กัณฑ์ที่ ๘๓ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๔
สังฆทาน
ทุกๆครั้งที่มีการถวายสังฆทาน พระสงฆ์จะต้องทำพิธีอุปโลกน์สังฆทาน เพราะว่าสังฆทานเป็นทานที่ญาติโยมมีเจตนาถวายให้กับส่วนรวม
คือให้กับพระสงฆ์ทุกๆรูปที่อยู่ในอาวาสนี้
และรวมไปถึงพระสงฆ์ทั้งหมดในบวรพระพุทธศาสนา
ก่อนที่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดจะนำสิ่งของที่ถวายเป็นสังฆทานไปใช้
จึงต้องมีการรับฉันทานุมัติ
คือสงฆ์จะต้องรับทราบเสียก่อนว่าได้มีสังฆทานเกิดขึ้นแล้ว
และอนุญาตให้นำเอาไปแจกจ่ายแบ่งปันกันได้
ถึงจะสามารถเอาไปใช้ได้
ถ้าสงฆ์ยังไม่ได้อุปโลกน์
ยังไม่ได้อนุญาตให้เอาสังฆทานไปใช้
หากมีผู้หนึ่งผู้ใดไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์
เอาสิ่งของเหล่านี้ไป
จะมีโทษ เป็นบาป
เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
ทำไปแล้วจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย
แต่ถ้าสงฆ์ได้ทำการอุปโลกน์แล้ว
ดังที่ได้กระทำไปเมื่อสักครู่นี้
ก็สามารถเอาไปจำหน่ายจ่ายแจกได้
โดยในเบื้องต้นจะให้พระเถรานุเถระ
ผู้มีอาวุโสเป็นผู้พิจารณาก่อน
แล้วจึงเลื่อนส่งไปตามลำดับอาวุโสภันเต
จนถึงพระภิกษุหรือสามเณรองค์สุดท้าย
ที่เหลือถ้าจะเอาไปแจกจ่ายให้กับลูกศิษย์ลูกหาฆราวาสญาติโยมก็สามารถที่จะกระทำได้
ถ้าทำอย่างนี้แล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงว่า
จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญรุ่งเรืองของพระ
ฆราวาส และของพระศาสนา
การถวายสังฆทานพระพุทธองค์จึงทรงยกย่องว่าเป็นทานอันเลิศ
ระหว่างสังฆทานกับบุคลิกทาน
คือทานที่ถวายจำเพาะเจาะจงให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด
เมื่อเปรียบเทียบกับสังฆทาน
คือทานที่ถวายให้กับส่วนรวมแล้ว
ทานที่ถวายให้ส่วนรวมจะมีอานิสงส์
มีบุญ มีประโยชน์มากกว่า
เหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้
ก็เพราะการถวายสังฆทาน
ดังที่ญาติโยมได้มาถวายกัน
สิ่งที่ใช้ถวายเป็นสังฆทานก็มีหลายชนิดด้วยกัน
เช่น ปัจจัย ๔ คือ
อาหารบิณฑบาต
จีวร ยารักษาโรค
กุฏิที่อยู่อาศัย
รวมไปถึงโบสถ์ วิหาร เจดีย์
วัดวาอาราม สิ่งเหล่านี้จะถวายเป็นสังฆทาน
ไม่ได้ถวายให้เป็นสมบัติของพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่ถวายไว้ให้เป็นสมบัติของพระศาสนา
ผู้ที่เข้ามาอาศัยร่มโพธิ์ร่มไทรของพระพุทธศาสนา
มีสิทธิ์ที่จะใช้ศาสนสมบัติเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ได้ทุกๆคน
การถวายสังฆทานจึงเป็นการช่วยสืบทอดพระศาสนา เพราะว่าศาสนาจะมีการสืบทอดต่อไปได้ต้องมีพระภิกษุสงฆ์ศึกษา
ปฏิบัติ
และเผยแผ่พระธรรมคำสอน
จึงต้องมีการบวชพระ
เวลาจะบวชพระต้องมีพระอย่างน้อย
๑๐
รูปขึ้นไปถึงจะทำพิธีอุปสมบทได้
ถ้าอยู่ในที่กันดารห่างไกลจากสังคม
หาพระยาก
ก็อนุโลมให้มีพระภิกษุ ๕ รูป
ทำพิธีบวชได้
นี่คือเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องการถวายสังฆทานว่าเป็นทานที่มีอานิสงส์
มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง
ชาวพุทธจึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
ถวายสังฆทานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้
การถวายทานเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง
เป็นการสร้างความสุขให้กับตน
เป็นการชำระจิตใจ
ใจของปุถุชนยังมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำอยู่
ถ้าไม่ชำระกิเลสเครื่องเศร้าหมองให้ออกไปจากใจแล้ว
จะหาความสุขไม่ได้
ถึงแม้จะมีสมบัติเงินทองมากมายกองเท่าภูเขา
มีตำแหน่งฐานะที่สูงส่งขนาดไหนก็ตาม
แต่ถ้าใจยังถูกครอบงำด้วยกิเลส
คือความโลภ ความโกรธ
ความหลง ความเห็นแก่ตัว
ความตระหนี่แล้ว
จะหาความสุขไม่ได้
การทำบุญให้ทานเป็นการชำระจิตใจได้ระดับหนึ่ง
ช่วยซักฟอกความเห็นแก่ตัว
ความตระหนี่ ความโลภ
ให้ออกไปจากจิตจากใจ
บุคคลใดถ้ามีความตระหนี่
มีความโลภ มีความเห็นแก่ตัวแล้ว
จะไม่ค่อยมีความสุขใจเท่าไร
เพราะใจจะมีแต่ความเครียด
มีแต่ความหวง ความห่วง
แต่ถ้าได้มีการให้ทานแล้ว
จะคลายความเครียดออกไปได้
จะมีความรู้สึกสบาย
มีความรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์
ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น
เมื่อทำให้คนอื่นมีความสุข
ตัวเองก็มีความสุขตามไปด้วย
การให้ทานเป็นเพียงขั้นหนึ่งของการทำบุญ
ซึ่งมีอยู่ถึง ๔
ขั้นด้วยกัน ถ้าปรารถนาความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ
เป็นความสุขที่สูงสุดแล้ว
ก็ต้องทำบุญทั้ง ๔ ขั้น
เริ่มด้วยทาน ต่อด้วยศีล
สมาธิ ปัญญา
จึงจะไปถึงจุดที่สูงสุดของบุญ
คือพระนิพพาน
ความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ
เปรียบเหมือนกับการเดินทาง
เวลาขึ้นรถเมล์ก็ต้องตีตั๋ว
ถ้าไประยะใกล้ก็ตีตั๋วใบหนึ่ง
ถ้าไประยะไกลกว่านั้นก็ต้องตีตั๋วอีกใบหนึ่ง เช่นจากสัตหีบไปพัทยาก็ตีตั๋วใบหนึ่ง ถ้าจะไปถึงศรีราชาก็ต้องตีตั๋วอีกใบหนึ่ง
ไปชลบุรีก็ต้องตีตั๋วอีกใบหนึ่ง
และถ้าจะไปให้ถึงกรุงเทพฯก็ต้องตีตั๋วอีกใบหนึ่ง รวมทั้งหมดจะต้องมีตั๋ว
๔ ใบด้วยกัน
การชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
เป็นจิตที่บริสุทธิ์
เป็นจิตที่ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
จึงต้องมีการปฏิบัติธรรม ๔
ขั้นด้วยกัน คือ ทาน
ศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นเครื่องมือตัดความโลภ
ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
ในธรรมทั้ง ๔ ระดับนี้
มีปัญญาหรือวิปัสสนาเท่านั้น
ที่จะทำลายตัดกิเลสให้สิ้นซากไปได้
ธรรมขั้นอื่นๆไม่สามารถทำได้
เป็นเพียงแต่ทำให้กิเลสอ่อนกำลังลง
หรือสงบตัวลงเท่านั้นเอง
แต่จะไม่สามารถทำให้กิเลสสิ้นซากไปได้
ตราบใดยังมีกิเลสอยู่ในใจ
ตราบนั้นใจยังจะถูกกิเลสผลักดันให้ไปเกิดตามภพต่างๆไม่มีที่สิ้นสุด
อานิสงส์ของการให้ทาน
ในปัจจุบันจะทำให้ผู้ให้ทานมีความสุขใจ
เมื่อไปเกิดภพหน้าชาติหน้า
ก็ย่อมไปเกิดที่ดี
เกิดบนกองเงินกองทอง
มีโภคทรัพย์ มีปัจจัย ๔
พร้อมบริบูรณ์
ไม่อดอยากขาดแคลน
มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณที่สวยงาม แต่การให้ทานไม่ได้เป็นเหตุให้ไปเกิดในสุคติหรือทุคติ
การจะไปสู่สุคติได้ จะต้องมีศีลเป็นเหตุ
ถึงจะไปเกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทวดา เป็นพรหมได้
ถ้าให้ทานอย่างเดียวแต่ไม่รักษาศีล
โอกาสที่จะไปเกิดเป็นเดรัจฉานหรือไปสู่อบาย
ไปสู่นรกก็ยังมีอยู่
เพราะเหตุปัจจัยที่จะนำจิตไปสู่อบาย
ก็คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
การลักทรัพย์
การประพฤติผิดประเวณี
การพูดปดมดเท็จ
ถ้าให้ทานอย่างเดียวโดยไม่รักษาศีลแล้ว โอกาสไปเกิดเป็นเดรัจฉานก็ยังมีอยู่
เช่นอาจจะไปเกิดเป็นสุนัข
หรือเป็นแมว หรือเป็นนกก็ได้
แต่ในฐานะที่ได้ทำบุญให้ทานมาก็จะไปเกิดเป็นสุนัข
เป็นแมว
หรือเป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
เป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น
ก็จะได้อยู่ดีกินดี
เพราะมีคนเอาไปเลี้ยงดูอย่างดี
อย่างมนุษย์เรานี้ชอบไปซื้อสุนัขราคาแพงๆมาเลี้ยงกัน
เพราะชอบรูปร่างหน้าตาของสุนัขเหล่านั้น
ก็เอามาเลี้ยงดูอย่างดี
การที่ได้มาเกิดเป็นสุนัขที่มีรูปร่างสวยงามก็เป็นเพราะว่า
ในอดีตชาติเคยได้ทำบุญทำทานมานั่นเอง
แต่ไม่ได้รักษาศีล
คือเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
พูดปดมดเท็จมาก่อน
จึงทำให้กลับมาเกิดเป็นเดรัจฉาน
ถ้าอยากจะเกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทวดา
ก็ต้องรักษาศีลควบคู่กับการให้ทาน
เพราะศีลกับทานจะเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยให้ได้เกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทวดา มีอายุยืนยาวนาน
มีอาการ ๓๒ ครบบริบูรณ์
ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
ส่วนผู้ที่ความปรารถนาภูมิธรรมที่สูงขึ้นไปกว่านี้
คือสวรรค์ชั้นพรหม
ได้แก่รูปภพและอรูปภพ
ก็จะต้องปฏิบัติสมาธิ
ทำจิตให้สงบนิ่ง เข้าฌาณ
ทั้งรูปฌาณและอรูปฌาณ
ถึงจะได้ไปเกิดในรูปภพและอรูปภพ
ถ้าสำเร็จรูปฌาณ
ก็ได้ไปเป็นรูปพรหม
และถ้าสำเร็จอรูปฌาณก็จะได้เป็นอรูปพรหม
นี้จะต้องมีการทำบุญให้ทาน
รักษาศีล
ควบคู่กับการนั่งสมาธิถึงจะไปเกิดเป็นพรหมได้
แต่อานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน
รักษาศีล และเจริญสมาธิ
ยังไม่สามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้
ก็มีการบำเพ็ญธรรมทั้ง ๓
ระดับนี้ คือมีการทำบุญให้ทาน
มีการรักษาศีล
และมีการเจริญสมาธิทำจิตให้สงบ
อานิสงส์สูงสุดของธรรมทั้ง
๓ นี้ก็คืออรูปภพ ซึ่งยังอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์อยู่
คือ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา
เมื่อหมดอานิสงส์ของบุญนี้แล้ว
จิตก็จะเสื่อมลง
เพราะว่าบุญนี้เปรียบเหมือนยาสลบที่ทำให้กิเลสสงบตัวลง
แต่ฤทธิ์ของยามีอายุขัย
เมื่อหมดยาสลบหมดฤทธิ์แล้วคนไข้ก็จะฟื้นขึ้นมา กิเลสที่ถูกฉีดด้วยยาสลบ
คือ ทาน ศีล สมาธิ
ก็จะฟื้นขึ้นมา
เมื่อกำลังของทาน ศีล
สมาธิหมดไป
เมื่อฟื้นขึ้นมากิเลสก็จะทำให้จิตหยาบขึ้น
จากชั้นพรหมก็จะเลื่อนลงสู่ชั้นเทพ
จากชั้นเทพก็จะเลื่อนลงสู่ชั้นมนุษย์
ตามลำดับ
เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
แทนที่จะทำบุญทำทานรักษาศีลปฏิบัติธรรมต่อไป
กลับตั้งอยู่ในความประมาท
หลงกับฐานะของตนเอง
คิดว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีเหตุปัจจัยมาจากอดีต
ทำอะไรต่อไปก็ไม่มีผลที่จะตามมาในอนาคต
ก็เลยไม่สนใจเรื่องการทำบุญให้ทาน
รักษาศีล นั่งสมาธิ
เจริญวิปัสสนา
ใช้ชีวิตไปอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก
ผิดศีล ผิดธรรม
ถือว่าตนเองมีเงินมีทอง
มีฐานะที่ดี ร่ำรวย
ถ้าทำเช่นนี้แล้วเมื่อตายไปก็ต้องไปสู่เบื้องต่ำต่อไป คือจะต้องไปสู่อบายไปสู่ภพใดภพหนึ่งเช่น
เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน นรก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ที่ไม่ทำบุญทำทาน
รักษาศีล นั่งสมาธิ
เจริญวิปัสสนา
คนที่ฉลาดจะรู้ว่า
ภพของมนุษย์เป็นเหมือนกับสถานีเติมน้ำมัน
เวลาเดินทางต้องคอยสังเกตดูเกย์วัดน้ำมันเสมอ
ว่าน้ำมันเหลือมากน้อยแค่ไหน
ถ้ามีเหลือน้อย
เมื่อถึงสถานีบริการต้องรีบแวะเข้าไปเติมน้ำมัน
เติมน้ำ เช็คสภาพรถยนต์ให้พร้อม
เพื่อรถยนต์จะได้เดินทางต่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้ามัวแต่ประมาทบอกว่าไม่เป็นไรขับไปเรื่อยๆ
ข้างหน้าคงจะมีปั๊ม
ทีนี้บางทีน้ำมันอาจจะหมดก่อนที่รถจะถึงปั๊ม ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็ต้องเดิน
เดินกับนั่งรถ
อย่างไหนจะสะดวกจะสบายกว่ากัน ฉันใดการที่ได้มาเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เช่นกัน
อย่าประมาท
อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง
อย่าบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวค่อยทำบุญทีหลังก็ได้
ไว้รอให้แก่ก่อน
ให้ใกล้ๆตายก่อนแล้วค่อยทำ
คนเราไม่แน่นอนว่าจะตายเมื่อไร
ไม่ตายตอนแก่ด้วยกันทุกคนเสมอไป
คนบางคนอายุไม่กี่เดือนไม่กี่วันก็ตายกันก็มี
ไม่กี่ปีตายไปก็มี
ดังนั้นจงอย่าประมาท
เมื่อมีโอกาสเมื่อเจอปั๊มน้ำมันแล้ว
ให้รีบแวะเข้าไปเติมเสียให้เต็มถังไว้ก่อน
แล้วจะได้ไม่ต้องมาคอยกังวล
ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ถ้าต้องการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ก็ต้องปฏิบัติธรรมขั้นที่
๔ คือวิปัสสนา เจริญปัญญา
ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าล้วนๆ
ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วจะไม่มีใครรู้จักวิปัสสนา
วิปัสสนาเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง
ไม่มีใครรู้และสอนวิปัสสนามาก่อน
วิปัสสนาเป็นธรรมที่สามารถตัดกิเลสที่เป็นเครื่องผูกจิตให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในไตรภพ
คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
อันเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของผู้ที่ยังไม่ได้เจริญวิปัสสนา
ผู้ที่มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนาหรือได้พบกับพระพุทธเจ้า
จะได้รับการอบรมให้ตัดกิเลส
คือโลภ โกรธ หลง ตัดตัณหา
คือกามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากในกาม
ความอยากมีอยากเป็น
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
ให้ออกไปจากจิตจากใจด้วยวิปัสสนา
วิปัสสนาคือความรู้ตามสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์
คืออนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
เป็นของไม่เที่ยง
ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์
เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน
ปราศจากตัวตน
ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
อะไรคือสภาวธรรม
รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ก็เป็นสภาวธรรม ตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นสภาวธรรม
ลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุข ก็เป็นสภาวธรรม
รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรียกว่าขันธ์
๕ ก็เป็นสภาวธรรม
สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น
เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด
ไม่มีตัวไม่มีตน
เชื่อไหมว่าร่างกายของพวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็ไม่ใช่ตัวตน
ไม่มีตัวตน เพียงแต่ว่ามีจิตมาครอบครอง
มายึดถือ มาติดอยู่
เพราะความหลง
ก็เลยคิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเป็นตน
แท้จริงแล้วร่างกายนี้ก็มาจากธาตุ
๔ ดิน น้ำ
ลม ไฟ มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกายแล้ว
อาหารก็ไปแปรสภาพไป กลายเป็นอาการ
๓๒ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก
และอวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆที่มีอยู่ในร่างกาย
อาการ ๓๒
นี้จะเกิดขึ้นมาได้จำต้องมีอาหารหล่อเลี้ยง
ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็อาศัยอาหารที่มารดารับประทานเข้าไป
หล่อเลี้ยงทารกที่ยังอยู่ในครรภ์
เมื่อเจริญเติบโตพอที่จะคลอดออกมาได้แล้วก็คลอดออกมา
แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มประทานอาหารเอง
อาหารนี้ก็ไม่ได้มาจากไหน
ก็มาจากธาตุ ๔ นี้เอง
มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ
ข้าวก็ต้องอาศัยดิน
อาศัยน้ำ อาศัยแดด อาศัยอากาศ
ถึงจะมีข้าวขึ้นมาได้
ผักปลา
อาหารอย่างอื่นทั้งหลายก็เช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วร่างกายจะไม่เป็นธาตุ
๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างไร
ต้องเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม
ไฟ
เมื่อร่างกายเจริญเต็มที่แล้วก็จะต้องเสื่อม
มีการเจ็บไข้ได้ป่วย
แล้วในที่สุดก็ต้องตายไป
เมื่อตายไปแล้ว
ถ้าทิ้งไว้ก็จะเน่าเปื่อยผุพังกลับคืนสู่ธาตุ
๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันนี้เห็นได้ชัด ถ้าพิจารณา
จะเห็นได้เลยว่า
ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ถ้าสามารถพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง
ไม่ใช่ตัวใช่ตนแล้ว ก็จะไม่กล้าไปยึดไปติดกับเขา
เพราะว่าเวลาไปยึดไปติดกับเขา
จะทุกข์มาก
ทุกข์เพราะความกังวล
เพราะรู้ว่าร่างกายเป็นของไม่เที่ยง
ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
เมื่อมีความหลงเข้ามาครอบงำใจ
ก็ไปคิดว่าร่างกายเป็นใจ
เป็นตัวตนขึ้นมา
ถ้าร่างกายตายไป ใจจะตายไปด้วย
ใจก็เลยเกิดความวิตก
เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ทั้งๆที่ใจเป็นของไม่ตาย
ใจกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน
ไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน
เพียงแต่มาประชุมอยู่ที่เดียวกัน
มีใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
กายเป็นเพียงเครื่องมือของใจเท่านั้นเอง
กายไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น
เวลาไม่มีใจครอบครองร่างกาย
ร่างกายก็เป็นเหมือนท่อนไม้
ท่อนฟืน
ไม่เชื่อลองไปดูคนที่ตายดูสิ
ลองไปคุยกับเขาดูสิ ลองไปจับมือไปทักทายเขาดู
ดูว่าเขาจะทักทายเราหรือเปล่า
เขาทักทายเราไม่ได้
เพราะเหลือแต่ร่างกาย
ตัวรู้คือใจไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว
ใจไปแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย
สุดแท้แต่บุญแต่กรรมจะส่งไป
ร่างกายเมื่อไม่มีใจแล้ว
ก็เป็นเหมือนกับท่อนไม้ท่อนฟืนท่อนหนึ่งเท่านั้นเอง จะไปทำอะไรกับท่อนไม้ท่อนฟืน
ก็จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้
ร่างกายก็เช่นกัน เมื่อปราศจากใจผู้ครอบครองแล้ว
ร่างกายก็จะนิ่งเฉย
จะเอาไปเผา จะเอาไปผ่า
จะเอาไปตัด เอาไปทำอย่างไร
ก็ไม่มีการทักท้วง
ไม่มีการขัดขืน
แต่ถ้ายังมีใจครอบครองอยู่
ลองใครไปแตะดูซิ
นิดเดียวก็จะร้องโวยวายขึ้นมา
ที่ร้องโวยวายไม่ใช่ร่างกายร้อง
แต่ใจต่างหาก
ใจนี่แหละเป็นผู้ครอบครองร่างกาย
แต่เพราะว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เลยไปหลงติดอยู่กับร่างกาย
แล้วก็ทุกข์กับร่างกาย
ทุกข์กับความแก่
ทุกข์กับความเจ็บ
ทุกข์กับความตาย
ทุกข์กับการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง
แต่ถ้าได้เจริญวิปัสสนา
คือพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาแล้ว
ถ้าเห็นอย่างเต็มที่แล้ว
ใจจะไม่กล้าไปยึดไปติด
เหมือนกับการจับงู
แต่คิดว่าเป็นปลาไหล
เพราะแยกงูกับปลาไหลไม่ออก
เคยได้ยินคำว่างูๆปลาๆไหม
คือไม่รู้ว่าเป็นงูหรือเป็นปลาไหลนั้นเอง
ถึงได้เรียกว่างูๆปลาๆ
เห็นงูคิดว่าเป็นปลาไหล
ก็เลยจับมา ก็เลยโดนงูกัด
กัดเข้าก็ตาย
แต่ถ้ามีคนมาบอกว่านี่ไม่ใช่เป็นปลาไหลนะ
เป็นงู เป็นอสรพิษ
ถ้าโดนมันกัดแล้วตายได้นะ
ถ้ารู้ว่าเป็นงูพิษ
ก็จะไม่กล้าเข้าใกล้
จะไม่กล้าแตะงูอีกต่อไปฉันใด
ถ้าเห็นสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาแล้ว
ก็จะไม่กล้าไปยึดไปติดกับเขา
ถ้ามีอยู่ก็มีแบบปล่อยวาง
มีลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุขก็มีไว้
แต่ภายในใจก็รู้อยู่เสมอว่าเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
จะไม่ไปหลงยินดีกับเขาอย่างเด็ดขาด
ถ้ายิ่งรักยิ่งชอบเท่าไร
เวลาพลัดพรากจากกัน ก็จะทุกข์อย่างยิ่ง
แต่ถ้าไม่รักไม่ชอบ
เวลาพลัดพรากจากกัน
ก็จะไม่ทุกข์เลย
สังเกตดูถ้าไม่ชอบสิ่งไหน
เกลียดสิ่งไหน ถ้าสิ่งนั้นหายไปหรือหมดไป
แทนที่จะเสียใจกลับสบายใจ
กลับสุขใจ แต่สิ่งเดียวกันนั้นแหละ
ถ้าอีกคนหนึ่งเขาเกิดชอบขึ้นมา
ถ้าสิ่งนั้นหายไปหรือหมดไป
คนที่ชอบนั้นแหละจะมีความทุกข์มาก
สุขทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ภายนอก
สิ่งต่างๆที่อยู่ภายนอกใจ
มีอยู่อย่างนี้มาแต่ดั้งเดิม
มีมาก่อนเราเกิด
และจะมีอย่างนี้ต่อไปหลังจากที่เราตายไปแล้ว
ก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
นี่เอง แต่ใจเราเป็นผู้หลง
ไปยินดียินร้ายกับเขา
ไปรักไปชอบ ไปเกลียด ไปชังเขา
พอไปเจอสิ่งที่ชอบก็อยากได้
พอสูญเสียไปก็ทุกข์
ร้องห่มร้องไห้
เวลาไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบก็ไม่สบายใจ
ไม่พอใจ ทุกข์ใจ
เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญา
คือใจถูกอวิชชา ความไม่รู้จริง
โมหะ ความหลง
ครอบงำใจ หลอกใจให้รัก
ให้ชังอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
แล้วเจริญวิปัสสนา
จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมด
เป็นดิน น้ำ ลม ไฟทั้งนั้น
เป็นสมมุติทั้งนั้น
เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น
ไม่มีดี ไม่มีชั่ว
ใจต่างหากไปหลงไปรัก ไปชัง ก็เลยกลายเป็นของดีของชั่วไป
อย่างเพชรนิลจินดานี่
พวกเราเห็นว่าเป็นของดีกันใช่ไหม
แต่เอาไปให้ลิงดูซิ
ลิงจะเอาไหม เอากล้วยกับเพชรไปให้ลิง
ดูซิว่าลิงจะเอาอะไร ลองดู
ลิงชอบกล้วยก็ต้องเอากล้วย
แต่ถ้าเอาไปให้คนเลือก
คนก็จะเอาเพชรไม่เอากล้วย เพราะอะไร
เพราะใจคนถูกสอนมาว่าเพชรมีค่ามากกว่ากล้วยนั่นเอง
แต่ลิงนั้นถูกสอนว่ากล้วยมีค่ามากกว่าเพชร แต่ความจริงแล้ว
ทั้งกล้วยทั้งเพชรไม่มีค่าในตัวของเขาเลย
คุณค่าเป็นสิ่งที่ถูกสมมุติขึ้นมา
แล้วก็ไปหลงไปติดกับเขา
จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลายที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็จะปล่อยวาง เป็นสิ่งที่ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องด้วย ใจโดยลำพังแล้วไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้ เพราะโดยธรรมชาติใจมีความพร้อมบริบูรณ์แล้ว ที่บกพร่องก็เพราะกิเลสตัณหาเป็นผู้สร้างความบกพร่องขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่ถ้าได้ชำระกิเลสตัณหาให้ออกไปจากใจให้หมดแล้ว ใจก็จะเป็นใจที่สมบูรณ์บริบูรณ์ เป็นใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันต์ ท่านไม่ได้ไปหาอะไรมาเพิ่มเติมให้กับใจ ท่านเพียงแต่เอาออกไปเท่านั้นเอง เอาส่วนเกินออกไป คือเอากิเลส เอาตัณหาออกไป เมื่อเอาออกไปแล้วใจก็เต็มเปี่ยมเหมือนแก้วที่เต็มน้ำ ใจก็อิ่ม ใจก็พอ ใจก็สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิด เป็นผลจากการเจริญวิปัสสนา ถ้าเห็นว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความทุกข์ เป็นการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักสิ้นสุดแล้ว ก็ขอให้เจริญธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ คือ ทาน ศีล สมาธิ วิปัสสนา แล้วในที่สุดก็จะถึงจุดที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ไปถึง เรียกว่า บรมสุข นิพพานัง ปรมัง สุขัง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้