กัณฑ์ที่
๘๙
พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นคำสอนที่มีคุณลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร
และไม่มีใครเหมือน
เป็นคำสอนที่ยากต่อการเข้าใจและเข้าถึงได้สำหรับปุถุชนที่ยังมีความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ครอบงำอยู่ในจิตใจ
เป็นคำสอนที่ตรงต่อหลักความจริง
เป็นสัจจธรรม
เป็นสวากขาตธรรม
เป็นธรรมที่ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว
คือถูกต้องตามความเป็นจริง
ไม่ได้มีการแต่งเติมทาสี
หรือมีการดัดแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดจากความเป็นจริงนั้นๆเลย
เป็นความรู้สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญบารมีมาเป็นเวลายาวนาน
จะสามารถเข้าถึงได้
เป็นบุคคลเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงหลักธรรมนี้ได้
คือพระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ
พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
มีเพียงบุคคลนี้เท่านั้นที่จะเข้าถึงหลักธรรมอันวิเศษนี้ได้
หลักธรรมนี้คืออะไร
คือหลักที่พระบรมศาสดาทรงแสดงไว้เสมอว่า
สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมทั้งหลายปราศจากตัวตน
ไม่มีตัว ไม่มีตน
นี่เป็นความจริงที่ไม่มีศาสดาของศาสนาใด
หรือลัทธิใดในโลกนี้จะสั่งสอน
จึงเป็นคำสอนโดยเฉพาะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
เป็นคำสอนที่จะนำให้ผู้ที่ศึกษาและนำเอาไปปฏิบัติอยู่เหนือความทุกข์
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
การพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง
การประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทั้งหลายได้
เหตุที่ปุถุชนอย่างเราอย่างท่านยังต้องมาเผชิญกับความเกิด
แก่ เจ็บ ตาย
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักและการประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนานั้น
ก็เพราะว่าใจของเรายังมีความหลง
มีความมืดบอดอยู่
ยังไม่เห็นสภาพความเป็นจริง
ของโลกนี้ว่าเป็นอย่างไรคือยังเห็นมีตัวมีตนอยู่
และเมื่อมีตัวมีตน
ก็มีการยึด มีการติด
มีความโลภ ความอยากตามมา
ถ้าได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้วปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนจะเห็นว่า
ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน
แม้แต่ผู้ที่แสดงธรรมอยู่ในขณะนี้
ถ้าได้ศึกษาเข้าไปถึงธรรมชาติของเขาแล้ว
จะเห็นว่าเขาก็ไม่ใช่ตัวตน
อย่างตัวเรานี้มีอะไรเป็นส่วนประกอบ
ก็มีกายและใจ
ร่างกายเป็นวัตถุ
คือประกอบขึ้นจากธาตุ
๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดินมีตัวตนหรือไม่
น้ำมีตัวตนหรือไม่
ไฟมีตัวตนหรือไม่
ลมมีตัวตนหรือไม่
เราก็เห็นอยู่ว่าไม่มีตัวตน
ธาตุ ๔
นี้เมื่อผสมผสานกันขึ้นมาก็เกิดเป็นผัก
ปลา อาหารชนิดต่างๆ
อาหารเหล่านี้มาจากอะไร
ถ้าไม่ได้มาจากธาตุ ๔ ดิน
น้ำ ลม ไฟ แล้วจะมาจากอะไร
แล้วจะเป็นตัวตนขึ้นมาได้อย่างไร
เมื่อเข้าสู่ร่างกาย
ก็แปลงสภาพเป็นอาการ
๓๒ คือ
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น
กระดูก ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้มีตัวตนหรือไม่
ผมนี้มีตัวตนหรือไม่
ขนนี้มีตัวตนหรือไม่
เล็บมีตัวตนหรือไม่
ฟันนี้มีตัวตนหรือไม่
เมื่อพิจารณาไล่ไปเรื่อยๆตามอาการทั้ง
๓๒
ก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีตัวตน
เป็นเพียงอาการที่ประกอบขึ้นจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
แล้วผู้ที่รู้สิ่งเหล่านี้มีตัวตนหรือไม่
ผู้ที่พิจารณานี้เป็นตัวตนหรือไม่
ถ้าพิจารณาเข้าไป
ผู้ที่พิจารณาก็คือใจ
ใจก็คือผู้รู้
ผู้รู้ก็ไม่ใช่ตัวตน
ผู้รู้ก็คือธาตุรู้ แล้วผู้ที่ปรุงแต่งว่าเป็นตัวเป็นตนคืออะไร
ก็คือสังขาร
สังขารเป็นตัวคิดปรุงแต่ง
เป็นตัวสร้างสมมุติขึ้นมา
คิดปรุงว่านี่คือเรา เป็นเรา
คิดว่านั่นเป็นเขา
เป็นความคิดเท่านั้นเอง
ที่คิดขึ้นมาจากใจ
เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา
โมหะความหลง
อวิชชาความไม่รู้จริง
จึงหลงติดอยู่กับสังขารความคิดปรุงแต่ง
ปรุงว่าเราเป็นเรา
เขาเป็นเขา สิ่งนั้นเป็นสัตว์
สิ่งนั้นเป็นบุคคล
แล้วก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นตามมา
เกิดตัณหาความอยากตามมา
เมื่อมีตัวตนแล้ว
ก็อยากจะให้ตัวตนนั้นอยู่ไปนานๆ
ถ้ามีอะไรเป็นของๆเรา
ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ
เช่นร่างกายนี้
ก็อยากจะให้มีอายุยืนยาวนาน
อยากจะไม่ให้แก่
อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวไปเรื่อยๆ
ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย
ไม่อยากจะเข้าโรงพยาบาล
ไม่อยากจะกินยา
ไม่อยากจะผ่าตัด
เป็นความอยากทั้งนั้น
สมบัติภายนอกก็เช่นกัน
เมื่อมีแล้วก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ
อยู่กับเราไปตลอดเวลา
สิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ปรารถนา
ก็ไม่อยากจะพบ ไม่อยากจะเห็น
เมื่อเกิดความอยากแล้วอะไรจะตามมา
สิ่งที่ตามมาก็คือความทุกข์นั่นเอง
เพราะเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ
ก็จะไม่สบายใจ
เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
หรือสิ่งที่ชอบที่รักเกิดสูญหายไป
พลัดพรากจากไป
ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ทั้งๆที่เวลามาเกิดในโลกนี้
ก็มากับใจดวงเดียว
ที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ
โดยอาศัยธาตุของพ่อของแม่ที่ผสมกัน
แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นมาในท้องของแม่
เมื่อโตแล้วก็คลอดออกมา
ออกจากท้องแม่มาก็มีร่างกายกับใจ
เมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมาเต็มที่
ก็ไปหาสิ่งต่างๆมาครอบครอง
จากตัวคนเดียวก็กลายเป็นสองคนคือมีสามี
มีภรรยา แล้วก็มีลูกๆตามออกมาอีก
สิ่งเหล่านี้มาจากอะไร
ถ้าไม่ได้มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ
ลม ไฟ มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นหญิง
เป็นชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่
แล้วก็จะค่อยๆแก่เฒ่าลงไป
และสลายไปในที่สุด
เมื่อสลายไปแล้วใจผู้ครอบครองร่างกายนี้ก็ต้องเดินทางต่อไป
ตามความอยาก ตามความหลง
ให้ไปหาร่างใหม่ ไปสู่ภพใหม่
ชาติใหม่ แล้วก็เริ่มต้นใหม่
มีสามี มีภรรยา มีลูก
มีสมบัติพัสถาน
ข้าวของต่างๆ
มีอุปาทานความยึดติด
อยากให้สิ่งเหล่านั้นอยู่กับตนไปนานๆ
ให้มีมากๆ ให้มีอยู่ไปนานๆ
ถ้าไม่สมอยากก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
เวลาต้องจากคนรักไปหรือคนรักต้องจากไป
ก็เกิดความทุกข์
ความไม่สบายใจขึ้นมา
แม้เพียงแต่คิดเฉยๆก็ทุกข์ขึ้นมาแล้ว
เพราะรู้ว่าทุกๆคนที่เกิดมานี้
ต้องแก่ ต้องตายกัน
คนที่เรารักก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
ต้องตายจากไปเหมือนกัน
เพียงแต่คิดถึงเท่านั้นก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
ความทุกข์ใจเกิดจากการขาดธรรมะแสงสว่าง ไม่เข้าใจถึงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า
สัพเพ ธัมมา อนัตตา
สภาวธรรมทั้งหลายปราศจากตัวตน
ไม่มีตัวตนในสัตว์ ในบุคคล
เป็นสมมุติเท่านั้นเอง
ความจริงแล้ว
สัตว์กับบุคคลประกอบขึ้นจากธาตุ
๖ คือ ดิน น้ำ
ลม ไฟ อากาศ
และธาตุรู้คือใจนั่นเอง
เมื่อรวมกันเข้าแล้วก็กลายเป็นมนุษย์
กลายเป็นสัตว์
เป็นบุคคลขึ้นมา
มีการเจริญเติบโต
มีการเสื่อม มีการแตกสลายไป
แล้วก็รวมกันขึ้นมาใหม่
เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะใจที่มืดบอดด้วยโมหะ
อวิชชา
ไปยึดไปติดไปกับธาตุทั้ง ๕
คือดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ
ว่าเป็นของๆตน
หลงว่าผู้รู้คือตัวตน
ความจริงแล้วผู้รู้นี้ก็หาใช่ตัวตนไม่
เป็นสักแต่ว่าธาตุ
เป็นธาตุรู้
แต่เมื่อไม่มีใครบอก
ไม่มีใครสอน
ก็เลยหลงว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
เมื่อมีตัวมีตนแล้วก็ต้องออกไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาครอบครอง
เพราะหลงคิดว่าความสุขเกิดจากการมีสิ่งต่างๆ
อยู่คนเดียวรู้สึกว่าไม่มีความสุข
ถ้ามีสามี
มีภรรยาแล้วจะมีความสุข
และหลังจากที่มีสามี
มีภรรยาแล้ว ก็คิดว่า
ถ้ามีลูกก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้นไปอีก
ซึ่งเป็นความหลงทั้งนั้น
เพราะว่าเมื่อหลงกับสิ่งเหล่านี้แล้ว
ความทุกข์ความกังวลก็จะเกิดขึ้นตามมา
ถ้ารักสามี รักภรรยา
ก็อยากจะให้สามี
ภรรยาอยู่กับเราไปนานๆ
ต้องซื่อสัตย์กับเรา
ไม่แบ่งใจให้กับผู้อื่น
ถ้าเกิดเขาไม่ได้เป็นไปดังที่เราต้องการ
อะไรจะเกิดขึ้นมา
ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมา
ความเศร้าโศกเสียใจก็จะเกิดขึ้นมา
ความโกรธแค้นก็จะเกิดขึ้นมา
การทำบาปจะก็เกิดตามขึ้นมา
เมื่อคนที่เรารักไม่เป็นไปตามความปรารถนาแล้ว
ถ้าไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้
ก็จะต้องไปทำบาปทำกรรม
ทำร้ายคนที่เรารัก
เพราะใจไม่มีธรรมะ
ไม่มีสติคอยยับยั้ง
คอยดึงไว้ ปล่อยให้ความหลงพาไป
เมื่อเกิดความทุกข์
เกิดความเสียใจขึ้นมา
ก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์
ควบคุมใจไว้ได้
จึงไปสร้างบาปสร้างกรรม
แล้วก็มีวิบาก
คือผลของกรรมตามมา
ทำให้ไปเกิดในอบาย ๔ คือ นรก
เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย
ที่เกิดของผู้ที่กระทำบาปทั้งหลาย
เรื่องราวที่เกิดขึ้นมานี้ก็เกิดขึ้นมาเพราะความหลง
ความมืดบอดในใจของเรา
ไม่เข้าใจธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเราคือกายกับใจ เราไปหลงว่าใจนี้เป็นเรา
และร่างกายนี้เป็นตัวเรา
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็มีความยึดมั่นถือมั่น
มีความปกป้องรักษา
มีความพยายามที่จะต้องดูแลให้กายของเรามีแต่ความสุข
และความหลงของใจก็บอกเราว่า
ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีสิ่งของต่างๆ
มีทั้งวัตถุ มีทั้งบุคคลมาเป็นสมบัติของเรา
มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ
มีกามสุข
เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องดิ้นรนออกไปขวนขวายหาสิ่งต่างๆมา
เมื่อหามาได้แล้วกลับไม่มีความสุขดังที่ได้คิดไว้
เพราะธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้
ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง
เมื่อได้มาแล้วแทนที่จะมีความสุข
กลับไม่มีความสุข
ที่ไม่มีความสุขเพราะอะไร
เพราะไม่อิ่ม ไม่พอ
ยังต้องการเพิ่มขึ้นอีก
บางคนมีภรรยาหรือสามีอยู่คนหนึ่งแล้วยังไม่พอ ยังต้องออกไปหาเพิ่มขึ้นมาอีก
บางคนมีถึง ๒ มีถึง ๓ มีถึง
๔ นี่ก็เป็นเพราะความหลงพาให้เป็นไป
เพราะไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจของเรานี่เอง
อยู่ในใจที่สงบ
ถ้าตราบใดใจไม่สงบ ใจก็จะดิ้นรนแสวงหาความสุขจากภายนอก จะแสวงหามาได้มากน้อยแค่ไหน
ก็จะไม่พบความสุข เพราะความสุขไม่ได้อยู่ภายนอก
แต่อยู่ภายใน
อยู่ในใจที่สงบ
ถ้ายังไม่รู้เรื่องเหล่านี้
เราก็จะวิ่งออกไปหาสิ่งต่างๆภายนอก
ไม่มีที่สิ้นสุด
ตายไปจากชาตินี้
ก็ไปแสวงหาชาติหน้าต่อไป
แล้วก็จะเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ
จนกว่าจะได้มาพบพระพุทธเจ้า
ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วพิจารณาตามจนเข้าใจ
ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ในใจ
อยู่ที่ความสงบ
และใจจะสงบได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจหลักธรรมที่ว่า
ไม่มีอะไรมีตัวมีตน
ถ้าละตัวตนได้
เราก็ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรภายนอก
เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว
ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นคนรวย
ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงๆ
ไม่จำเป็นจะต้องมีคนมาสรรเสริญเยินยอ
ไม่จำเป็นจะต้องมีกามสุข
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของหลอก
เป็นของปลอม
ไม่ใช่เป็นของจริง
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปกติของเขา
ถ้าปล่อยให้เขาเป็นไปตามปกติ
ปล่อยให้ดิน น้ำ ลม ไฟ
เป็นไปตามสภาพของเขา
ไม่ไปยึด ไม่ไปติด
ไม่ไปครอบครองแล้ว
เราก็จะไม่มีความทุกข์กับสิ่งเหล่านี้
แต่ถ้ายังมีความหลงอยู่
ยังหลงว่ามีตัวมีตนอยู่
เราก็อยากจะเป็นตัวตนที่มีศักดิ์ศรี
จึงต้องมีเครื่องเสริมศักดิ์ศรี
คือมีเงินมีทอง
มีตำแหน่งมียศนั่นเอง
มีคนคอยยกย่องสรรเสริญ
มีบริษัทมีบริวาร
มีเครื่องอำนวยความสุขรอบตัว
เมื่อมีแล้วก็อยากจะให้มีไปนานๆ
เมื่อสูญหายไป หมดไป
ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ถึงแม้พวกเราจะมีอะไรมากมายอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถบอกกับตัวเราเองได้ว่า
ไม่มีความทุกข์ใจเลย
เพราะเรายังมีความทุกข์ใจอยู่
เพราะยังมีตัวตนอยู่
ยังไม่ปล่อยวาง
ไม่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามสภาพของเขา
อะไรจะมาก็ให้เขามา
อะไรจะไปก็ให้เขาไป
ไม่ต้องกลัว
เพราะใจสามารถรับรู้กับการไปการมาของทุกๆสิ่งได้
สามารถรับรู้เรื่องการเกิด
การแก่ การเจ็บ
การตายของร่างกายนี้ได้
เพราะใจกับกายไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกัน
แต่ใจที่มีความหลง
กลับไปหลงคิดว่ากายคือใจ
กายคือตัวเรา เป็นตัวเป็นตน
และเมื่อกายเกิดเป็นอะไรขึ้นมา
ใจก็ตกอกตกใจตามไปด้วย
ใจก็กลัวตามไปด้วย
ทั้งๆที่ใจเป็นธรรมชาติที่ไม่ตาย
ไม่มีอะไรทำลายใจนี้ได้
แม้กระทั่งระเบิดนิวเคลียร์ก็ไม่สามารถทำลายใจนี้ได้
แต่เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา
ความหลง
จึงทำให้ใจยังต้องทุกข์อยู่ด้วยความกลัว
ความที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของใจว่าไม่มีอะไรจะทำลายใจได้
และความไม่รู้ว่าความสุขมีพร้อมอยู่ในใจแล้ว
ไม่ต้องไปหาอะไรมาเพิ่ม
ใจมีครบถ้วนทุกอย่างแล้ว
ไม่มีอะไรจะดีเท่ากับความสุขใจ ทำให้เราต้องออกไปหาความสุขจากของภายนอก
แต่แทนที่จะมีความสุข
เรากลับมีความทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีก
ลองคิดดูซิเวลาอยู่คนเดียว
เรามีความทุกข์มากน้อยแค่ไหน
เมื่ออยู่กับอีกคนหนึ่ง
แล้วมีลูกอีก ๒ หรือ ๓ คน
ความทุกข์เพิ่มขึ้นอีกกี่เท่า
นี่ก็เห็นได้ชัดอยู่
แต่เราไม่คิดกัน
เมื่อไม่คิดกัน
ก็เลยหลงติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้
ทั้งๆที่รู้ว่าต่อให้รักขนาดไหนก็ตาม
หลงติดอยู่มากขนาดไหนก็ตาม
ก็ไม่สามารถรั้งให้สิ่งเหล่านี้อยู่กับเราไปได้ตลอด
สักวันหนึ่งเขาไม่จากเราไป
เราก็ต้องจากเขาไป
เพราะเป็นธรรมชาติของโลกนี้
ไม่มีอะไรจะอยู่คู่กันไป
อยู่ร่วมกันไปได้ตลอด
สักวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากกัน
ถ้าไม่มีปัญญา
ไม่มีธรรมะ
ไม่เข้าใจหลักธรรมนี้แล้ว
เราก็จะมีแต่ความทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ไปตลอด
แต่ถ้ามีปัญญา มีธรรมะ
เข้าใจในหลักธรรมที่ว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการจากกันไปเป็นธรรมดา
เราไม่สามารถไปยึด
ไปครอบครองไว้
ว่าเป็นของๆเรา
ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจากเราไปในที่สุด
ถ้าเข้าใจแล้วเราก็จะปล่อยวาง
ไม่ไปยึด ไม่ไปติด
ไม่ไปอยากกับสิ่งต่างๆเหล่านั้น
มีอยู่ก็อยู่ไป
เมื่อถึงเวลาจะจากไปก็จากไป
ถ้าทำใจได้แล้ว
เราจะมีความสุขใจขึ้นมาทันที
ถึงแม้สิ่งต่างๆเหล่านั้นยังอยู่กับเราอยู่
เราจะไม่กังวลกับเขา
นี่แหละคือความวิเศษของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
สอนให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อเข้าใจแล้วเราก็จะไม่ไปยึด
ไม่ไปติด
ไม่ไปอยากกับสิ่งเหล่านั้น
ถึงแม้จะไม่มีอะไรเลย
เชื่อไหมว่าเราก็อยู่ได้
เราก็มีความสุขได้
ถึงแม้จะไม่มีข้าวกินสักมื้อหรือสองมื้อ
เราก็จะไม่ตาย
ถ้าควบคุมใจได้แล้วไม่มีปัญหาอะไร
ความหิวของร่างกายไม่ใช่เป็นความทุกข์ที่รุนแรงเท่ากับความหิวของใจ
ความหิวของใจรุนแรงมาก
ถึงแม้เพิ่งรับประทานอาหารเสร็จไปหยกๆ
ถ้าเกิดใจอยากจะกินขึ้นอีก
แล้วไม่ได้กินดังใจ
ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาอีก
ทั้งๆที่ร่างกายยังมีอาหารเต็มท้องอยู่ก็ตาม
เพราะความทุกข์เกิดจากความหลง
เมื่อเกิดความหลงแล้ว
ก็เกิดความอยากตามขึ้นมา
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้แก้ปัญหาที่แท้จริง
ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ภายนอก
ปัญหาภายนอกเราไปแก้ไม่ได้
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามธรรมชาติ
เหมือนกับดินฟ้าอากาศ
เราไปควบคุมดินฟ้าอากาศไม่ได้
เราไปบังคับให้ฝนตกวันนี้
หรือไม่ให้ฝนตกวันนี้
เราไปบังคับไม่ได้
เราไปบังคับให้คนนั้นคนนี้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้
เราไปบังคับให้เศรษฐกิจมันดีไปตลอดเวลาไม่ได้
ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัยของเขา
เขาต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
หมุนไปเวียนมา
เหมือนกับวันกับคืนก็หมุนไปเวียนมา
ตอนนี้เป็นตอนเช้า
เดี๋ยวก็ต้องเย็น
เดี๋ยวก็เป็นตอนกลางคืน
แล้วเดี๋ยวก็ต้องเวียนกลับมาเป็นตอนเช้า
เป็นตอนกลางวันอีก
นี่คือลักษณะของโลกนี้
หมุนไปเวียนมา
มีการเจริญมีการเสื่อม
มีการขึ้นๆ
ลงๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
ถ้าเรามัวแต่ไปคอยปรับ
ไปคอยแก้ไขให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการ
เราก็จะเป็นบ้า
เราจะต้องทุกข์
แล้วในที่สุดดีไม่ดีเราก็จะต้องถึงกับฆ่าตัวตาย
เพราะอะไรคนถึงต้องฆ่าตัวตายกัน
ก็เพราะไม่สมหวัง
ไม่สามารถทำให้สิ่งต่างๆเป็นไปดังที่ตนต้องการได้
เมื่อไม่เป็นไปตามความต้องการแล้ว
ก็ทนอยู่ไม่ได้
เมื่อทนอยู่ไม่ได้ก็เลยต้องฆ่าตัวตาย
นี่แหละคือปัญหาของพวกเรา
เราไปแก้ปัญหาที่ภายนอกใจ
ทั้งๆที่ต้นเหตุของปัญหาอยู่ภายในใจ
ก็คือความไม่รู้ ความหลง
ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน
ถ้าได้ยินได้ฟัง
ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว
จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจ
อยู่ที่ใจสงบ
ใจจะสงบได้ก็ต่อเมื่อตัณหาความอยาก
ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไป ต้องทำลาย
กามตัณหา ความอยากในกาม
ภวตัณหา
ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
นี่ต่างหากคือปัญหา
ถ้าเราหันเข้ามาดูที่ใจของเรา
แล้วมาชำระใจของเรา
ต่อสู้กับความอยากทั้ง ๓ นี้
เวลาอยากก็อย่าไปอยากตามฝืนไว้
ต่อสู้ไว้
จนสามารถทำลายความอยากเหล่านี้ให้หมดไปได้
ใจจะมีแต่ความสงบ
มีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพอ
เมื่อมีความอิ่ม มีความสุข
มีความพอแล้ว
สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นภายนอกใจ
จะไม่เป็นปัญหากับใจอีกต่อไป
เพราะใจรู้ว่าเป็น สัพเพ
ธัมมา อนัตตา
เขาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถไปควบคุม
ไปบังคับ
ให้เป็นไปดังที่เราต้องการได้
ร่างกายจะแก่ก็ต้องแก่
เมื่อถึงเวลาจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
ถึงเวลาจะต้องตายก็ต้องตาย
เช่นเดียวกับร่างกายของคนอื่น
ของคนที่เรารัก
หรือของคนที่เราไม่รักก็ตาม
ของคนที่เราเกลียดก็ตาม
ก็เป็นแบบเดียวกัน
เดี๋ยวถึงเวลาเขาก็แก่
เขาก็เจ็บ เขาก็ตายไป
เราจะไปโกรธไปเกลียดเขาทำไม
เดี๋ยวเขาก็ตายไปเอง
เราไม่ต้องไปฆ่าเขาหลอก
เดี๋ยวถึงเวลาเขาก็ตายของเขาไปเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
เราทำไมต้องไปเดือดร้อนใจด้วย
ที่เราเดือดร้อนใจก็เพราะว่าใจเรามันโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง
เราไม่เข้าใจถึงธรรมชาติ
เราไม่เข้าใจถึงคำว่า สัพเพ
ธัมมา อนัตตา ถ้าเราเข้าใจแล้วเราก็จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อเราปล่อยวางแล้วใจเราก็จะสงบ
เมื่อสงบแล้วใจเราก็อิ่ม
ใจเราก็พอนั่นเอง
เมื่อพอแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหาอะไรอีก
ไม่จำเป็นต้องไปหาลาภ หายศ
หาสรรเสริญ หากามสุขที่ไหน
อีกต่อไป
ดูพระพุทธเจ้า
ดูพระอรหันตสาวกทุกๆรูปซิ
หลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว
จิตของท่านได้ทำลายความอยากทั้ง
๓ ให้หมดสิ้นไปจากใจแล้ว
ท่านไปหาอะไรบ้าง
ท่านก็ไม่มีอะไร
ท่านก็อยู่ไปวันๆหนึ่ง
ดูแลรักษาร่างกายไปตามอัตภาพของท่าน
เมื่อยังไม่ตายก็อยู่ต่อไป
เมื่อตายก็จบ
แต่ในขณะที่ยังไม่ตาย
ท่านก็ใช้ร่างกายนี้
มาทำประโยชน์ให้กับโลก
มาสั่งสอน
เอาธรรมะความรู้อันนี้แหละที่ท่านรู้
มาสั่งสอนพวกเรา
บอกพวกเราว่า
พวกเราเอ๋ยอย่าไปหลงกับความสุขภายนอกนะ
สิ่งต่างๆภายนอกไม่ใช่ความสุข
เงินทองไม่ใช่ความสุข
ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่ใช่ความสุข
การสรรเสริญเยินยอไม่ใช่ความสุข
รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ไม่ใช่ความสุข
อย่าไปแสวงหาสิ่งเหล่านี้
พยายามตัดเสีย
ตัดความอยากในสิ่งเหล่านี้
ต่อสู้กับความอยาก
อย่าไปอยากกับสิ่งเหล่านี้
สู้ด้วยอะไร
สู้ด้วยธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
สู้ด้วยการทำบุญให้ทาน
สู้ด้วยการรักษาศีล
สู้ด้วยการนั่งสมาธิ
ไหว้พระสวดมนต์
สู้ด้วยการเจริญวิปัสสนา
เจริญปัญญา นี่แหละคือเครื่องมือ
ที่จะทำให้เราชนะความอยากทั้งหลายที่มีอยู่ในใจได้
และเมื่อได้ชำระสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจหมดแล้ว
เราก็จะหมดปัญหากับทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะใจเราอิ่ม
ใจเราพอนั่นเอง
ใจเราจะไม่เดือดร้อนกับอะไรรอบข้างตัวเรา
อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่เดือดร้อน
จะมีสงครามเกิดขึ้นก็ไม่เดือดร้อน
เศรษฐกิจจะตกต่ำก็ไม่เดือดร้อน
เพราะได้ปล่อยวางหมดแล้วด้วย
สัพเพ ธัมมา อนัตตา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้