
จะทำอะไร จะพูด
จะกิน จะขับถ่าย
ไม่ว่ากำลังทำอะไรทั้งสิ้นกับร่างกาย
กับวาจา กับใจ
ให้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา
แล้วจิตจะไม่ไปไหน
จะไม่ลอยไปไหน
ถ้าทำไปเรื่อยๆแล้ว
ต่อไปจิตจะอยู่ภายใต้คำสั่งของเรา
จะไม่ไปไหน จะอยู่เฉยๆ
ถ้าไม่สั่งให้ไป
จิตก็จะไม่ไป ไม่สั่งให้คิด ก็จะไม่คิด
แต่ตอนนี้เรายังไม่สามารถควบคุมจิตได้
เวลาอยากอะไรจิตจะสั่งเรา
แทนที่เราจะสั่งจิต ตอนนี้เราเป็นทาสของจิต
ซึ่งเป็นทาสของกิเลสอีกต่อหนึ่ง
เพราะกิเลสเป็นผู้สั่งการ
มีโลภ โกรธ
หลงเป็นผู้สั่งการ
พอโลภ โกรธ
หลงสั่งให้ทำปั๊บ
จิตก็สั่งให้เราทำต่อ
เราก็เลยออกมาโวยวาย
เวลาอยากจะได้อะไร
หรือโกรธใครขึ้นมา
ก็ออกมาโวยวาย พูดดีบ้าง
ไม่ดีบ้าง
เพราะควบคุมจิตไม่ได้
เหตุที่ควบคุมจิตไม่ได้ก็เพราะไม่มีสติ
ไม่เคยฝึกสตินั่นเอง
จึงควรพัฒนาสติ
พยายามตั้งสติอยู่เรื่อยๆ
ให้ถือว่าการตั้งสติเป็นงานที่แท้จริงของเรา
เป็นงานที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งกับจิตใจ งานอย่างอื่นไม่สำคัญเท่ากับงานดูแลรักษาจิตใจด้วยสติ
เป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง
งานอย่างอื่นถ้ามีความจำเป็นก็ทำไป
แต่ขอให้ทำด้วยสติ
แล้วจะได้ทั้งสองอย่าง
คือยิงปืนนัดเดียวได้นก ๒
ตัว คือได้งานทางกายด้วย
แล้วก็ได้ทางจิตใจด้วย
คือเรายังต้องดูแลรักษากายอยู่
ที่ต้องออกไปทำมาหากินก็เพื่อปัจจัย
๔ เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
แต่อย่าทำแต่เฉพาะกายอย่างเดียว
ต้องทำให้กับใจด้วย
คือทำด้วยความมีสติ
เวลาออกไปทำมาหากิน
จึงต้องมีสติอยู่กับการทำงานนั้นๆ ควบคุมจิตให้อยู่กับงาน
เวลาพิมพ์ดีดก็รู้อยู่กับการพิมพ์ดีด
เวลาเขียนหนังสือก็รู้อยู่กับการเขียนหนังสือ เวลาสั่งงานก็รู้อยู่กับการสั่งงาน
ให้มีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ
ถ้ามีสติแล้วจะรู้ทันทีเลยเวลาจิตมีอารมณ์
มีอารมณ์โลภขึ้นมา
มีอารมณ์โกรธขึ้นมา
มีอารมณ์หลงขึ้นมาก็จะรู้
เมื่อรู้แล้ว
ก็ดับมันได้ เมื่อดับได้
ก็จะไม่สร้างความทุกข์
ความไม่สบายใจให้กับเรา
แต่ถ้าไม่รู้ เวลาโลภ
โกรธ หลง
เกิดขึ้นมา
ก็จะสร้างความทุกข์ให้โดยไม่รู้ตัว
แล้วก็จะพาให้ไปกระทำในสิ่งที่ไม่ชอบ
ไม่ควร
ที่จะทำให้เสียใจในภายหลัง
เพราะไม่มีสตินั่นเอง
การพัฒนาสติจึงถือเป็นการปฏิบัติธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง
ที่สามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา
ทุกแห่งหน ไม่ต้องมาที่วัด
อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้
อยู่ในรถก็ปฏิบัติได้
ทำอะไรก็ปฏิบัติได้ ขอให้มีสติ
ให้เรารู้อยู่กับสิ่งที่ทำในขณะนั้น
ให้ทำใจอยู่ที่ปัจจุบัน
อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้
อย่าปล่อยใจคิดไปในอดีต
อดีตมันก็ผ่านไปแล้ว
คิดไปก็ป่วยการ
ไปแก้สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่ได้
ยกเว้นถ้าคิดถึงอดีตเพื่อเป็นคติสอนใจ
ถ้าทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว
ก็เอามาสอนตนว่า
สิ่งที่ทำไป มันไม่ดีนะ
ต่อไปอย่าไปทำมันอีก
ถ้าคิดแบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์
เป็นปัญญา
แต่ต้องคิดด้วยสติ
ส่วนใหญ่เวลาคิดถึงอดีต
มักจะคิดแบบเรื่อยเปื่อยเพ้อเจ้อ
คิดไปฝันไป
ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น
ถ้าคิดแบบเพ้อฝัน ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร
เพราะจะไปตามอำนาจของความโลภ
ความโกรธ ความหลงนั่นเอง
แต่ถ้าคิดด้วยสติด้วยปัญญาแล้ว
ไม่ว่าจะคิดเรื่องอดีตก็ดี
เรื่องอนาคตก็ดี
ก็จะเป็นประโยชน์
อย่างเรื่องอนาคต
ถ้าจะคิดก็ขอให้คิดว่าเกิดมาแล้วต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากสมบัติข้าวของต่างๆ ที่อุตส่าห์หามาแทบเป็นแทบตาย
สักวันหนึ่งก็ต้องจากเขาไป
ไม่ว่าจะมีรถราคาคันละกี่ล้าน
มีบ้านหลังละกี่ล้าน
มีบริษัทมีเงินอยู่กี่ร้อยล้าน
กี่พันล้าน มีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม
สักวันหนึ่งก็ต้องจากเขาไป
ต้องหมดไป ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด
ถ้าคิดแบบนี้
เรียกว่าคิดด้วยสติ
คิดด้วยปัญญา
คิดแล้วดี เพราะตัดความโลภ
ความโกรธ ความหลงได้
การชำระจิตด้วยสติ
ด้วยปัญญา ด้วยสมาธิ
จึงต้องมีสติอยู่เสมอ
ให้รู้อยู่เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่
ถ้าคิดเรื่องอะไรก็ให้มีปัญญาเข้ามาสอดแทรกอยู่เสมอ
คิดอยากได้อะไรก็เอาปัญญาเข้ามาสอดแทรกอยู่เสมอ ว่าจำเป็นไหม
สิ่งที่อยากได้นั้น
ได้มาแล้วจะทำให้สุขกว่าเดิมหรือไม่
มีเงินมากขึ้นแล้ว
จะมีความสุขมากกว่าเดิมหรือเปล่า
จะดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
หรือความทุกข์ในใจก็ยังจะมีอยู่เท่าเดิม
เพราะความทุกข์ในใจ จะมาก
จะน้อย ขึ้นอยู่กับว่าความโลภ
ความโกรธ ความหลง
มีมากน้อยแค่ไหนต่างหาก
ถ้าอยากจะมีความสุขใจ
ก็ต้องตัดความโลภ
ความโกรธ ความหลงให้น้อยลงไปซิ
ถ้าอยากจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ถ้าเป็นความอยากเฉยๆ
เป็นความโลภเฉยๆ
โดยไม่มีความจำเป็นมารองรับก็ต้องตัดไป
อย่าไปเอามา เพราะเอามาแล้วเท่ากับเสริมสร้างความโลภให้มีกำลังมากขึ้น
ครั้งต่อไปความโลภจะแรงขึ้นกว่าเก่า
เคยได้สิ่งนี้แล้วก็อยากจะได้สิ่งที่ดีกว่านี้
เคยได้รถคันหนึ่งราคา ๑
ล้าน
ต่อไปก็อยากจะได้ราคาคันละ ๒
ล้าน ๓ ล้าน นี่เป็นปัญหาแล้ว
เมื่อก่อนนี้ล้านเดียวก็พอใจ
เดี๋ยวนี้ไม่พอใจแล้ว
ต้องนั่งรถ ๓ ล้าน ๔
ล้านขึ้นไป
นี่คือเรื่องของความโลภ
จึงต้องตัดแทนที่จะส่งเสริม
ต้องคิดว่ารถคันที่มีอยู่ก็ยังใช้ได้ไม่ใช่หรือ
ยังพาไปจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งได้ไม่ใช่หรือ ถ้าพาไปได้
แล้วจะไปโลภทำไม
โลภแล้วมันทุกข์นะ
ถ้าไม่โลภแล้วมันสุขนะ
ทางดำเนินของคนฉลาดต้องไปสู่การไม่โลภ
ไม่โกรธ ไม่หลงต่างหาก
ถ้าจะไปให้ถึงจุดนั้น
ต้องฝืนความโลภ
ฝืนความโกรธ และฝืนความหลง
ถ้ามีความจำเป็นจะต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ก็ขอให้ใช้เหตุใช้ผล
เอาพอประมาณ
เอาหลักความมักน้อยสันโดษ
คือเอาเท่าที่จำเป็น
คำว่ามักน้อยก็คือเอาเท่าที่จำเป็น
ถ้าต้องมีภรรยาก็เอาคนเดียวก็พอ
ถ้าต้องมีรถก็เอาคันเดียวก็พอ
ถ้าต้องมีบ้านก็เอาบ้านหลังเดียวก็พอ
อย่าไปเอามาก อย่าไปมักมาก
มักน้อยเข้าไว้
เอาเท่าที่จำเป็น
ถ้าต้องกินข้าวก็กินเท่าที่จำเป็นก็พอ
อย่างพระท่านฉันมื้อเดียว
ท่านก็อยู่ได้ เป็นญาติโยมวันพระนี้เอาแค่
๒ มื้อก็พอ อดข้าวมื้อเย็นสักวัน
ไม่ตายหรอก
ตัดกิเลสแล้วจะมีความสุขใจ ถ้าไม่ตัดโลภ โกรธ หลงแล้ว อย่าไปหวังเลยว่าจะมีความสุข ต่อให้มีความร่ำรวยขนาดไหน มีตำแหน่งสูงขนาดไหน มีใครสรรเสริญยกย่อง มีเครื่องใช้ไม้สอย มีกามสุขมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็จะไม่ทำให้มีความสุขที่แท้จริงได้ แต่ถ้าได้ตัดโลภ โกรธ หลงออกไปจากใจแล้ว นั่นแหละคือความสุข จะค่อยๆปรากฏขึ้นมาในใจ เกิดจากความอิ่ม เกิดจากความปีตินั่นเอง ไม่ได้เกิดจากการขวนขวายหาสิ่งของภายนอก แต่เกิดจากการตัดโลภ โกรธ หลงที่มีอยู่ในใจ จึงขอให้เห็นความสำคัญของสติ ของสมาธิและปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะตัดโลภ โกรธ หลงให้หมดไปจากจิตจากใจ เมื่อโลภ โกรธ หลงหมดไปจากจิตจากใจแล้ว ไม่ต้องไปถามใครหรอกว่าความสุขอยู่ตรงไหน ความพออยู่ตรงไหน มันมีอยู่ในใจของเรานั่นแหละ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้