กัณฑ์ที่ ๘๖     ๑๐ กันยายน ๒๕๔๔

กำลังใจ

 

การที่ท่านทั้งหลายได้มาวัดอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องแบบไม่ขาด หรือถ้าขาดก็เนื่องในกรณีที่จำเป็นสุดวิสัยนั้น ต้องมีเหตุมีปัจจัย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จู่ๆก็จะเกิดขึ้นมาเอง เพราะการที่จะเข้าวัดเพื่อประกอบคุณงามความดี   ละการกระทำบาป และชำระจิตใจให้สะอาด ไม่ใช่เป็นของง่าย ไม่เหมือนกับการเดินลงเขา แต่เป็นเหมือนกับการเดินขึ้นเขา ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่คอยช่วยผลักดันแล้ว จะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะมาปฏิบัติธรรมฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ท่านเข้าวัดกัน แล้วมาปฏิบัติธรรมกันอย่างสม่ำเสมอ  ก็คือบุญที่ท่านได้เคยทำไว้ในอดีต  ที่เรียกว่าปุพเพ กต ปุญญตา เป็นมงคลอย่างหนึ่งของชีวิต บุญที่ได้ทำมาแล้วในอดีต จะเป็นพลังที่จะคอยผลักให้ไปทำบุญต่อ  เพราะเมื่อเคยทำอะไรแล้ว ก็จะติดเป็นนิสัยขึ้นมา เคยทำบุญก็ชอบที่จะทำบุญต่อไป ถ้าเคยทำบาป ก็อยากจะทำบาปต่อไป  ถ้าเคยกินเหล้าเมายา เคยเล่นการพนัน เคยเที่ยวกลางคืน เคยเกียจคร้าน ก็จะติดเป็นนิสัยมา ข้ามภพข้ามชาติ เช่นเดียวกับการทำบุญทำกุศล ถ้าเคยทำบุญให้ทาน  เคยรักษาศีล  เคยปฏิบัติธรรมมาในอดีตแล้ว   ก็จะติดเป็นนิสัยมา จะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้มีความขวนขวาย มีความยินดี มฉันทะ ความพอใจ มีความชอบที่จะกระทำความดีต่อไป 

สำหรับคนที่ได้ทำความดีมาแล้ว  การที่จะกระทำความดีต่อไป  จึงไม่ใช่เป็นของยาก แต่กลับเป็นของง่าย เพราะว่าเมื่อเคยได้ทำความดีมาแล้ว จะรู้ผลของการทำดีว่าเป็นอย่างไร  จะรู้ว่าเวลาทำความดีแล้วจะมีความสุขใจ คนที่เคยทำความดีมาแล้ว และเห็นผลของการกระทำความดีแล้ว จึงทำความดีได้ง่าย ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เคยกระทำความดีมา ไม่รู้จักผลของความดี จะทำความดีได้ยาก การที่ได้เคยกระทำความดีมาแล้ว จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยช่วยผลักดันให้ได้ทำความดีต่อ อย่างที่ท่านทำกันในวันนี้ และความดีที่ท่านทำในวันนี้ จะเป็นเหตุผลักดันให้ท่านทำความดีต่อไปในวันข้างหน้า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า บุคคลที่ได้กระทำบุญในอดีต ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตน เพราะจะเป็นกำลังที่คอยผลักดันให้เข้าสู่ความดีนั่นเอง คอยรั้งไว้ไม่ให้ไปกระทำความชั่ว อย่างเวลาคิดจะไปเที่ยว ไปเล่นการพนัน ไปกินเหล้าเมายา  ก็จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นมาภายในใจทันที เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย เมื่อเคยได้ฝืนมาแล้ว ได้เลิกมาแล้ว การที่จะกลับไปกระทำสิ่งเหล่านั้นอีก จึงเป็นของยาก  เพราะความดีนี้แหละที่จะปกป้องคุ้มครองให้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม อยู่ในการกระทำที่ดี เมื่อกระทำสิ่งที่ดีแล้ว ผลที่จะตามมาก็คือความสุขความเจริญ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในปัจจุบันก็มีความสงบสุข ไม่มีความวุ่นวายใจ เพราะไม่ได้ไปกระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ผิดศีล ผิดธรรม เมื่อตายไปก็ไปสู่สุคติ

ดังในอานิสงส์ของศีลที่ว่า สีเลน สุคติง ยันติ   สีเลน นิพพุติง ยันติ ศีลเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ เป็นเหตุระงับดับความทุกข์ใจ ผู้ที่รักษาศีลจะมีความสงบใจ มีความสบายใจ เพราะไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร  เมื่อไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใครแล้ว ใจก็ไม่มีความกังวล ไม่มีความวุ่นวายว่าจะมีปัญหา มีอะไรตามมา จะมีเวรมีกรรมตามมา เพราะไม่ได้ไปสร้างเวรสร้างกรรมนั่นเอง เมื่อไม่ได้สร้างเวรสร้างกรรมแล้ว วิบากกรรมจะตามมาได้อย่างไร  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องความสุข ความทุกข์ เรื่องความดีความชั่วนั้น  พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน ถ้าไม่ได้กระทำความชั่วแล้ว ผลความชั่วย่อมไม่ปรากฏขึ้น ถ้าทำแต่ความดี ผลของความดีย่อมปรากฏขึ้น ผลของการกระทำนี้ทรงเปรียบเหมือนกับรอยของล้อเกวียนที่จะตามล้อเกวียนไปทุกหนทุกแห่ง ล้อเกวียนหมุนไปตรงไหน ก็จะต้องมีลอยตามไป ฉันใดการกระทำก็เช่นกัน กระทำความดี ผลดีก็จะตามมา กระทำความชั่ว ผลร้ายก็จะตามมา ซึ่งจะปรากฏขึ้นทันทีภายในใจ เวลาทำความดี  ใจจะมีความสงบ มีความเย็น มีความสุข เวลาทำความชั่ว ใจจะมีความเดือดเนื้อร้อนใจ มีความหวั่นวิตก นี่เป็นเรื่องของการกระทำความดี ที่เป็นเหตุให้ท่านทั้งหลายเข้าวัดกันเพื่อประกอบความดี 

เหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ท่านเข้าวัดกัน ก็คือศรัทธา ความเชื่อในบุญในกรรม เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ว่าคนทำดีย่อมได้ดี  คนทำชั่วย่อมได้รับความชั่วตอบสนอง ไม่มีใครจะหยิบยื่นให้ ดี ชั่ว บาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์ เราเป็นผู้หยิบยื่นให้กับตัวเราเอง ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดความเชื่อในเรื่องบุญกรรม เมื่อเกิดความเชื่อแล้ว ก็เกิดฉันทะ มีความยินดีที่จะเข้าวัด เพื่อประกอบคุณงามความดี ดังที่ท่านได้มากระทำกันในวันนี้ ท่านก็ได้มาทำความดีหลายอย่างด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการบูชาพระรัตนตรัย กราบไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถวายทาน ทำบุญ ตักบาตร สมาทานรักษาศีล  ทั้งศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ  ฟังเทศน์ฟังธรรม เมื่อกลับไปที่บ้านหรือที่พักในวัด ก็บำเพ็ญจิตตภาวนาต่อ  ทำใจให้สงบ ให้เกิดปัญญา ให้มีดวงตาเห็นธรรม เป็นการกระทำตามศรัทธาความเชื่อ

เมื่อกระทำไปแล้ว มีผลปรากฏขึ้นมา ศรัทธาความเชื่อก็จะกลายเป็นความจริง คือในเบื้องต้นเรายังไม่แน่ใจว่า สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร มีความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อได้น้อมเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาปฏิบัติ ก็จะเห็นผลที่เกิดขึ้นในตัวเรา ในเบื้องต้นใจมีความสบาย มีความเบิกบาน ไม่มีเวรไม่มีกรรมกับใคร ไม่มีปัญหากับใคร เพราะใจเป็นบุญเป็นกุศล รู้จักปล่อยวาง รู้จักให้อภัย ไม่ไปหาเรื่องหาราวกับใคร เมื่อไม่ไปหาเรื่องหาราวกับใคร ก็ไม่วุ่นวายใจ เพราะไม่มีปัญหากับใครนั่นเอง สิ่งนี้จะเริ่มเห็นในใจของเรา เห็นว่าใจเรามีความสุข เวลาเราได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยจตุปัจจัยไทยทานหรือปัจจัย ๔ เช่นอาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ในยามที่เขาไม่สามารถจะช่วยตัวเขาได้ เขาเดือดร้อนเขาลำบาก เหมือนกับคนที่ล้ม ถ้าเราอุ้มเขาขึ้นมา หรือพยุงเขาขึ้นมา ให้เขาได้เดินต่อไปได้ ก็จะทำให้เรามีความสุขใจ เมื่อทำไปแล้วจะเห็นผล ต่อไปก็ไม่ต้องเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน เพราะเป็นสัจจธรรม ความจริงที่อยู่ในใจของเราแล้ว จะมีแต่ความพอใจที่จะทำความดีให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก

เหตุปัจจัยอีกเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ท่านทั้งหลายมาวัดกันอย่างต่อเนื่อง ก็คือความตั้งใจอันแน่วแน่และจริงจัง ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะมาวัดแล้ว จะไม่สามารถมาวัดได้เลย ก่อนที่จะมาวัดก็จะต้องวางแผนกันไว้ก่อนแล้ว ต้องคิดกันไว้ล่วงหน้าว่า วันนั้นวันนี้จะไปวัด จะไปทำบุญ จะไปทำสิ่งต่างๆที่ต้องการกระทำกัน นี่คือการตั้งใจ ประกอบกับความแน่วแน่ คือความจริงใจ เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็จะไม่ปล่อยให้ความตั้งใจนั้นล้มเหลวไป ไม่ว่าจะมีอะไรมาขัดมาขวางก็ตาม ถ้าไม่สุดวิสัยจริงๆ จะต้องทำให้ได้ ถึงแม้ขณะนี้ทางวัดจะไม่สะดวกที่จะมาอยู่ เพราะไม่มีน้ำประปาใช้กัน น้ำที่เอามาทำน้ำประปาตอนนี้แห้งหมดแล้ว เพราะปีนี้ฝนไม่ค่อยตก น้ำที่จะเอามาทำน้ำประปาจึงมีไม่พอ เมื่อไม่มีน้ำประปาก็เลยไม่มีน้ำไหลไปตามท่อ ไปตามห้องน้ำห้องท่าต่างๆ ผู้ที่มาอยู่ก็เลยต้องลำบากหน่อย ต้องอาศัยความอดทน เพราะจะต้องสูบน้ำจากบ่อขึ้นมา แล้วก็หิ้วไปใส่ในห้องน้ำ แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่เป็นอุปสรรค จะไม่เป็นปัญหา ถ้ามีความตั้งใจอันแน่วแน่ ที่จะกระทำความดีแล้ว เรื่องหิ้วน้ำนี้จะไม่สามารถมาขวางการกระทำความดีได้ เพราะว่าความตั้งใจอันแน่วแน่คือกำลังของใจ เมื่อใจมีกำลังแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดใจได้ แต่ถ้าใจไม่มีกำลังแล้ว จะทำอะไรสักเล็กสักน้อยก็จะมีปัญหาขึ้นมาทันที เมื่อมีปัญหาก็พาลไม่ทำไปเลย

การที่ท่านทั้งหลายได้มาวัดกันได้ในวันนี้ ก็เป็นเพราะว่าท่านมีกำลังใจนั่นเอง กำลังใจนี้ก็เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่แน่วแน่ ที่จริงจัง ตามพระบาลีเรียกว่า สัจจอธิษฐาน สัจจะแปลว่าความจริงจัง อธิษฐานคือความตั้งใจ อธิษฐานนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจกัน คนส่วนใหญ่คิดว่าการอธิษฐานจิตคือการขอ ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเวลามากราบพระที่วัดก็ขอพระ อธิษฐานขอให้พระช่วย ขอให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ดังใจหมาย แต่นี่ไม่ใช่ความหมายของคำอธิษฐาน สิ่งต่างๆที่เราต้องการ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับเราไม่ได้ เพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กับเราได้อย่างเดียว คือ แสงสว่างแห่งธรรม หรือ ปัญญา หรือความรู้เท่านั้นเอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านช่วยเราได้ด้วยการชี้ทาง บอกเราว่าเราควรจะทำอะไร จะต้องทำอะไร เพื่อจะได้สิ่งที่เราต้องการ เพราะว่าสิ่งที่เราต้องการเป็นผล ผลจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีเหตุ เหตุเกิดขึ้นก่อน ถึงจะมีผลตามมาได้ ถ้าไม่ทำแล้ว จะไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ

อย่างที่ท่านอยู่ที่บ้าน แล้วจุดธูปเทียนต่อหน้าพระ แล้วก็อธิษฐานจิตขอให้ท่านได้มาที่วัดนี้ แต่ถ้าไม่มีความตั้งใจที่จริงจัง ไม่มีความพยายาม ท่านก็จะไม่ได้เดินทางมา ถ้าไม่ได้เตรียมตัว เตรียมการไว้ก่อน ก็จะมาไม่ถึงที่วัดนี้ เพราะว่าการขอเฉยๆนั้น ไม่สามารถทำให้สิ่งที่ท่านต้องการนั้นปรากฏขึ้นมาได้ ต้องเกิดจากการกระทำ แต่การกระทำจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการมีสัจจอธิษฐานเป็นเบื้องต้นก่อน ถ้าใครเขาถามว่าการทำบุญ การทำความดีนั้น จะต้องอธิษฐานจิตหรือไม่ ถ้าคำว่าอธิษฐานจิตหมายถึงการตั้งใจ ก็ต้องมีก่อนถึงจะทำได้ ถ้าไม่ตั้งใจก่อนแล้วก็จะไม่ได้ทำ  แต่ถ้าการอธิษฐานจิตหมายถึงการขอให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดลบันดาลให้สิ่งต่างๆที่เราต้องการลอยมาหาเราแล้วละก้อ อย่าไปอธิษฐานให้เสียเวลาเลย อธิษฐานไปจนวันตายก็ไม่ได้ในสิ่งที่เราปรารถนา

สิ่งที่ปรารถนานั้นจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อเราได้ทำตามความตั้งใจของเรา ดังที่ท่านทั้งหลายได้ตั้งจิตตั้งใจไว้ว่า วันนี้จะมาทำบุญทำกุศล มาพัฒนาจิตใจของท่าน แล้วท่านก็มากันตามที่ท่านได้ตั้งใจไว้ อย่างนี้ถูกต้องแล้ว จะต้องมีการตั้งใจไว้ก่อน ถ้าไม่ได้ตั้งใจไว้แล้ว อยู่ๆบางทีอาจจะมีคนมาชวนให้ไปทำอย่างอื่น ก็จะไปกับเขาทันที แต่ถ้าได้ตั้งใจไว้แล้ว ถึงแม้จะมีใครมาชวนให้ไปทำอะไรก็ตาม ถ้ามีความแน่วแน่อยู่ในใจแล้ว ก็จะไม่ไปกับเขา ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญเดือน ๖  ที่โคนต้นโพธิ์นั้น พระพุทธองค์ทรงตั้งสัจจอธิษฐานไว้ก่อนว่า  เราจะนั่งอยู่ที่ใต้ต้นไม้ต้นนี้ บำเพ็ญจิตตภาวนา เจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา คือทำจิตให้สงบ และเจริญปัญญาให้เข้าถึงสัจจธรรมความจริง เพื่อทำลายอวิชชาความมืดบอด ที่เป็นเหตุให้มตัณหา มีความอยาก ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าตราบใดเรายังไม่ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาแล้ว เราจะไม่ลุกจากที่นี่เป็นอันขาด จะไม่ยอมแพ้ จะพากเพียรไปจนกระทั่งลมหายใจจะหาไม่แล้วเท่านั้นถึงจะยุติกัน คือถ้าไม่ตายก็ต้องบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง นี่คือสัจจอธิษฐานของพระพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น ด้วยกำลังของสัจจอธิษฐานนี้เอง จึงทำให้พระพุทธองค์ได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มาเป็นที่พึ่ง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเราจนถึงทุกวันนี้

พวกเราในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ เป็นนักเรียน เราฟังท่านแล้ว เราก็ต้องเอาองค์ท่านมาเป็นตัวอย่าง ต้องตั้งสัจจอธิษฐานว่าจะมีแต่ความมุ่งมั่นในการประกอบคุณงามความดี เริ่มต้นด้วยการทำบุญให้ทาน แล้วก็รักษาศีล สมาทานศีลไปตามกำลังของเรา  รักษาได้มากน้อยกี่ข้อก็พยายามรักษาไป อย่าไปรักษาทีเดียวเต็มที่ ๘ ข้อ หรือ ๕ ข้อ ถ้าคิดว่ายังรักษาไม่ได้ ค่อยๆรักษาไป เริ่มต้นเพียงข้อเดียวก่อนก็ยังดี ดีกว่าไม่มีการเริ่มต้นเลย คำพูดว่าการเดินทางระยะยาวกี่หมื่นกิโลเมตรก็ตาม จะต้องเริ่มต้นจากการก้าวๆแรกไปก่อน  ถ้าไม่ก้าวๆแรกแล้ว การเดินทางต่อให้ใกล้ขนาดไหนก็จะไปไม่ถึง  แต่ถ้าเริ่มก้าวไปแล้ว ก้าวไปทีละก้าวๆ จากก้าวหนึ่งก็เป็นสอง จากสองก็เป็นสาม ก็จะบวกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะเป็นหมื่นเป็นแสนกิโลเมตรได้ ซึ่งก็เริ่มจากการย่างก้าวๆแรกนั่นเอง

ฉันใดการประกอบคุณงามความดี การรักษาศีลก็เช่นกัน เราก็เริ่มรักษาศีลจากน้อยไปหามากก่อน รักษาได้แค่ไหนก็รักษาไป แล้วก็ตั้งเป้าไว้ว่า เดือนหน้าจะรักษาเพิ่มขึ้นไปอีก แล้วเดือนต่อๆไปก็จะรักษาเพิ่มขึ้นไปอีก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วการปฏิบัติธรรมของเราก็จะค่อยๆเจริญก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้ไปถึง นั่นก็คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด สู่จุดที่มีแต่ความสุขอย่างเดียว  ไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่เลย ที่เรียกว่า นิพพานัง ปรมังสุขัง ความสุขของพระนิพพานเป็นความสุขที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการทำบุญทำทานในเบื้องต้น ตามด้วยการรักษาศีล และการเจริญเนกขัมมปฏิบัติ

การปฏิบัติเนกขัมมะหมายถึงการออกจากกามสุข กามสุขเป็นความสุขสำหรับคนโง่เขลาเบาปัญญา สำหรับคนที่ยังมีอวิชชา โมหะครอบงำจิตใจอยู่ จะเห็นว่ากามสุขเป็นสุข  แต่คนฉลาดจะเห็นว่ากามสุขเป็นเหมือนกับเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด  เมื่อปลาที่ไม่ฉลาดไปงับเอาเหยื่อนั้นเข้าไปแล้ว ก็จะต้องถูกเบ็ดนั้นเกี่ยวที่ปากที่คอ ทำให้ไม่สามารถดิ้นหลุดจากเบ็ดนั้นไปได้ ฉันใดกามสุขก็ฉันนั้น กามสุขเป็นความสุขที่เกิดขึ้นชั่วประเดี๋ยวประด๋าวในขณะที่ได้สัมผัส ได้เสพ แต่หลังจากที่ผ่านไปแล้ว ก็จะมีความทุกข์ตามมา ทุกข์เพราะเมื่อไม่ได้เสพครั้งต่อไป ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์เพราะอยากจะเสพ เพราะกามสุขไม่ทำให้เกิดความอิ่ม เกิดความพอ เมื่อเสพครั้งที่หนึ่งแล้วก็ต้องเสพครั้งที่ ๒  ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็เป็นเหมือนยาเสพติดนั่นเอง ยาเสพติดเมื่อเสพไปแล้ว จะต้องเสพไปเรื่อยๆ และจะต้องเสพเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆถึงจะรู้สึกว่ามีความสุข ฉันใดกามสุขก็เป็นฉันนั้น กามสุขมีความทุกข์เจือปนอยู่ เป็นตัวเหนี่ยวรั้งให้สัตว์โลกทั้งหลายไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้ ตายจากภพนี้ก็ต้องไปเกิดภพหน้าต่อไป แล้วก็ไปเสพแบบเดียวกัน เป็นอย่างนี้มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว ในอดีตก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็จะเป็นต่อไปในอนาคต ถ้าไม่เจริญเนกขัมมบารมี เนกขัมมปฏิบัติ  ถ้าไม่สลัดใจให้ออกจากกามสุขนี้แล้ว ใจก็จะติดอยู่กับกามสุขนี้ไปอย่างไม่สุดสิ้น

แต่ถ้าได้เจริญเนกขัมมปฏิบัติ คือมาอยู่วัดถือศีล ๘ หาความสุขจากความสงบของจิตใจ ความสุขที่เกิดจากการไหว้พระสวดมนต์ ความสุขที่เกิดจากการนั่งสมาธิ ความสุขที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา นี่คือการปฏิบัติที่จะทำให้จิตใจเกิดความสงบสุขขึ้นมา เพราะเนกขัมมปฏิบัตินี้จะไปทำลาย ความโลภ ความอยากทั้งหลาย ที่มีอยู่ในจิตใจ การที่จิตใจไม่สงบ ก็เพราะความโลภความอยากนั่นเอง ถ้าสามารถกำจัดความโลภ ความอยากให้ออกไปจากจิตจากใจได้แล้ว ใจก็จะสงบ เมื่อใจสงบแล้วใจก็มีความสุข นี่ก็คือสาเหตุที่เรามาปฏิบัติกัน  อยู่วัดถือศีล ๘ กัน ก็เพื่อปฏิบัติเนกขัมมะนั่นเอง ละกามสุข  อยู่แบบง่ายๆ กินแบบง่ายๆ นอนแบบง่ายๆ ข้าวเราก็รับประทานพออยู่ พอรักษาร่างกายให้อยู่ไปได้ ไม่ได้แสวงหาความสุขจากการรับประทาน ที่นอนของเราก็ไม่ใช่เป็นที่นอนที่ใหญ่โต ที่มีฟูกหนา นอนหลับสบาย นอนได้นาน แต่เป็นที่นอนแบบบางๆ หรือนอนกับพื้น นอนกับเสื่อ เพียงเพื่อพักผ่อนร่างกาย คืนหนึ่งพักประมาณ ๔ ถึง ๕ ชั่วโมงก็พอเพียงแล้ว

ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้ว ไม่ต้องนอนมาก ไม่ต้องกินมาก กินเท่าที่จำเป็น นอนเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ร่างกายไม่ชำรุดทรุดโทรมเท่านั้นเอง แต่จะทุ่มเทเวลาไปสู่การปฏิบัติ สู่การไหว้พระสวดมนต์  นั่งทำสมาธิและเจริญวิปัสสนา กำหนดดูความ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ของสภาวธรรมทั้งหลาย ถ้าเห็นสิ่งต่างๆว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์  ไม่มีตัวตนแล้ว ก็จะปล่อยวางได้ จะไม่เอาสิ่งเหล่านี้ จะเอาสิ่งที่ไม่อยู่กับเราไปตลอดทำไม จะเอากับสิ่งที่ให้ความทุกข์กับเราทำไม จะเอากับสิ่งที่ไม่ใช่เป็นของๆเราทำไม เป็นของที่เขาให้ยืมมาใช้ สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเอาคืนไป อย่างเช่นร่างกายของเรานี้ ก็เป็นของที่ไม่ใช่เป็นของๆเรา ได้มาจากพ่อแม่เรา ใจของเราเพียงแต่มายึดมาครอบครองเท่านั้นเอง แล้วเขาก็ให้ไปใช้ได้ระยะหนึ่ง เวลาก็ไม่แน่นอน บางคนก็ใช้อยู่ได้นาน ๘๐ ถึง ๙๐ ปี บางคนก็อยู่ได้แค่ ๓ วัน ๗ วันก็ตายไปแล้วก็มี เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจึงทรงสอนให้ใช้ปัญญา ให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง อย่าไปยึด อย่าไปติด อย่าไปยินดี สิ่งที่เที่ยงแท้มีอยู่แล้วในตัวของเรา ก็คือใจของเรานี่แหละ ใจของเราอยู่กับเรามาตลอด แล้วก็จะอยู่กับเราไปตลอด ไปเกิดกี่ภพกี่ชาติก็เป็นใจตัวนี้แหละที่พาเราไป ที่เรามาเกิดนี้ก็มากับใจนี้ ใจเป็นผู้พาเรามาเกิด แล้วเมื่อเราตายไป ใจก็ไปกับเรา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการดูแลรักษาใจนั่นเอง ขณะนี้ใจของเราไม่เป็นปกติ เปรียบเหมือนกับคนที่ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ ต้องหายามากินรักษาร่างกายให้หายจากโรค ไม่มีใครอยากจะทนทรมานอยู่กับโรคหรอก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยทุกคนจะต้องหายา หาหมอด้วยกันทั้งนั้น ฉันใดใจของเราก็เหมือนกับร่างกาย เป็นใจที่ยังมีความทุกข์อยู่ เป็นใจที่ยังมีกิเลสคอยรุมเร้า สร้างความทุกข์ให้กับใจอยู่ ยังเป็นโรคทุกข์อยู่ และสิ่งที่จะรักษาโรคทุกข์นี้ได้ ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พวกเราได้มาปฏิบัติกันในวันนี้นั่นเอง ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติเนกขัมมะ ถือศีล ๘  สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ไปดู ไม่ไปฟัง ไม่ไปสัมผัสกับกลิ่น กับรส กับสัมผัสต่างๆที่ทำให้เกิดความโลภ เกิดความอยากขึ้นมา ไม่แสวงหาสิ่งเหล่านี้ แสวงหาแต่ความสงบสุขของจิตใจ  ด้วยการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อทำให้จิตใจสะอาดหมดจด ชำระเชื้อโรคของใจ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ต้นเหตุของโรคของความทุกข์ หรือเชื้อโรคของใจ ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆนั้นเอง เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำลาย ด้วยการปฏิบัติเนกขัมมะดังที่ท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติกัน ถ้าได้ปฏิบัติไปแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะค่อยๆเบาบางลงไป เมื่อได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้ว ในที่สุดกิเลสตัณหาทั้งหลายก็จะหมดไป เพราะพระพุทธเจ้าก็ได้ปฏิบัติมาแล้ว พระอรหันตสาวกก็ได้ปฏิบัติมาแล้ว ด้วยวิธีการเดียวกัน ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติเนกขัมมะ เจริญจิตตภาวนา จนจิตของท่านสะอาดบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็หมดปัญหา จิตก็เป็นจิตที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอีกต่อไป คือไม่มีความทุกข์ เพราะได้ทำลายเชื้อ คือความโลภความอยากทั้งหลาย ที่สร้างความทุกข์ให้กับจิตหมดสิ้นไป

พวกเราผู้มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และพระสงฆ์ จึงควรน้อมเอาปฏิปทาอันดีงามของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย มาประพฤติปฏิบัติตาม โดยอาศัยสัจจอธิษฐาน คือความตั้งใจอันแน่วแน่จริงจังเป็นกำลังใจ ขอให้ได้ปฏิบัติธรรมตามอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกไปจนกระทั่งชีวิตจะหาไม่ วันไหนมีเวลาว่างขอให้ได้ปฏิบัติธรรม ขอให้ได้เข้าวัด ขอให้ได้ทำบุญ ถ้ามีความแน่วแน่และมีความจริงจังต่อสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้แล้ว เชื่อได้เลยว่าความสุขความเจริญจะต้องเป็นของท่านอย่างแน่นอน    การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้