กัณฑ์ที่ ๘๘      ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔

สภาพจิต

 

การเข้าวัดก็เพื่อพัฒนาจิตใจให้เจริญรุ่งเรือง  จิตใจจะพัฒนาขึ้นมาได้จำต้องได้รับการศึกษาทางด้านธรรมะ อบรมบ่มนิสัย การศึกษาธรรมะจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าการศึกษาวิชาทางโลก เพราะธรรมะสอนเรื่องสุขทุกข์ที่มีอยู่ในตัวเรา วิชาทางธรรมดับทุกข์ได้ วิชาทางโลกดับทุกข์ไม่ได้ วิชาความรู้ทางโลกมีไว้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน  ถ้าได้เรียนจบปริญญาตรี โท เอก   ก็จะมีความรู้มาก ทำให้หางานได้ง่าย เป็นงานที่สบาย ไม่ต้องใช้แรงกาย ใช้แต่สติปัญญาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา ไว้สั่งคนนั้นคนนี้ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เงินเดือนก็มากกว่าคนที่ไม่มีความรู้ เพราะความรู้เป็นเหมือนกับแสงสว่าง  ถ้าอยู่ในที่มืด ไม่มีแสงสว่างก็จะต้องคลำไปๆ แบบผิดๆ ถูกๆ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีอะไรขวางทางอยู่ข้างหน้า ก็ไม่รู้ ทำให้เดินตกหลุมตกบ่อ เตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะมองไม่เห็นอะไร  

ถ้ามีแสงสว่างในที่มืดแล้ว ก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆได้ดี จะรู้ว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด  วิชาทางโลกก็เป็นเหมือนแสงสว่างส่องทาง ให้รู้ว่าควรจะทำมาหากินอย่างไรถึงจะดี  ทำให้รู้ก่อนผู้ที่ไม่ได้เรียนว่าในอนาคตโลกจะขาดอะไร จะต้องการอะไร ทำให้สามารถหาสิ่งที่โลกต้องการมาขายก่อนผู้อื่นได้ ก็จะขายดิบ ขายดี เพราะไม่มีคู่แข่ง ทำให้ทำเงินได้มาก การศึกษาทางโลกจะทำให้ได้กินอยู่อย่างสุขสบาย  แต่ถ้าไม่มีความรู้ ก็จะไม่รู้จักคิด ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็จะเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เล่าเรียน ก็จะไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ที่จะทำให้ได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ ถ้ารู้ก่อนคนอื่นแล้วเตรียมหาสิ่งนั้นๆมาขาย ก็จะขายดิบขายดี  ถ้าไม่มีความรู้ ก็ต้องคอยทำตามคนอื่น  เห็นเขาขายอะไรดีก็ขายตามเขา  พอหลายๆคนมาขายพร้อมๆกัน ก็จะขายไม่ออก  เพราะของจะมากกว่าคนซื้อ

ส่วนความรู้ทางธรรมยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าความรู้ทางโลก เพราะว่าความรู้ทางธรรมจะสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตไปได้ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีปัญหา  ไม่มีเรื่องราวกับใคร  ถ้าไม่มีความรู้ทางธรรมแล้ว  ชีวิตจะดำเนินไปด้วยความวุ่นวาย  มีแต่เรื่อง มีแต่ปัญหา กับคนนั้น กับคนนี้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควร อะไรคือสิ่งที่ไม่ควร อะไรคือสิ่งที่ถูก อะไรคือสิ่งที่ไม่ถูก  เพราะเหตุใด  เพราะใจยังมืดบอดอยู่  ใจไม่มีธรรมะ แสงสว่าง  ถ้ามีธรรมะแล้ว จะรู้ว่าการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ที่ดีงามนั้นเป็นอย่างไร  ถ้าไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมนำพาแล้ว ใจจะถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงลากพาไป  เปรียบเหมือนกับรถยนต์ไม่มีเบรก  ไม่มีไฟ  วิ่งไปในที่มืด ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอะไรกีดขวางอยู่ ขอให้ได้วิ่งไปตามความต้องการ  จะไปชนกับอะไรอย่างไรก็ไม่สนใจ 

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีธรรมะคือเหตุผล เป็นเครื่องพาใจให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกที่ดีแล้ว  ก็จะมีแต่ความโลภ ความอยากต่างๆพาไป ทำให้ไม่รู้จักใช้ปัญญาใคร่ครวญว่า  การที่จะหาสิ่งต่างๆมาตามความโลภ ความอยากนั้น ควรจะหามาด้วยวิธีใด  ยิ่งอยากมากๆ แต่ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษาที่จะหามาด้วยความสุจริต ก็จะต้องหามาด้วยความทุจริต  เพราะความอยากมีอำนาจมาก จะทำให้กล้าที่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมย โกหกหลอกลวงผู้อื่น ประพฤติผิดประเวณี ไปยุ่งกับลูกเต้าของชาวบ้านโดยไม่ได้สู่ขอ หรือไปยุ่งกับสามี ภรรยาของผู้อื่น สาเหตุที่ต้องไปทำอย่างนี้ ก็เพราะไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้จะนำความเดือดร้อนตามมาต่อไป  เมื่อไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  ไปทำร้ายชีวิตของผู้อื่น  ก็จะเป็นเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม  สังคมก็จะไม่ปล่อยให้อยู่ลอยนวลต่อไป  ถ้าปล่อยไว้ก็จะต้องไปทำร้ายผู้อื่นอีก  ไปลักทรัพย์ ไปจี้ ไปปล้น ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นอีก สังคมจึงต้องควบคุมหรือกำจัดไม่ให้ไปทำร้ายผู้อื่นได้อีก  ด้วยการจับกุมตัวไปลงโทษ  จะหนักจะเบาก็ขึ้นอยู่กับโทษที่ทำไว้ โทษเบาก็จะถูกปรับหรือว่ากล่าวตักเตือนให้รู้ว่าการกระทำแบบนี้ไม่ดี โทษหนักก็จะต้องจำคุกหรือประหารชีวิต

เราอยู่ในสังคมของมนุษย์ที่อยู่ด้วยความสงบสุข ไม่เบียดเบียนกัน  เราไม่ได้เป็นเดรัจฉาน  ถ้าเป็นเดรัจฉานจะอยู่กันอีกแบบหนึ่ง  เดรัจฉานจะอยู่แบบใช้กำลังเป็นใหญ่  ใครมีกำลังสามารถทำร้ายผู้อื่นก็จะเป็นใหญ่  แต่สังคมของมนุษย์ไม่ใช้กำลังเป็นใหญ่  แต่ใช้ความรู้เป็นใหญ่  ใครมีความรู้ มีความฉลาด ทำมาหากินด้วยความสุจริตก็สามารถร่ำรวยได้ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้นำได้  การทำมาหากินด้วยความสุจริตไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร นี่คือลักษณะของสังคมของมนุษย์ ที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข เพราะมนุษย์มีสติ มีปัญญา มีความรู้พอที่จะแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี อะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ  มนุษย์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ  ต่างกับเดรัจฉานที่ไม่รู้จักแยกแยะว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป  แต่จะอยู่จะทำตามอำเภอใจ  เวลาอยากได้อะไร ก็จะใช้กำลังหามา ด้วยการทำลายกัน ข่มเหงรังแกกัน ต่อสู้กัน  สังคมของเดรัจฉานจึงเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่  เป็นสังคมที่มีภัยรอบตัว  ไม่รู้ว่าจะถูกทำร้ายเมื่อไร  แต่สังคมของมนุษย์เป็นสังคมของผู้ประเสริฐ ของผู้ที่มีปัญญา  มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเพราะมนุษย์เคารพในสิทธิของกันและกัน  จะไม่ไปล่วงเกิน เบียดเบียนผู้อื่น  สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  สังคมของมนุษย์จึงเป็นสังคมที่น่าอยู่ 

แต่ทุกวันนี้สังคมของมนุษย์กลับไม่ได้เป็นไปดังนั้น  เป็นเพราะมนุษย์ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นมนุษย์กันทุกๆคน  เราสามารถแบ่งมนุษย์เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ  คือ .มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ หมายถึงมนุษย์ที่มีร่างกายเป็นมนุษย์และจิตใจเป็นมนุษย์ คือพวกที่มีศีลธรรมในใจ จะไม่กล้าทำบาป เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่โกหกหลอกลวง  เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  . มนุษย์ที่เป็นเทวดา พวกนี้นอกจากมีศีลธรรมแล้ว ยังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นคนใจกว้างชอบช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น  กายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเทวดา  . มนุษย์ที่เป็นเดรัจฉาน เป็นพวกไม่มีศีลธรรม ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ชอบลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ  พวกนี้จะไม่เชื่อเรื่องการรักษาศีล เห็นว่าศีลไม่ใช่เรื่องสำคัญ  สิ่งที่สำคัญก็คือความต้องการของเขา  ถ้าเขาต้องการอะไร เขาต้องหามาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  ถ้าจะต้องฆ่าก็ฆ่า  ถ้าจะต้องขโมยก็ขโมย  ถ้าจะต้องผิดประเวณีก็ต้องทำ  ถ้าจะต้องโกหกหลอก ลวงก็จะต้องทำ  นี่คือลักษณะของคนที่มีกายเป็นมนุษย์  แต่ใจไม่ได้เป็นมนุษย์เสียแล้ว แต่เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก    เมื่อตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ต่อไป

เรื่องเหล่านี้ฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ เกี่ยวกับภพหน้าชาติหน้า  เมื่อตายไปแล้วจะต้องไปเกิดเป็นอะไร  แต่ลองสังเกตดูซิ  พวกเดรัจฉานมีศีลไหม  เดรัจฉานรู้จักว่าสิ่งของต่างๆมีใครเป็นเจ้าของหรือไม่  เวลาอยากจะกินอะไรก็คาบไปกินเลย ข้าวของที่มีอยู่ในบ้าน ถ้ามีสุนัขอยู่ในบ้านเรายังต้องคอยระวัง  ถ้าไม่เช่นนั้นพอเผลอก็จะถูกคาบไปกิน  แต่ถ้าเป็นมนุษย์แล้ว ต่อให้เป็นของมีค่าขนาดไหน ก็จะไม่มีใครไปหยิบ ไม่มีใครไปแตะต้อง  เพราะรู้ว่าของสิ่งนั้นไม่ใช่เป็นของๆตน ก็จะไม่ไปแตะต้อง  แต่ถ้าเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีลธรรม ที่ใจเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์นรกแล้ว จะทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง  ถ้าเห็นอะไรแล้วอยากได้ขึ้นมา ก็จะเอามาให้ได้โดยไม่คำนึงว่าจะเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ อย่างญาติโยมใส่ทองห้อยคอไว้เส้นใหญ่ๆ  เผลอๆจะถูกคนกระตุกไป ถ้าเป็นผู้หญิงสวยๆ เดินไปในที่เปลี่ยว ก็จะถูกฉุดไปทำมิดีมิร้าย  ทำเสร็จแล้วก็ทำลายชีวิตเลยเพื่อปิดปาก เพราะกลัวว่าจะจำหน้าได้  

แต่เขาไม่รู้หรอกว่าการกระทำนี้จะมีผลตามมา ถึงแม้จะไม่มีใครในโลกนี้เห็นเขากระทำก็ตาม เมื่อเขาตายไปแล้วเขาจะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก   เพราะสภาพจิตของเขาไม่ได้เป็นมนุษย์แล้ว เขาจึงต้องไปเกิดในอบายใดอบายหนึ่ง  ไม่เป็นเดรัจฉานก็ต้องเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์นรก เพราะสภาพจิตของเขาเป็นอย่างนั้นไปแล้ว  จิตเป็นของที่ไม่ตาย หลังจากร่างกายแตกสลายไปแล้ว จิตก็จะไปเกิดต่อ  จะไปเกิดอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสภาพจิตในขณะนั้น ในขณะที่ยังอยู่ในภพนี้ว่าเป็นอย่างไร  ถ้ารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ เช่นรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละเมิดศีลห้า เมื่อตายไปจิตก็ยังเป็นมนุษย์อยู่  เมื่อเป็นมนุษย์ก็ต้องกลับมาเป็นมนุษย์  แต่ถ้าทำแต่บาปแต่กรรม จิตก็เป็นเดรัจฉานเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรกไป  เมื่อตายไปก็ไม่กลับมาเป็นมนุษย์อีก  ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก  เพราะว่าสภาพจิตเป็นอย่างนั้น 

จิตก็เหมือนกับน้ำที่ใส่ไว้ในขวด  เวลาเปลี่ยนขวดใหม่  เราก็ย้ายน้ำจากขวดหนึ่งไปอีกขวดหนึ่ง  น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่เหมือนเดิม   น้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ  ถ้าเป็นน้ำสกปรกก็ยังเป็นน้ำสกปรกอยู่  ถ้าเป็นน้ำสะอาดก็ยังเป็นน้ำสะอาดอยู่นั่นเอง  การเปลี่ยนภาชนะน้ำไม่ได้เปลี่ยนคุณภาพของน้ำแต่อย่างใด ถ้าจะเปลี่ยนคุณภาพของน้ำก็ต้องกลั่นกรองเสียก่อน  น้ำถึงจะสะอาดได้ เพียงแต่ย้ายจากถ้วยหนึ่งมายังอีกถ้วยหนึ่ง  น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่เหมือนเดิม  ถ้าเป็นน้ำจืดก็ยังเป็นน้ำจืดอยู่เหมือนเดิม   ถ้าเป็นน้ำส้มก็ยังเป็นน้ำส้มอยู่เหมือนเดิม    ถ้าเป็นเหล้าก็ยังเป็นเหล้าอยู่เหมือนเดิม ถ้าต้องการให้กลายเป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์  ก็ต้องเอามากรองเอามากลั่น  อย่างน้ำที่บรรจุใส่ขวดขายเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ เพราะได้ผ่านการกลั่นกรอง แยกสิ่งต่างๆที่ผสมอยู่ในน้ำออกไป

จิตก็เช่นกัน ถ้าเป็นมนุษย์ เวลาร่างกายแตกสลายไป จิตก็จะได้ร่างมนุษย์อีก  เพราะจิตยังเป็นมนุษย์อยู่  แต่ถ้าจิตเป็นเดรัจฉานในขณะที่กายยังเป็นมนุษย์อยู่ พอร่างกายนี้สลายไป ก็จะไปเกิดตามสภาพของจิต  ถ้าเป็นเดรัจฉานก็จะไปเกิดเป็นเดรัจฉาน  ถ้าเป็นอสุรกายก็จะไปเกิดเป็นอสุรกาย ถ้าเป็นเปรตก็จะไปเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์นรกก็จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก  ถ้าเป็นเทวดาก็จะไปเกิดเป็นเทวดา  ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตเป็นหลัก จิตจะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับเราผู้เป็นเจ้าของของจิตจะดูแล  ถ้าคอยดูแลรักษาจิตให้สะอาด คอยพยายามกลั่นกรองจิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำความดี ทำบุญ ทำกุศล ละบาป ชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์  ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง   ที่ทำให้จิตนี้สกปรกเศร้าหมอง เป็นตัวเหตุที่ฉุดลากให้ไปทำบาป 

นี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำกัน  ถ้าอยากจะให้จิตของเราพัฒนาเป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่เจริญ เป็นจิตที่มีความสุข ก็ต้องดูแลจิตของเราด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพยายามทำแต่ความดี ทำบุญทำกุศล ละเว้นจากการกระทำบาป และพยายามตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่อยู่ในจิตให้หมดไป  เวลาเกิดความโลภขึ้นมา ก็พยายามหักห้ามใจ  ถามเสียก่อนว่าเอาไปทำไม  มีความจำเป็นกับการครองชีพหรือเปล่า  หรืออยากได้เพราะอารมณ์อยากเกิดขึ้นมา เห็นว่าสวยก็อยากจะได้ โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีสิ่งนั้นๆ  ต้องคิดอย่างนี้  แต่สิ่งไหนถ้าเป็นความจำเป็นเอามาก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าสิ่งไหนไม่มีความจำเป็นแล้วไปเอามา ก็จะทำให้เกิดความโลภมากขึ้นไปอีก  ขอให้เข้าใจว่าความโลภไม่มีที่สิ้นสุด  ถ้าโลภแล้วทำตามความโลภ ครั้งต่อไปความโลภก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก  ความโลภอยู่ตรงข้ามกับความพอ  ถ้ามีความโลภแล้วจะไม่มีความพอ  ถ้าอยากจะถึงความพอก็ต้องหยุดความโลภ ต้องฝืนความโลภ ต่อสู้กับความโลภ ด้วยการใช้เหตุผล  ว่าจำเป็นหรือไม่ต่อการครองชีพ  ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอามา  อย่าไปโลภ อย่าไปอยากได้ เมื่อได้มาก็จะดีใจ มีความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว  หลังจากนั้นแล้วก็อยากได้ของใหม่อีก จะอยากไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะว่านี่คือธรรมชาติของความโลภ ความโลภจะไม่นำไปสู่ความอิ่มความพอ  แต่การต่อสู้กับความโลภด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยสติ ด้วยปัญญา จะทำให้เราสามารถหยุดความโลภได้ 

เมื่อระงับดับความโลภได้แล้วเราจะมีความสุข  เพราะเหตุใด  เพราะธรรมชาติของจิตไม่ต้องการอะไรในโลกนี้  แต่ความหลงหลอกจิตให้ไปอยากเท่านั้นเอง  ความจริงแล้วสิ่งที่จิตต้องการมากที่สุดก็คือความสงบ  ถ้าจิตมีความสงบ จิตจะมีความอิ่ม มีความสุข มีความพอ   ถ้าจิตไม่มีความสงบแล้ว ต่อให้มีอะไรเท่าไรก็จะไม่มีความอิ่มพอ  ลองไปถามมหาเศรษฐีดูว่าเขาพอหรือยัง เขาก็ยังไม่พอ  ถามคนที่เป็นนายกฯ คนที่มีตำแหน่งสูงๆ  ถามเขาว่าเขาพอหรือยัง เขาอยู่เฉยๆได้หรือไม่ เขาอยู่ไม่ได้  เพราะอะไร เพราะจิตเขายังไม่นิ่ง ยังไม่สงบ และเหตุที่ทำให้จิตเขาไม่สงบก็ไม่ใช่อะไร ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่เอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลง  ความไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของจิตว่าสิ่งที่จิตต้องการนั้นคืออะไร  สิ่งที่จิตต้องการก็คือความสงบนั้นแหละ  ถ้าโชคดีได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา และได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเป็นความจริง คือว่าไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับจิต  ไม่มีอะไรที่จะมีคุณ มีประโยชน์ มีค่าสำหรับจิตมากไปกว่าความสงบ

ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว  ต้องพยายามทำจิตให้สงบให้ได้  สิ่งที่ขัดขวางความสงบของจิตก็ไม่ใช่อะไร ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่เอง  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องพยายามทุ่มเทเวลา สติปัญญา กำลังของเราทั้งหมดให้เข้ามาสู่ที่จุดนี้ คือต้องทำจิตให้สงบให้ได้ ด้วยการทำความดี ละการกระทำบาปที่ความโลภ ความโกรธ ความหลงผลักดันให้กระทำ  ต้องเบรกสิ่งเหล่านี้ ไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดได้  แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง  ก็จะค่อยๆ เบาบางไปและในที่สุดก็จะหมดไป  เมื่อหมดไปแล้วไม่ต้องไปหาความสงบว่าอยู่ที่ไหน  จิตจะสงบโดยธรรมชาติ  จิตที่ไม่สงบเพราะมีความโลภ ความโกรธ ความหลงไปคอยปั่น ไปคอยผลักให้หมุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้หยุดนิ่งนั่นเอง ถ้าตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้ว  จิตก็จะสงบนิ่งเอง

เหมือนกับรถยนต์ถ้าดับสวิทไฟ เครื่องยนต์ก็หยุดทำงาน ไม่ต้องไปบังคับเขา เขาจะหยุดของเขาเอง  เพราะเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์หมุน ก็คือตัวกุญแจที่ไปสตาร์ทเครื่องนี่เอง  ถ้าปิดกุญแจตัวนี้ได้  เครื่องยนต์ก็จะหยุดทำงาน ฉันใดจิตจะสงบ จะนิ่ง จะอิ่ม จะมีความสุข จะมีความสบายได้ก็ต่อเมื่อได้ปิดกุญแจที่ทำให้จิตทำงาน คือต้องดับตัวโลภ โกรธ หลงนี้เท่านั้นเอง  ถ้าดับได้แล้วก็ไม่ต้องไปหาอะไรในโลกนี้ต่อไป  เพราะจะมีความสุขเต็มที่อยู่ในจิต จะมีความสุขมากยิ่งกว่าคนที่มีตำแหน่งสูงๆ  คนที่มีเงินทองเป็นหมื่นเป็นพันล้านเลยทีเดียว เพราะนี่คือความสุขที่แท้จริง  เป็นธรรมชาติของจิต  จิตไม่ต้องการอะไรในโลกนี้ ไม่ต้องการเงินทอง ไม่ต้องการตำแหน่ง ไม่ต้องการเพื่อนฝูง ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น  จิตนี้ต้องการอย่างเดียวคือความสงบ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความโลภ ความโกรธ ความหลง ถูกทำลายไป จะถูกทำลายไปได้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือจะต้องทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง แล้วก็ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา ชำระจิตให้สะอาดหมดจด ให้จิตสงบนิ่ง ให้จิตมีแต่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้