กัณฑ์ที่ ๘๒       ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔

ความเพียร

 

พระเจตนาของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา  มีอยู่เป้าหมายเดียวเท่านั้นคือ  ช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งหลายที่ยังอยู่ภายใต้ความมืดบอดของอวิชชา ความไม่รู้จริงในสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ได้มีแสงสว่างนำพาไปสู่ที่ดีที่งาม  ที่สุขที่เจริญ  ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่างในที่มืดแล้ว  การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏของสัตว์โลกทั้งหลายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากย่อมไม่มีที่สิ้นสุด  มีแต่ไปสู่ที่ไม่ดีคือทุคติ  แต่ถ้ามีแสงสว่างพาไปแล้ว  ย่อมเป็นไปด้วยความสุขความเจริญ ไปสู่ที่ดีคือสุคติ จนถึงที่สุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ได้พบพระพุทธศาสนา  ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเกิดศรัทธาความเชื่อและปฏิบัติตาม  คือ  . ไม่กระทำบาปทั้งปวง   . ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม  . ชำระจิตให้สะอาด  ความสกปรกของจิตคือ กิเลส เครื่องเศร้าหมอง  ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ซึ่งทางศาสนาเห็นว่าเป็นสิ่งที่สกปรก  เพราะสร้างความทุกข์ให้กับใจ  จึงต้องชำระให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ จนสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย  เป็นจิตที่มีแต่ความสุข  ไม่มีความทุกข์ เป็นบรมสุข ปรมังสุขัง

การปฏิบัติธรรมจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับธรรม ๒ ประการ  คือ . สติ การระลึกรู้  . วิริยะ ความพากเพียร  ต้องมีธรรม ๒.ประการนี้ เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ  ถ้าไม่มีวิริยะ ความพากเพียร  มีแต่ความเกียจคร้าน  ก็จะไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  ถ้าไม่มีสติก็จะไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  การมีสติคือต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้  สิ่งที่ต้องคอยเฝ้าดูก็คือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ  ต้องมีสติให้รู้อยู่ว่าขณะนี้กำลังคิดอะไรอยู่  กำลังทำอะไรอยู่ กำลังพูดอะไรอยู่  ถ้าเป็นสิ่งที่ดี ก็ทำไป พูดไปคิดไป   ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาป ตรงข้ามกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ก็ต้องละ  อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำ  ถ้าไม่มีสติจะไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังคิดดีหรือคิดไม่ดี  เมื่อคิดไม่ดีแล้ว ถ้าปล่อยออกไป ก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี  เพราะไม่มีสติ  ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ 

แต่ถ้ามีสติคอยเฝ้าดู กาย วาจา ใจ  จะรู้อยู่ทุกขณะเลยว่า  ขณะนี้กำลังคิดอะไรอยู่  กำลังจะพูดอะไร  กำลังจะทำอะไร  คิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร  จะรู้ทันที ถ้ามีสติก็จะทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  คือการกระทำทาง กาย วาจา  ใจ จะไม่ไปในทางบาปกรรมความชั่ว  แต่ไปในทางบุญกุศล ไปในทางที่ลดละ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง     ความพากเพียรในการปฏิบัติธรรมก็จะเป็นไปในทางที่ควรไป  คือไปแต่ทางที่ดี  ทางที่ไม่ดีก็ไม่ไป  ทางที่ไปสะสมความโลภ  ความโกรธ  ความหลงก็จะไม่ไป  ทางไหนถ้าไปแล้วตัดความโลภ    ความโกรธ  ความหลงก็จะไปทางนั้น  จะปฏิบัติด้วยวิริยะ ความพากเพียร  อุตสาหะ 

จะเพียรอยู่ใน ๔ ลักษณะ  คือ . เพียรชำระบาปที่มีอยู่ให้หมดไป เหมือนกับเวลามีเสื้อผ้าสกปรก ก็เอาไปซักเสีย  ไม่เอามาใส่เพราะไม่มีใครอยากจะใส่เสื้อผ้าที่สกปรก มีกลิ่นเหม็น ฉันใด  บาป ความชั่ว การกระทำที่ไม่ดี  การกระทำที่นำมาซึ่งความทุกข์  ความเดือดร้อน  ก็จะไม่ทำ  ต้องละเสีย   . เพียรป้องกันไม่ให้บาปที่ได้ชำระแล้ว  หวลกลับคืนมาอีก  ถ้าเป็นเสื้อผ้า  ก็เป็นเสื้อผ้าที่ได้ซักสะอาดแล้ว  ก็ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้เปรอะเปื้อน ไม่ให้สกปรกอีก . เพียรสร้างความดีที่ยังไม่มีในตนให้เกิดขึ้น  ถ้าไม่เคยทำบุญทำทาน  ก็พยายามทำ ไม่เคยรักษาศีล  ก็พยายามรักษา   ไม่เคยไหว้พระสวดมนต์  นั่งทำสมาธิ  เจริญวิปัสสนา ก็พยายามทำเสีย  เหมือนกับเวลาไม่มีเงินทองต้องขยันหา  เพราะรู้ว่าเงินทองเป็นของมีค่า  มีคุณ  มีประโยชน์  เหมือนกับความดี  เพียงแต่ความดีนี้ จะดีกว่าเงินทอง  เพราะความดีให้ความสุขกับจิตใจได้อย่างแท้จริง ส่วนเงินทองบางครั้งก็ให้ความสุข  บางครั้งก็ให้ความทุกข์  มักจะมาด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง  ให้ความสุขด้วย  ให้ความทุกข์ด้วย  เวลาได้เงินทองมาก็ดีใจ เวลาเงินทองหมดก็ทุกข์ใจ ส่วนความดีจะให้แต่ความสุขโดยถ่ายเดียว และจะไม่หมดไปง่ายๆ  เพราะไม่มีใครจะขโมยไปได้  จะลืมทิ้งไว้ที่ไหนก็ไม่ได้เพราะอยู่กับใจ

คุณงามความดีจึงมีคุณค่ามากกว่าเงินทอง  ควรแสวงหาความดียิ่งกว่าแสวงหาเงินหาทอง  เพราะความดีนอกจากให้ความสุขใจแล้ว  ยังดับความทุกข์ใจด้วย  เงินทองดับความทุกข์ใจไม่ได้  คนมีเงินทองเป็นร้อยล้านพันล้านยังวุ่นวายใจเลย  กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีความกังวล ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตน  ส่วนคนที่มีความดีอยู่ในจิตใจแล้วจะไม่วุ่นวายใจ  จะไม่ทุกข์ใจ  เพราะความดีทำให้รู้จักปลง  ให้รู้จักวาง  ให้รู้จักสภาพความเป็นจริงของโลกว่าเป็นอย่างไร  เมื่อรู้ความเป็นจริงของโลกแล้ว  จะไม่ฝืน  ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น  อะไรจะมาก็มา อะไรจะไปก็ไป  อะไรจะเกิดก็เกิด  อะไรจะไม่เกิดก็ไม่เกิด  ใจจะไม่ฝืนความจริง  ถ้าไม่มีความอยากที่สวนทางกับความจริงแล้ว  ความทุกข์ก็จะไม่มี  เช่นถ้าตอนนี้อยากจะรวยมากขึ้น  ความทุกข์ก็เกิดขึ้นแล้ว  แต่ถ้าเราไม่อยากรวยกว่าที่เป็นอยู่  พอใจกับที่มีอยู่ในขณะนี้  มีเท่าไหร่ ก็พอใจเท่านั้น ความทุกข์ก็จะไม่มี

ถ้ายังไม่ได้ทำความดีก็ขอให้เริ่มทำเสียแต่บัดนี้  ด้วยการทำบุญให้ทาน  ไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ เจริญปัญญาวิปัสสนา  ให้เห็นตามสภาพความจริงของโลก คือสภาวธรรมทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าหลงไปยึดไปติด   เป็นของไม่มีตัวตน  ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นลักษณะของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้   เช่น ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุข ทั้งหลาย ถ้าไม่ไปยึดไปติดก็จะไม่ทุกข์  มีก็ใช้ไป ไม่มีก็ไม่ต้องเดือดร้อน  ถ้าพอมีพอกิน ก็มีความสุขแล้ว  ถึงแม้จะมีสมบัติเงินทองมากมายกองเต็มศาลานี้ ก็จะไม่ทำให้มีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มีสมบัติ  เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่กองสมบัติ   แต่อยู่ที่ใจ  อยู่ที่ใจฉลาดหรือโง่  ถ้าใจฉลาดก็ปล่อย  ไม่ปรารถนา  ไม่อยากจะได้อะไรของภายนอก  เอาของภายในเท่านั้น  คือเอาธรรมเข้ามาชำระความอยากทั้งหลายให้หมดไป  ชำระความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ให้หมดไป เพียงเท่านั้นใจก็มีความสุขแล้ว  มีความสุขมากกว่าคนที่มีเงินทองกองเท่าภูเขาเสียอีก  อันนี้รับรองได้  เป็นความจริง ขอให้ทดลองทำดูเถิด แล้วจะรู้กัน  แต่ถ้าไม่ลอง ก็จะไม่รู้

. เพียรรักษาความดีที่มีอยู่ไม่ให้สูญหายไป  เช่นถ้ามีเงินมีทอง  มีข้าวมีของ ก็ต้องดูแลรักษาไม่ให้สูญหายไป  หมดไป  ไม่เช่นนั้นแล้ว  สมบัติเงินทองที่หามาได้ด้วยความยากเย็นก็จะหมดไปฉันใด ความดีก็เช่นกัน  เมื่อมีความดีจึงต้องรักษา เคยทำบุญทำทาน  ก็ต้องพยายามทำบุญทำทานต่อไป  เคยไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ  ปฏิบัติวิปัสสนา ก็ต้องเพียรทำต่อไป  ทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง  รักษาความดีเหล่านี้ไปเรื่อยๆ  เพราะมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินทอง   ยิ่งกว่าเพชรนิลจินดาทั้งหลายในโลกนี้

ก่อนหน้านี้ไม่ได้ขยายความเกี่ยวกับบาปหรือความชั่วว่าเป็นอย่างไร บาปหรือความชั่ว ก็คือการกระทำ ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ที่เป็นโทษกับตนก็ดี กับผู้อื่นก็ดี หรือทั้งกับตนและกับผู้อื่น  เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดประเวณี  การพูดปดมดเท็จ  เป็นการกระทำที่ไม่ดี  ทำไปแล้วเกิดโทษทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น  ไม่ควรทำ  ทำไปแล้วในปัจจุบันจะมีความทุกข์ใจ  เวลาไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นแล้ว  จะไม่สบายใจ  เมื่อตายไปก็ต้องไปเกิดในอบาย  ต้องไปสู่ภูมิใดภูมิหนึ่งของอบายทั้ง ๔ คือ เปรต อสุรกาย  เดรัจฉาน นรก เป็นที่เกิดของผู้ที่ทำแต่บาปแต่กรรม 

นอกจากบาปกรรมแล้ว ยังต้องพยายามละเว้นจากอบายมุขทั้งหลาย  เพราะอบายมุขเป็นเหมือนเพื่อนของบาป  ถ้าไปยุ่งกับอบายมุขแล้ว  ขั้นต่อไปก็จะไปทำบาป  เพราะอบายมุขคือประตูหรือทวารสู่อบายนั่นเอง  ได้แก่  . เสพสุรายาเมา   . เที่ยวกลางคืน  . เล่นการพนัน  . คบคนชั่วเป็นมิตร  . เกียจคร้านการงาน ถ้ามีอยู่ในตัวเราแล้ว  ไม่รีบชำระออกไปเสีย  ก็จะบ่อนทำลายชีวิตลงไปเรื่อยๆ จากความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเปรต  เป็นอสุรกาย  เป็นเดรัจฉาน  และเป็นสัตว์นรกในที่สุด  ถ้าไม่เชื่อก็ลองพิจารณาดูคนที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ว่าเป็นอย่างไร  คนที่กินเหล้าเมายา  เล่นการพนัน  เที่ยวกลางคืน  คบคนชั่วเป็นมิตร  เกียจคร้านการงาน มีความสุขความเจริญที่ไหน  มีแต่เรื่องวุ่นวายตลอดเวลา  ไม่ติดคุกติดตะรางก็ต้องถูกประหารชีวิต  หรือตายไปก่อนวัยที่สมควร เมื่อยุ่งเกี่ยวกับพวกอบายมุขแล้ว  ต่อไปก็จะต้องไปทำผิดศีลผิดธรรม  เช่นคนที่เล่นการพนัน เมื่อขาดทุนก็ต้องไปหาเงินมาเล่นอีก  ถ้าหามาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็ต้องหามาด้วยความทุจริต คนกินเหล้าเมายา คนเที่ยวกลางคืน คนคบคนชั่วเป็นมิตร คนเกียจคร้านก็เหมือนกัน  คนพวกนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องหารายได้ด้วยวิธีทุจริต คือ คดโกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ลักทรัพย์ ปล้นจี้ เป็นต้น  เมื่อทำไปแล้วก็ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะราง 

อบายคือภพภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ มีแต่ความเสื่อม  มีแต่ความทุกข์  ไม่มีความเจริญ  ไม่มีความรุ่งเรือง  ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ต้องเป็นสุคติ  ที่อยู่ของมนุษย์  ของเทวดา  ของพรหม  ของพระอริยบุคคลทั้งหลาย  ผู้ที่จะไปสุคติได้ ต้องทำแต่ความดี  รักษาความดี  ไม่กระทำบาปทั้งหลาย  คือต้องทำบุญให้ทาน  รักษาศีล  และปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา  เป็นทางที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปดีแล้ว เป็นสุคโต  ไปถึงที่ดีแล้ว ไปถึงพระนิพพานแล้ว ไม่มีความทุกข์  มีแต่ความสุขที่เป็น ปรมังสุขัง   บรมสุข เมื่อท่านถึงที่นั้น  แล้วท่านจึงสั่งสอนผู้ที่ปรารถนาความสุขความเจริญ  ให้ได้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะผู้ที่อยู่ในโลกนี้ เปรียบเหมือนคนหลงทาง ถ้าเดินทางไปโดยลำพังไม่มีใครชี้ทางให้  ย่อมไม่สามารถเดินไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตนปรารถนาได้  แต่ถ้ามีคนที่รู้จักทางนำพาไป  ก็จะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างแน่นอน 

พระพุทธเจ้าจึงเป็นเหมือนกับคนนำทาง  พวกเราเป็นเหมือนคนหลงทาง  จึงต้องมีศรัทธา เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  เมื่อเชื่อแล้ว  ก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ ด้วยวิริยะ  ความพากเพียรอุตสาหะ  ด้วยสติ    เราต้องรู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ ดีหรือชั่ว  ผิดหรือถูก  ถ้าไม่ดีก็ต้องละ  เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละสิ่งที่ไม่ดี  สิ่งที่ดีก็ทรงสอนให้ทำ  ให้ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  ความโลภอย่าไปเสริม  ความโกรธอย่าไปเสริม  ความหลงอย่าไปเสริม  พยายามตัดความโลภ  ตัดความโกรธ  ตัดความหลง   

ความโลภตัดได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือต้องบอกว่าพอ  พอแล้ว มีเท่านี้ก็พอแล้ว  ตายไปก็เอาไปไม่ได้  เวลาตายไปสมบัติที่มีอยู่ ก็ไม่ได้เอาใส่โลงไปด้วย  มาตัวเปล่าๆ  พอถึงเวลาไป ก็ไปตัวเปล่าๆ  สิ่งที่เอาไปได้คือคุณงามความดี  หรือบาปกรรมที่ทำไว้  คุณงามความดีมีมากก็ไปสู่สุคติ  ถ้ามีแต่บาปกรรมก็ไปสู่อบาย จึงต้องตัดความโลภในลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุข  พอมีพอกิน  พออยู่ไปวันๆหนึ่งก็พอแล้ว ส่วนความโกรธก็ให้ตัดด้วยความเมตตา  คือเวลาใครสร้างความโกรธให้กับเรา ก็ให้อภัยเขาเสีย  คิดเสียว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว  เราย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว  ใครเขาพูดอะไร เราจะย้อนกลับไปลบทิ้งไม่ได้แล้ว  สิ่งที่ทำไปแล้วไปลบออกไม่ได้  แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการทำใจ  อย่าไปถือสา  ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าไปถือสา ก็จะมีปัญหาขึ้นมา จะเกิดความโกรธขึ้นมา  ความโกรธไม่ดี  เพราะเวลาโกรธแล้วใจจะร้อน  คนที่ถูกเราโกรธ เขาไม่ได้ร้อนกับเรา  เขาไม่ได้ทุกข์กับเรา  เขาไม่ได้เจ็บกับเรา  เราต่างหากที่เจ็บ  ที่ร้อน  ที่ทุกข์  เพราะความโกรธ  เหมือนกับเอาค้อนมาทุบศีรษะเรา  แล้วทำไมจะต้องเอาค้อนมาทุบศีรษะด้วย  ทุกครั้งที่ได้ยิน  หรือเห็นสิ่งที่ไม่ชอบ  ทำไมจึงต้องเอาค้อนมาทุบศีรษะเรา  ความโกรธก็เป็นแบบนั้น  เวลาเห็นสิ่งต่างๆที่ไม่ชอบ หรือได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ แล้วโกรธขึ้นมา  ก็เท่ากับเอาค้อนมาทุบศีรษะเรา  แต่ถ้ามีสติเราจะรู้ว่าไม่ดี  เป็นความผิด  เราต่างหากที่เป็นผู้ผิด  คนที่เขาทำให้เราโกรธไม่ใช่เป็นผู้ผิด    ผู้ผิดคือตัวเรา  ที่ไปโกรธ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าคนที่ทำให้เราโกรธผิดน้อยกว่าคนที่โกรธ   เพราะเมื่อโกรธแล้วจะร้อนเหมือนถูกไฟสุม  มันทุกข์  มันไม่สบายใจ ความโกรธระงับได้ด้วยการไม่ถือสา ปล่อยวาง ไม่แยแส ไม่สนใจ  ไม่เดือดร้อน  เวลาออกไปข้างนอกถ้าเกิดฝนตกขึ้นมา  ทำให้เสื้อเปียกปอน  เราจะไม่โกรธฝน แต่ถ้าเดินไป เกิดใครสาดน้ำออกมาจากบ้านมาถูกตัวเราเข้า ทำให้เราเปียกปอน  เราจะโกรธคนนั้นขึ้นมาทันที  แต่ทำไมเวลาฝนตกทำให้เราเปียกปอน ทำไมเราจึงไม่โกรธฝน  เสื้อผ้าเราก็เปียกเหมือนกัน  ทำไมเราจึงไปโกรธคน แต่ไม่โกรธฟ้าโกรธฝน  เป็นเพราะเราโง่ เราไม่ฉลาดนั่นเอง  ถ้าฉลาดแล้ว  ต้องเห็นว่าเหมือนกัน คนก็เป็นสภาวธรรม คือ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ฝนที่ตกลงมาก็เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน คือ น้ำ  ลม เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ห้ามเขาไม่ได้  แต่เพราะความโง่ จึงไปแยกแยะว่า  อันนี้เป็นคน  อันนี้ไม่ใช่คน  ถ้าไม่ใช่คนก็โกรธไม่ได้  ถ้าคนก็โกรธได้  แล้วผลเป็นอย่างไร  เราเองนั่นแหละเป็นคนที่เจ็บ ที่ทุกข์ 

แต่ถ้ามองทุกสิ่งทุกอย่างเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ  เหมือนกันหมด  ไม่ว่าคนสัตว์หรือต้นไม้หรืออะไรก็ตาม ก็มาจากธาตุ ๔ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ เหมือนกัน  ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะไม่โกรธ  ความโกรธเกิดจากความหลง ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอะไร  เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมเหมือนกันหมด  ไม่ว่าสัตว์  บุคคล  ต้นไม้ ภูเขา  เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น  เป็นไตรลักษณ์  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาทั้งนั้น เมื่อรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติด ไม่ยุ่งกับเขา  ไม่ไปเจ้ากี้เจ้าการ ไปจู้จี้จุกจิกกับเขา  ไม่ไปอยากให้เขาต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้  เราก็จะไม่เดือดร้อนใจ  แต่ถ้ายังไปจู้จี้จุกจิก  ยังไปอยากอยู่  เราก็จะทุกข์ไปจนวันตาย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้