กัณฑ์ที่ ๘๕       ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔

พระปัจฉิมโอวาท

 

สิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกๆคนมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือเป็นคนจน เป็นคนฉลาดหรือคนโง่ เป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ สิ่งนั้นคือเวลา ในวันๆหนึ่ง ทุกๆคนมีเวลาเท่าๆกัน คือวันละ ๒๔ ชั่วโมง จะมีความแตกต่างกันก็ตรงที่การใช้เวลา ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ถ้ารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่ถ้าใช้ไปในทางที่ผิดก็เป็นโทษอย่างมหันต์เช่นกัน เพราะว่าสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุขความเจริญก็ดี ความเสื่อมเสียหรือความทุกข์ก็ดี ก็เกิดจากการกระทำของเราในแต่ละวันนั้นเอง เวลาที่มีอยู่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร ไม่เที่ยงแท้ เป็นสิ่งที่จะค่อยๆหมดไป จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ดังภาษิตที่ว่า เวลาย่อมกลืนกินสรรพสิ่งทั้งหลาย เวลาจะค่อยๆกลืนกินพวกเรา จนหมดไปในที่สุด จะกลืนพวกเราให้กลายเป็นดิน กลายเป็นน้ำ กลายเป็นลม กลายเป็นไฟไปหมด

พระพุทธองค์ผู้ทรงรู้ถึงเรื่องของเวลาเป็นอย่างดี จึงสอนให้พวกเรา จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในพระปัจฉิมโอวาท คำสั่งสอนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพาน ได้ทรงรับสั่งไว้ว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงหนอ จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด ทรงเตือนสติเกี่ยวกับเวลา ว่าเวลาของพวกเรามีน้อย และจะค่อยๆหมดไปๆ ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่ไม่ทำอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์ ก็จะเสียเวลาเปล่าๆ จะไม่ได้รับประโยชน์จากชีวิต สิ่งที่จะทำให้ไม่ประมาท ได้แก่การเจริญธรรม ๕ บทอย่างต่อเนื่อง คือ  . เรามีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้  . เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้  . เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้  .เราต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  . เรามีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

นี่คือธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เจริญอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง พระพุทธองค์ทรงสอนพระอานนท์ว่า อานนท์วันๆหนึ่งเธอเจริญมรณานุสติมากน้อยสักเท่าไร พระอานนท์ทรงทูลตอบว่า เกล้ากระผมก็ได้เจริญในตอนเช้าบ้าง ตอนกลางวันบ้าง และในตอนค่ำบ้าง พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบกับพระอานนท์ว่า อานนท์เธอยังตั้งอยู่ในความประมาทอยู่ ถ้าเธอจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว เธอจะต้องเจริญธรรมบทนี้ทุกลมหายใจเข้าออกเลยทีเดียว เพราะเหตุใดจึงต้องเจริญธรรมนี้อยู่เสมอ เพราะจะได้ไม่ประมาทนอนใจ ผลัดวันประกันพรุ่ง รีบเร่งทำความดีเสียในขณะที่ยังมีเวลาที่จะทำได้ เมื่อตายไปแล้วจะทำอะไรไม่ได้ นอกจากเสวยวิบากกรรมที่ได้ก่อมาเท่านั้น

ใจของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่านมีความมัวเมา มีความหลงเป็นปกติ มีความเห็นที่ตรงกันข้ามกับความจริง ความจริงข้อที่ ๑ คือ คนเราทุกคนจะต้องแก่เป็นธรรมดา แต่ใจกลับไปหลงมัวเมาอยู่กับความเป็นหนุ่มเป็นสาว อยากจะอยู่เป็นหนุ่มเป็นสาวไปนานๆ ไม่แก่ไม่เฒ่า เป็นความหลง ความเป็นจริงแล้วคนทุกคนเกิดมาต้องแก่ด้วยกันทั้งนั้น การเจริญธรรมบทนี้ก็เพื่อที่จะได้คลายความหลงมัวเมาอยู่กับความเป็นหนุ่มเป็นสาว สอนให้เตรียมตัวไว้ว่า ในที่สุดจะต้องแก่เฒ่าชราภาพกัน ความจริงข้อที่ ๒  คือ คนเราทุกคนจะต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา  ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เป็นความจริง ส่วนความไม่จริงก็คือความคิดที่ว่าเราจะมีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์แข็งแรงไปตลอด ซึ่งเป็นความคิดผิด เพราะว่าสุขภาพที่ดี สมบูรณ์แข็งแรง เป็นของไม่จีรังยั่งยืน สักวันหนึ่งเราทุกคนก็จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยกัน ความจริงข้อที่ ๓ คือ  คนเราทุกคนต้องตายเป็นธรรมดา ถ้าเจริญธรรมบทนี้แล้ว ก็จะช่วยคลายความหลงมัวเมากับความคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ไปตลอด ซึ่งเป็นความหลง เป็นความไม่จริง  ความจริงคือ คนเราทุกๆคน เกิดมาแล้วจะต้องตายกันทั้งนั้น หนีไม่พ้น ทุกๆคนที่อยู่ในศาลานี้ในที่สุดก็จะอย่างต่อเนื่องต้องตายกันหมด ต่างกันตรงที่ว่าใครจะไปก่อน ใครจะไปหลังเท่านั้นเอง ความจริงข้อที่ ๔ คือ คนเราทุกคนต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  ของที่เรารักที่เราชอบนี้ สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากเขาไป ถ้าเราไม่จากเขาไปก่อน เขาก็ต้องจากเราไปก่อน จะจากไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ อาจจะเป็นวันนี้ก็ได้ อาจจะเป็นพรุ่งนี้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นอีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้าก็ได้ แต่สิ่งที่แน่ๆก็คือจะต้องจากกันแน่นอน ถ้าเจริญธรรมบทนี้แล้ว จะไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดกับสิ่งต่างๆที่เรารักเราชอบ ไม่ไปอยากให้อยู่กับเราไปตลอด ความจริงข้อที่ ๕ คือ เรามีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เพื่อเตือนสติให้ทำแต่คุณงามความดี ละเว้นการทำความชั่ว เพราะความดีเป็นเหตุของความสุขความเจริญ ส่วนความชั่วเป็นเหตุของความทุกข์ จะทำให้เราปล่อยวางในเรื่องของผู้อื่นได้ ผู้อื่นจะดีจะชั่วก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไปทุกข์ ไปดีใจกับเขา เพราะเขาจะต้องเป็นผู้รับทั้งผลของความดี และความชั่วของเขา เราไม่ต้องไปวิตกกังวลให้ทุกข์ใจไปเปล่าๆ ปล่อยให้เขาเป็นไปตามกรรมของเขา เนื่องจากว่าเวลาเราชอบใคร รักใครแล้ว เราก็จะห่วง อยากให้เขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้  เมื่อเขาไม่เป็นดังที่เราต้องการ ก็จะมีความไม่สบายอก ไม่สบายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร

นี่คือธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญอยู่เสมอๆ เพื่ออะไร เพื่อป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นตามมานั่นเอง เพราะว่าธรรมนี้เปรียบเหมือนกับวัคซีนป้องกันโรค เวลามีโรคระบาด เช่นโรคอหิวาตกโรค จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกัน ถ้าได้ฉีดวัคซีนแล้ว เวลาติดเชื้อ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกัน ต่อสู้กับโรคได้ ทำให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ฉันใดใจของเราก็เช่นกัน ถ้าได้เจริญธรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ ก็เท่ากับเป็นการฉีดวัคซีนให้กับใจ เมื่อใจมีวัคซีนป้องกันแล้ว เวลาเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ใจจะไม่ทุกข์ร้อน จะไม่เดือดร้อนเลย เพราะอะไร เพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจอยู่เสมอ เตือนสติ สอนตัวเองอยู่เสมอว่า เราต้องแก่นะ เราต้องเจ็บนะ เราต้องตายนะ เราต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงนะ เรามีกรรมเป็นของเรานะ เราทำอะไรไว้  เราก็ต้องรับผลของกรรมนั้นนะ

เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็จะไม่เดือดร้อน เพราะเราทำใจได้ ได้พิจารณาแล้วด้วยปัญญา ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับคนทุกๆคน และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไปร้องห่มร้องไห้ จะไปตีโพยตีพาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็ไปแก้ความจริงนี้ไม่ได้ สู้อยู่เฉยๆดีกว่า ตั้งสติแล้วดำเนินชีวิตต่อไป  เวลาแก่เราก็ยังอยู่ได้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ยังอยู่ได้  เวลาพลัดพรากจากของที่เรารัก ที่เราชอบ เราก็ยังอยู่ได้ ถึงแม้ตายก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าความตายนี้เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเราเท่านั้น เพราะว่าตัวเรามีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน คือ กายและใจ ร่างกายเป็นสภาวธรรม เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป  เมื่อเกิดแล้ว ต้องมีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายเป็นธรรมดา แต่ร่างกายเป็นเพียงครึ่งเดียวของตัวเรา ยังมีอีกครึ่งหนึ่งที่เรียกว่าใจ

ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เมื่อร่างกายตายไปแล้ว ดับไปแล้ว ใจก็แยกออกจากร่างกาย เดินทางต่อไป เหมือนกับการย้ายบ้าน บ้านเก่าที่เราอยู่เกิดความเสียหาย พังไป เราก็ต้องย้ายออกไปหาบ้านใหม่ ทีนี้บ้านใหม่ที่จะได้มาจะเป็นแบบไหน ดีกว่าเก่าหรือแย่กว่าเก่า ก็ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของเรา มีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเงินมาก ก็จะได้บ้านใหม่ที่ดีกว่าเก่า ถ้ามีเงินน้อย ก็จะได้บ้านที่ไม่ดีเท่ากับบ้านเก่า หรือถ้ามีเงินไม่พอที่จะซื้อบ้านใหม่ ก็จำต้องไปเช่าบ้านอยู่ หรือถ้าไม่มีเงินเลย ก็จำต้องอาศัยอยู่กับผู้อื่น ใจก็เช่นกัน เมื่อแยกจากร่างกายแล้วก็ไปสู่ภพใหม่ ชาติใหม่ ร่างกายใหม่ จะดีกว่าเก่าหรือเลวกว่าเก่า ก็ขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมที่ได้ทำเอาไว้ จึงควรทำแต่บุญ อย่าได้ทำกรรมเลย แล้วอนาคตจะเป็นอนาคตที่ดี มีภพชาติที่ดี มีแต่ความสุขความเจริญ ด้วยการเจริญธรรม ๕ บทนี้ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอยู่เสมอๆ ทุกๆวัน ทุกๆเวลา

ในขณะใดที่ว่าง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น ขอให้เจริญธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้เถิด พิจารณาไปเรื่อยๆ เจริญไปเรื่อยๆ แล้วใจจะค่อยๆซึมซาบกับความจริงนี้ แล้วใจจะยอมรับ เมื่อใจยอมรับแล้ว ทุกข์ก็จะไม่เกิด เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ใจก็จะรับได้ อ๋อเป็นเรื่องธรรมดา แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย พลัดพรากจากกันก็พลัดพรากจากกัน จะมีเคราะห์กรรมอย่างใด ก็รับไป สู้ไป ด้วยขันติธรรม ปัญญาธรรม เมตตาธรรม ถือว่าเป็นกรรมของเรา ทำอะไรมา ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น คือใจจะไม่ต่อสู้ ขัดขวางหรือกลัว เพราะถ้าไปขัดขวาง ไปต่อสู้แล้ว ก็เท่ากับสร้างความทุกข์ใจให้กับเรา บางคนยอมรับไม่ได้ เวลาแก่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาตาย เวลาประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่ปรารถนา ก็รับไม่ได้ แทนที่จะโทษตัวเราเอง กลับไปโทษผู้อื่น แทนที่จะโทษกรรมที่ได้ทำไว้ ว่าได้ทำกรรมมาอย่างนี้ จึงต้องรับผลกรรมอย่างนี้ กลับไปโทษว่าคนนั้นเขากลั่นแกล้งเรา คนนั้นเขาไม่ดีกับเรา คนนั้นเขามาทำร้ายเรา ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธ  ความอาฆาตพยาบาทขึ้นมาโดยใช่เหตุ แต่ถ้ามีธรรมอยู่ในใจแล้ว ใจจะสงบ ใจจะนิ่ง ใจจะยอมรับความจริง เป็นยังไงก็เป็นไป ไม่เป็นไร ไม่เดือดร้อนอะไร อย่างนี้สำคัญกว่า เพราะว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่าความแก่ ยิ่งกว่าความเจ็บ ยิ่งกว่าความตาย ถ้าไม่มีความทุกข์ในใจแล้ว จะอยู่ได้อย่างสบาย ท่ามกลางความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ

ทีนี้เหตุอะไรเล่าที่ทำให้เกิดความทุกข์นี้ขึ้นมา พระบรมศาสดาทรงแสดงเหตุของความทุกข์ คือตัณหา ความอยาก ได้แก่ กามตัณหา ความอยากในกาม ภวตัณหา ความอยากมีความอยากเป็น วิภวตัณหา ความอยากไม่มี อยากไม่เป็น เช่นอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย อยากไม่พลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง ก็คือความกลัวนั่นเอง  กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย กลัวการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจ กลัวที่จะต้องรับเคราะห์กรรมต่างๆ เป็นความกลัวที่ไม่น่าจะกลัวเลย  เพราะความจริงแล้ว ไม่มีอะไรจะน่ากลัวยิ่งกว่าความกลัความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเพราะเป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกๆคน และจะไม่เป็นสิ่งที่จะให้ความทุกข์กับใจ ถ้าใจฉลาด มีปัญญา จะเข้าใจแล้วยอมรับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้กับใจ สิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ คือความกลัวต่างหาก ไม่มีอะไรน่ากลัวยิ่งกว่าความกลัว ขอให้จำคำนี้ไว้

เราจึงต้องเจริญธรรม ๕ บทนี้ แล้วจะเกิดปัญญา จะรู้แจ้ง เห็นจริงตามความเป็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ก็จะไม่กลัว  จะรู้ว่าอะไรแก่ อะไรเจ็บ อะไรตาย อะไรไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ผู้ที่กลัวแต่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายคือใจ ใจเป็นสิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย สิ่งที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตาย แต่ไม่รู้ว่าจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็คือร่างกาย ร่างกายไม่รู้เรื่องอะไร เพราะมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดินไม่รู้เรื่องอะไร น้ำไม่รู้เรื่องอะไร ลมไม่รู้เรื่องอะไร ไฟไม่รู้เรื่องอะไร ตัวรู้คือใจต่างหาก แต่ตัวรู้นี้ไม่มีปัญญา ขาดปัญญา ขาดความฉลาด ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความมืดบอด ความหลงครอบงำอยู่ เลยไปหลง ไปยึดติดกับร่างกาย คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แปรสภาพไป จากอาการ ๓๒ กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ เวลาเอาร่างกายเข้าไปเผาในเตาจนกลายเป็นขี้เถ้าไป ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา เพราะความหลง คิดว่าใจจะแก่ ใจจะเจ็บ ใจจะตายไปด้วย  แต่ความจริงแล้ว ใจไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ใจเพียงแต่มาอาศัยร่างกายนี้อยู่ เหมือนกับเรามาอาศัยบ้านอยู่ บ้านเราอยู่ไปนานๆเข้า ก็จะต้องเก่าไป ชำรุดทรุดโทรมไป  แล้วในที่สุดก็ต้องพังไป แต่เรารู้ว่าบ้านไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร บ้านจะเก่า ทรุดโทรมลงไป ซ่อมได้ก็ซ่อมไป ซ่อมไม่ได้ก็ทุบทิ้งไป แล้วก็สร้างใหม่ขึ้นมาแทนที่

ใจก็เช่นกัน ใจเป็นเพียงผู้มาอาศัยร่างกายนี้อยู่ ร่างกายเป็นเหมือนบ้านของใจ ก็อยู่ไป ทำความเข้าใจว่าเป็นบ้านหลังหนึ่ง เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อยังอยู่กับเรา ก็ดูแลเขาไป ให้อาหาร ให้ยารักษาโรค ให้ที่อยู่อาศัย ให้เครื่องนุ่งห่มไป  อยู่กับร่างกายนี้ไป จนกว่าสักวันหนึ่งเมื่อร่างกายนี้อยู่ไม่ได้แล้ว รักษาไม่ได้แล้ว เราก็ปล่อยวางไป ไม่ต้องไปทุกข์กับเขา ไม่ต้องไปกลัว เพราะเมื่อเราเข้าใจแล้วว่าเราไม่ใช่เขา ใจไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ใจ เป็น รูปังอนัตตา รูปหรือร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา  เป็นเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังจากผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้า ก็เลยหลงกันว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของๆเรา ก็เลยยึดติดอยู่กับร่างกาย จนเกิดความทุกข์กับร่างกาย ร่างกายเป็นอะไรก็เกิดความกลัวขึ้นมา กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย

แต่ถ้ามีปัญญา คือเจริญธรรม ๕ ข้อนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ คอยสอนตัวเราว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดานะ ความแก่เป็นธรรมดา ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดา ความพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา การที่จะต้องประสบเคราะห์กรรมก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่ได้ทำเอาไว้ ไม่ต้องกลัว ใจสามารถที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้ และสามารถผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ ถ้ารู้จักรักษาใจให้เป็นปกติ สิ่งสำคัญที่ควรทำในขณะที่ยังมีเวลาอยู่ ก็คือต้องพยายามสร้างพลังให้กับใจ สร้างสติ สร้างปัญญา สร้างสมาธิให้กับใจ เพราะจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ใจสามารถต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆได้ ทำให้ชนะความกลัวได้ ชนะความอยากต่างๆได้  ถ้าไม่สร้างคุณธรรมเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว เวลาเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมา จะไม่มีกำลังต่อสู้ คือจะไม่มีอาวุธต่อสู้กับข้าศึกศัตรู ข้าศึกที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ภายนอก แต่อยู่ที่ภายในใจ อยู่ที่ความมืดบอด อยู่ที่ความกลัว ความมืดบอดทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ถ้ามีความสว่าง มีแสงสว่างแห่งธรรม คือปัญญา มีความรู้ที่แท้จริงแล้ว ก็จะหายกลัว เมื่อหายกลัวแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์

หน้าที่ของเราที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในพระปัจฉิมโอวาทคือ จงยังประโยชน์ส่วนตนและส่วนท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด หมายถึงว่าจงสร้างอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับศัตรูของเรา ต่อสู้กับความมืดบอด ความหลงของเรา ต่อสู้กับความกลัวของเรา ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือการเจริญธรรม ๕ บท ที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญอยู่เนืองๆ เจริญอย่างต่อเนื่อง เหตุที่ใจยังไม่สามารถรับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ เพราะใจยังไม่สงบ ใจยังไม่นิ่ง ใจยังไม่มีกำลัง ใจยังมีอคติครอบงำอยู่  ยังมีความกลัวอยู่ จึงต้องเจริญสมาธิ ทำใจให้สงบ วิธีที่จะทำใจให้สงบ คือต้องมีสติ ควบคุมใจไม่ให้ลอยไปลอยมา คิดเรื่องราวต่างๆที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทรงสอนให้ผูกใจไว้ให้นิ่งอยู่กับที่ วันหนึ่งๆให้ตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ให้ตั้งสติอยู่ที่ไหน ให้อยู่ที่กายของเรา เวลาทำอะไรก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังทำอะไรอยู่  และถ้าไม่ทำอะไร นั่งอยู่เฉยๆก็ให้มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ให้รู้แค่นี้ อย่าให้ใจไปคิดเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต สิ่งเหล่านี้คิดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร ทำให้ใจฟุ้งซ่าน ทำให้ใจไม่นิ่ง  ไม่ตั้งมั่น

ให้กำหนดใจให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่กับตัวเรา หรือจะบริกรรม พุทโธๆๆก็ได้ ให้จิตอยู่กับ พุทโธๆๆอย่างเดียว หรือบทสวดมนต์ที่ชอบ บทไหนก็ได้ จะเป็นพระคาถาชินบัญชร หรืออิติปิโสฯ ก็สวดไป ข้อสำคัญ เวลาสวดขอให้มีสติ เพราะถ้าสวดไปเรื่อยๆโดยมีสติกำกับใจให้อยู่กับบทสวด จะสวดออกเสียงหรือสวดในใจก็ได้ ขึ้นอยู่กับความถนัดหรือความเหมาะสม ใจจะค่อยๆนิ่ง จะค่อยๆสงบ เมื่อใจสงบแล้ว ความกลัวซึ่งเป็นอคติอย่างหนึ่ง ก็จะสงบตัวลงไป ความหลงก็จะสงบตัวลงไป เมื่ออคติเหล่านี้สงบตัวลงไปแล้ว เวลายกธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาอย่างเนืองๆมาพิจารณา ก็จะเห็นจริงเห็นจังตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ จะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา ร่างกายนี้มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารก็มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และเมื่อร่างกายนี้แตกสลาย ก็สลายกลับคืนสู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ  แต่ใจที่ครองร่างกายนี้ไม่ได้ดับ ไม่ได้สลายไปกับร่างกาย

ถ้าใจยังมีเชื้อ คือยังมีกิเลส ยังมีตัณหา มีความอยากอยู่ ใจก็ยังจะต้องไปเกิดใหม่ ไปสู่ภพใหม่ ชาติใหม่ แต่ถ้าเชื้อในใจที่พาให้ไปเกิด คือ กิเลส โลภ โกรธ หลง ตัณหา ความอยากทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว ก็จะไม่ไปเกิดอีกต่อไป ก็จะเป็นใจแบบเดียวกับของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ใจของผู้ที่สิ้นกิเลส มีแต่บรมสุข ปรมังสุขัง เพราะไม่มีเหตุที่จะสร้างความทุกข์ให้กับใจ  เหตุที่สร้างความทุกข์ให้กับใจคือความอยากทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ความอยากในกาม ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความกลัวต่างๆ ถ้าไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจแล้ว ใจก็จะสบาย ใจก็จะเป็นสุข อยู่ที่ไหนก็สบาย จะแก่ก็สบาย จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็สบาย ถึงแม้จะตายก็สบาย เพราะใจไม่กังวลกับเรื่องของร่างกาย ใจได้ปล่อยวางร่างกายแล้ว ด้วยปัญญา เพราะรู้แล้วว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา และการที่จะรู้สิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องอาศัยการเจริญธรรม ๕ บท ที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญอยู่เสมอๆ ควบคู่กับการทำสมาธิ ทำใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น ธรรมที่จะสนับสนุนให้มีสมาธิ ให้มีปัญญา ก็คือศีลและทาน จึงต้องรักษาศีล เพราะศีลจะช่วยทำให้ใจสงบได้ง่ายขึ้น ต้องทำบุญให้ทาน เพราะการทำบุญให้ทานจะช่วยทำให้รักษาศีลได้ง่ายขึ้น

ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน เริ่มตั้งแต่ทาน ทำบุญให้ทานเพื่อเข้าสู่การรักษาศีล รักษาศีลเพื่อเข้าสู่สมาธิ สมาธิเพื่อเข้าสู่ปัญญา ปัญญาเพื่อเข้าสู่การหลุดพ้น คือการปล่อยวางนั่นเอง เมื่อมีปัญญาแล้ว ก็จะปล่อยวางสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน สัพเพธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ไม่ไปยึดไม่ไปติดกับสภาวธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ไปยึดไปติดแล้ว เวลาสภาวธรรมเหล่านั้นเป็นอะไรไป เราก็จะไม่เดือดร้อน ยกตัวอย่าง ร่างกายของคนอื่น จะเป็นอย่างไร เราไม่เห็นเดือดร้อนเลย เขาจะแก่ จะเจ็บ จะตายอย่างใด เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุใด เพราะใจเราไม่ได้ไปยึดว่า ร่างกายนั้นเป็นเรา เป็นของๆเรา ร่างกายที่เรามีอยู่นี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับร่างกายของคนอื่น เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา ถ้ามองร่างกายเราเหมือนกับร่างกายของคนอื่นแล้ว เราก็จะไม่มีความทุกข์กับร่างกาย

ถ้าปรารถนาความสุข ความเจริญ ความไม่มีทุกข์แล้ว  ขอให้นำธรรม ๕ บทที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญอยู่เสมอๆ คือ . เรามีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้  . เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้  . เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้  .เราต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  . เรามีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ถ้าได้เจริญธรรม ๕ บทนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต่อไปใจก็จะปล่อยวางได้ เมื่อปล่อยวางแล้ว เวลาเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะไม่เดือดร้อนใจ จะผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ด้วยความสบายใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนากันไม่ใช่หรือ คือความสุขใจ ความสบายใจ ความสุขใจ ความสบายใจ เป็นผล ไม่ใช่เมฆหมอก ที่จะลอยมาหาเรา  เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นมาด้วยการปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้