กัณฑ์ที่ ๙๐     ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๔

กาย กับ ใจ

 

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับตัวของเราเองบ้าง คือจะศึกษาเรื่องของตัวเรา เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆที่ไม่ใช่เรื่องของเรามามากแล้ว  เราสามารถไปรอบโลกได้  สามารถไปโลกพระจันทร์ได้ สามารถสร้างทำอะไรได้หลายอย่าง มากมายก่ายกองด้วยกัน   แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่สามารถสร้างให้กับตัวเราได้ก็คือความสงบสุข  เพราะว่าเราไม่เคยได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของตัวเรา  เราไม่ทราบว่าอะไรทำให้เรามีความสุข อะไรทำให้เรามีความทุกข์  เพราะขาดปัญญา มีแต่ความโง่เขลาเบาปัญญา  โมหะอวิชชาครอบงำจิตใจ  แต่เราก็ไม่เคยสนใจที่จะหันเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องตัวของเราเองเลย หรือแม้แต่พ่อแม่ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราที่โรงเรียน เขาก็ไม่เคยสั่งสอนให้เราเข้ามาดูตัวของเราเลย มาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องตัวของเราเลย

แต่กลับสอนให้เราไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอย่างอื่นหมด  เพราะเขาต้องการให้เรามีความรู้เพื่อที่จะได้เอาความรู้นี้ ไปทำมาหากิน หารายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเรา แต่ความรู้ที่เราได้เรียนรู้จากทางโลกทางโรงเรียนนั้น เป็นความรู้ที่ไม่สามารถยังความสุขที่แท้จริงให้กับเราได้  ต่อให้เรียนจบปริญญาเอก ได้ทำงานทำการ มีเงินทอง มีรายได้มากมายขนาดไหนก็ตาม ก็ยังจะไม่สามารถนำมาซึ่งความสุข ความสงบให้กับจิตใจได้ เพราะว่าความสงบนั้นเกิดขึ้นจากตัวเราเอง เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง และความทุกข์ความวุ่นวายมันก็เกิดขึ้นจากตัวเราเองเช่นกัน ถ้าไม่ศึกษาตัวเรา เราก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะสร้างความทุกข์ ความวุ่นวาย ความไม่สบายใจให้กับเรา อะไรเป็นเหตุที่จะสร้างความสงบ ความสุข ความสบายใจให้กับเรา  ถ้าเราไม่หันเข้ามาศึกษาตัวของเราเอง จึงเป็นความโชคดีของพวกเราที่ได้มาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระศาสนาที่สอนเกี่ยวกับเรื่องตัวของเราเองโดยตรง  สอนให้เรารู้จักตัวเราเองว่า ตัวเรานั้นเป็นอย่างไร มีเหตุอันใดที่สร้างความสุขและสร้างความทุกข์ให้กับเรา  ถ้าเราน้อมเอาพระศาสนา คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาศึกษา แล้วนำไปปฏิบัติแล้ว  เชื่อได้เลยว่าชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง

วันนี้จึงขอถือโอกาสพาท่านมาศึกษา มาทำความรู้จักกับตัวของเรา ตัวของท่านว่าเป็นอย่างไร ตัวเราประกอบขึ้นด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ กาย กับ ใจ กายเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ สัมผัสได้ แตะต้องได้ มีส่วนสัด คือมีความกว้าง ความยาว ความลึก ส่วนใจนี้เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ สัมผัสได้ ไม่สามารถวัดได้ว่ามีความกว้าง ความยาว ความลึกมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยธรรมะเป็นกระจกส่องดู  ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว เราจะไม่สามารถมองเห็นใจและเข้าใจถึงธรรมชาติของใจเราได้ นี่คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา คือองค์ประกอบสำคัญใหญ่ๆมีอยู่ ๒ ส่วน กายกับใจ กายเป็นรูปธรรม  เป็นวัตถุธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุ ๔ นี้มาในรูปของอาหารที่เรารับประทานเข้าไป  เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ก็แปลงสภาพเป็นอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อวัยวะต่างๆที่มีอยู่ภายในร่างกาย  เรียกว่าธาตุขันธ์ คำว่าธาตุก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์แปลว่ากอง จึงเรียกว่ากองธาตุ เหมือนกับเอาอิฐ เอาทราย เอาปูน เอาน้ำมากองรวมไว้เป็นกองหนึ่ง แล้วผสมกันเข้าไปจนกลายเป็นอาคาร  อย่างอาคารหลังนี้ก็เกิดจากการรวมตัวของอิฐ หิน ปูน ทราย เหล็กและวัตถุต่างๆ จึงเป็นรูปร่างอาคารนี้ขึ้นมาได้ 

ฉันใดร่างกายของเรา หรือธาตุขันธ์นี้ก็เช่นกัน  ธาตุขันธ์นี้ก็มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในรูปอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ในรูปน้ำที่เราดื่มเข้าไป ในรูปของอากาศที่เราหายใจเข้าหายใจออกอยู่นี่ นี่คือลักษณะของธาตุขันธ์ โดยธรรมชาติของธาตุขันธ์เป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่งกับที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการก่อตัวขึ้น มีการตั้งอยู่ แล้วก็มีการเสื่อม มีการสลายไปในที่สุด ทุกๆคนที่เกิดมาจึงต้องผ่านการแก่ การเจ็บ และการตาย  นี่เป็นธรรมชาติของธาตุขันธ์ หรือของร่างกายอันนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่เกิดมาในโลกนี้ ที่มีร่างกายอันนี้ จะต้องเป็นอย่างนี้ทุกๆคน  เพราะนี่คือธรรมชาติของธาตุขันธ์ ธรรมชาตินี้ไม่มีตัวตน  ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตนอยู่ในร่างกายนี้ มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น ที่อยู่ในร่างกายนี้ เป็นสภาพที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดก็จะมีการแตกสลายแยกกลับสู่ธาตุเดิม ธาตุที่อยู่ในร่างกายนี้ก็จะไหลออกไป ไหลกลับคืนสู่สภาพเดิม กลับคืนสู่น้ำ กลับคืนสู่ลม กลับคืนสู่ดิน กลับคืนสู่ไฟ จึงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ปราศจากตัวตน จะเอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟมาเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้

เหมือนกับจะเอาของในกระแป๋งสังฆทานนี้มาเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร มันก็ทำมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นกัน ต่างตรงที่ว่าสิ่งของที่อยู่ในกระแป๋งสังฆทานนี้ไม่มีใจสิงสถิตอยู่ ครอบครองอยู่ เลยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ร่างกายของเรานี้มีใจเข้ามาครอบครองอยู่ จึงเคลื่อนไหวได้ แต่ใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวตนเช่นกัน ใจนี้ก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง เรียกว่าธาตุรู้  ร่างกายมีธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีใจที่เป็นธาตุรู้ เป็นผู้มาครอบครองร่างกาย แล้วก็สั่งให้ร่างกายไปกระทำการต่างๆ ถ้าร่างกายไม่มีใจแล้ว ร่างกายก็กลายเป็นซากศพไป  สมมุติว่าพวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ในศาลานี้ ไม่มีใจเหลืออยู่แล้ว เหลือแต่ร่างกาย ร่างกายก็จะเป็นเพียงแต่ซากศพ  นั่งอยู่ตรงไหนก็จะนั่งอยู่ตรงนั้น นอนอยู่ตรงไหนก็จะต้องนอนอยู่ตรงนั้น  ถ้าไม่มีใครมายก มาขยับมาเคลื่อนย้ายไป มันก็จะค่อยๆสลายไป กลับคืนสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  แต่ถ้ายังมีใจอยู่ ใจก็ยังพอประคับ ประคองดูแลรักษาธาตุขันธ์ คือร่างกายนี้ให้เป็นไปต่อไปได้ เท่าที่อัตภาพหรือสภาพของธาตุขันธ์จะอำนวยให้เป็นไปได้  ชีวิตของเราก็ยังดำเนินอยู่ได้ เพราะร่างกายยังมีใจคอยดูแลรักษาอยู่ 

แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ใจก็ไม่สามารถที่จะดูแลรักษาร่างกายนี้ไปได้ตลอด สักวันหนึ่งกายกับใจก็ต้องแยกทางเดินกัน กายก็ต้องกลับคืนสู่สภาพเดิม คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ใจก็ต้องไปต่อที่เรียกว่าไปสู่สัมปรายภพ คือไปสู่ภพหน้า ชาติหน้า ไปหาร่างกายอันใหม่ หาธาตุขันธ์อันใหม่ จะได้ธาตุขันธ์ที่ดี ที่เลว ที่หยาบ หรือละเอียด ก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดี หรือความชั่ว บุญหรือกรรม ที่ได้สะสมกันมาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน  ถ้าได้สะสมบุญไว้มาก ก็จะไปสู่สุคติ สู่ภพชาติที่ดี ได้ร่างกายที่ดี ถ้าไม่ได้ร่างกายของมนุษย์ที่สวยงาม ก็จะได้ร่างกายทิพย์ เป็นร่างกายของเทพ ของพรหม หรือได้ร่างของพระอริยบุคคลที่เรียกว่าธรรมกาย  นี่คือการไปของใจที่มีบุญกุศล เมื่อต้องแยกทางจากร่างกายแล้วก็ต้องไปต่อ  ถ้าใจได้สะสมแต่บาปแต่กรรมไว้มาก เมื่อแยกกับร่างกายนี้แล้ว ก็ต้องไปสู่ที่ต่ำที่เรียกว่าอบายภูมิ  เป็นที่อยู่ของเดรัจฉาน ของเปรต ของอสุรกาย ของสัตว์นรกทั้งหลาย คือใจนี้แหละที่จะเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉาน  ตามสภาพที่เกิดขึ้นจากการกระทำบาป ทำให้ใจเป็นใจที่สกปรก มีกิเลส มีอาสวะ มีกรรมที่ทำให้คุณภาพของใจนี้เสื่อมไป

ทีนี้เราต้องมาทำความเข้าใจว่าใจนี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ใจนี้เป็นธาตุรู้ โดยลำพังแล้วถ้าใจไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับอะไร ใจนิ่งอยู่เฉยๆ ใจก็จะมีแต่สักแต่ว่ารูเท่านั้นเอง เป็นคุณลักษณะของใจ แต่ใจก็มีอาการต่างๆอยู่ ๔ อาการด้วยกันที่เรียกว่านามขันธ์ ๔ คือมเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์  สัญญา ความจำได้หมายรู้   สังขาร ความคิดปรุงแต่ง วิญญาณ การรับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ปรากฏขึ้นมาให้ใจได้รู้ว่า มีรูปปรากฏขึ้นมาแล้ว มีเสียงปรากฏขึ้นมาแล้ว มีกลิ่นปรากฏขึ้นมาแล้ว มีรสปรากฏขึ้นมาแล้ว มีสัมผัสต่างๆร้อน หนาว แข็ง อ่อน ปรากฏขึ้นมาแล้ว มีธรรมารมณ์ต่างๆปรากฏขึ้นมาแล้วก็ดับไป มีการเกิดดับๆอย่างต่อเนื่อง เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้เสมอไป ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์ นามขันธ์ทั้ง ๔ จึงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ใจเป็นผู้ที่มีปฏิกิริยากับสิ่งเหล่านี้ ถ้าเป็นใจที่ฉลาดก็จะมีปฏิกิริยาที่เรียกว่าปกติ คือไม่เกิดความโลภ เกิดความหลง เกิดความโกรธกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส แต่ถ้าเป็นใจที่มีแต่ความหลง มีแต่ความมืดบอด ความโง่เขลาเบาปัญญาก็จะเกิดอาการยินดี ยินร้าย เกิดความรัก ความชัง ความหลง ความกลัวขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นปกติของใจที่ยังไม่ได้รับการอบรม ได้รับการสั่งสอน จะมีความหลงว่าใจเป็นตัวตน ว่าร่างกายเป็นตัวเรา ใจเป็นตัวเรา เป็นของๆเรา ถ้ามีอะไรมาสัมผัสกับร่างกายที่ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา ใจก็จะเกิดความรัก เกิดความชอบขึ้นมา แต่ถ้ามีอะไรมาสัมผัสกับกายแล้วจะสร้างความเสื่อมเสีย สร้างความทุกข์ สร้างความเจ็บให้กับร่างกาย ก็จะเกิดความชัง เกิดความกลัว ทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มาแตะต้องหรือมาทำร้ายใจเลยสักนิดเดียว เพราะว่าใจเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรจะสามารถเข้าไปแตะต้อง เข้าไปทำลายได้

สิ่งที่จะสร้างปัญหาให้กับใจจึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก แต่เป็นสิ่งที่อยู่ภายในใจนั่นเอง คือความมืดบอด ความโง่เขลาเบาปัญญาที่เป็นธรรมชาติของปุถุชนคนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่าน  ยังเป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญาอยู่ ยังถูกความมืดบอด อวิชชา ความหลงครอบงำใจอยู่ จึงยังมีความรู้สึกว่าเรามีตัวตนอยู่ ว่าร่างกายนี้เป็นตัวตน ความคิดของเราว่าเราเป็นคนคิด ความรู้สึกว่าเราเป็นคนรู้สึก ความจำว่าเราเป็นคนจำ เวลารับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เราเป็นผู้รับรู้ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เรา เราเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอวิชชา ความมืดบอดเท่านั้นเอง ถ้าได้เข้ามาศึกษาฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงสอนให้เราเข้าใจว่า ธาตุขันธ์ก็ดีหรือใจก็ดี เป็นธรรมชาติ เป็นสภาวธรรม เป็นธาตุ ร่างกายก็เป็นธาตุ ๔ ใจก็เป็นธาตุรู้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตน  ไม่มีตัวตนอยู่ในสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เขาทำหน้าที่ของเขาไปตามเรื่องของเขา เหมือนกับพัดลมที่กำลังหมุนอยู่นี้ ก็ไม่มีตัวตนไปทำให้พัดลมนี้หมุน เป็นธรรมชาติที่เป็นกระแสไฟฟ้าเข้าไปทำให้พัดลมนี้หมุนได้ แต่ถ้าเป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญาก็อาจจะคิดว่ามีใครสักคนหนึ่งทำให้หมุนอยู่ ดังเช่นที่มีความคิดของคนบางคนที่คิดว่าโลกนี้มีคนสร้างขึ้นมา มีพระเจ้าสร้างขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น

นี่ก็เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของคนนั้นเอง คิดไปเองว่าต้องมีใครสร้างขึ้นมา แต่ถ้าได้ศึกษาจริงๆแล้ว และปฏิบัติธรรมแล้ว จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนเลยสักนิดเดียว ค้นหาไปที่ตรงไหนก็ไม่มีตัวตน เข้าไปค้นหาในร่างกายก็หาตัวตนไม่เจอ ก็มีแต่อาการ ๓๒ ถามผมดูว่าเป็นตัวตนหรือเปล่า ผมก็บอกว่าไม่ใช่ ขนเป็นตัวตนหรือเปล่า ขนก็ไม่ใช่ เล็บก็ไม่ใช่ ฟันก็ไม่ใช่ หนังก็ไม่ใช่ กระดูกก็ไม่ใช่ ปอด หัวใจ ตับ ไต ไส้ พุง ก็ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น แล้วตัวตนอยู่ตรงไหน ตัวตนอยู่ที่ผู้รู้หรือผู้คิด ถ้าพิจารณาเข้าไปเวลาทำจิตให้สงบ เมื่อจิตหยุดนิ่งแล้ว ไม่มีความคิดปรุงก็ไม่มีตัวตนเหลืออยู่เลย มีแต่สักแต่ว่ารู้อยู่เท่านั้นเอง แล้วจะไปหาตัวตนที่ตรงไหน เป็นสิ่งที่เราโมเมกันขึ้นมา กุกันขึ้นมา แล้วก็หลงตาม เชื่อกันไปเท่านั้นเอง เพราะความมีตัวตนนี้แหละจึงสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อมีตัวตนแล้วก็จะเกิดตัวตนที่รักตัวกลัวตายขึ้นมา รักความสุข กลัวความทุกข์ขึ้นมา ก็เลยทำให้เกิดมีความอยาก อยากจะมีแต่ความสุข ไม่อยากจะมีความทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้นใจก็ต้องดิ้นรน เวลาประสบกับสิ่งที่ทุกข์ยากลำบากก็ต้องวิ่งหนี เวลาเห็นความสุขก็พยายามที่จะดึงเอาไว้ เวลาพบกับความสุขก็พยายามที่จะเหนี่ยวรั้งดึงไว้ เวลาความสุขนั้นหมดไปก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เป็นผลดีที่เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของใจนั่นเอง ที่ไม่มีใครสั่งสอนให้ทำความเข้าใจว่า ธรรมชาติธาตุแท้ของใจนั้นเป็นอย่างไร แล้วความสุขที่จะเกิดขึ้นในใจนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว พระพุทธเจ้าก็จะสอนให้ทำความเข้าใจว่า ไม่มีอะไรเป็นความสุขที่แท้จริงในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่จะเป็นความสุขได้นอกเหนือจากความสุขที่มีอยู่ในใจของเรา คือความสงบของใจนั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง

จึงไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปขวนขวาย ไปหาสิ่งต่างๆภายนอกกายกับใจของเรา เพราะว่าความสุขที่แท้จริงที่สมบูรณ์นั้น มีอยู่ในตัวของเราแล้ว ต่อให้ไปหาอะไรมาได้มากน้อยแค่ไหนก็ตามเถอะ  เราก็ยังจะไม่พบความสุข ต่อให้ได้เป็นมหาเศรษฐีมีเงินทองเป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน  มีตำแหน่งสูงๆ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นอะไรก็ตามเถิด เราก็ยังจะไม่มีความสุข เพราะว่าความสุขจะต้องเกิดจากความสงบ ความนิ่งของใจ แล้วใจจะนิ่งได้ก็ต่อเมื่อได้ระงับดับกิเลส ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัดความอยากทั้งหลายให้หมดสิ้นไป  ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ยังต้องตัด ต้องสละ แล้วก็ออกบวชมาอยู่แบบขอทาน  เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น คือปัจจัย ๔  ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ คือต้องมีข้าวกิน มีบ้านอยู่ มีเสื้อผ้าใส่ มียารักษาโรค  แต่ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่กับสิ่งอื่นใด แม้กระทั่งร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับใจได้ มีอย่างเดียวเท่านั้นที่จะให้ความสุขกับใจนี้ได้ก็คือความสงบใจนั่นเอง  พระพุทธศาสนาจึงสอนให้พวกเราหันมาดูที่ใจเรา รักษาใจเรา เพราะว่าใจของเรานั้นมีปัญหา มีเชื้อโรคอยู่ในใจ เชื้อโรคนี้ก็คือกิเลสตัณหานั่น แหละ ถ้าไม่เอายาเข้าไปรักษาเหมือนกับเวลาที่มีเชื้อโรคในร่างกายของเรา โรคก็ไม่หาย  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราต้องไปหาหมอ ให้หมอสั่งยามาให้เรารับประทาน  เมื่อรับประทานยาเข้าไปแล้วยานี้ก็จะเข้าไปทำลายเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกาย แล้วโรคนั้นก็จะหายไป  

ฉันใดโรคของใจก็เช่นกัน โรคของใจก็คือความทุกข์ ความฟุ้งซ่าน ความไม่สบายอก ไม่สบายใจ ความกังวลใจที่เกิดจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย จะหมดไปได้ จะสูญสิ้นไปได้ก็ต่อเมื่อเราเอาธรรมโอสถของพระพุทธเจ้าเข้ามารักษาใจ  ธรรมโอสถคือการทำบุญ ละบาป ชำระโลภ โกรธ หลง ให้ออกไปจากใจ ด้วยการนั่งสมาธิ  ไหว้พระสวดมนต์ แล้วก็เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลายว่า ไม่มีตัวตน เป็นของไม่เที่ยง ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์  ถ้าปล่อยวางก็จะไม่ทุกข์ ถ้าเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขที่แท้จริงกับเราแล้ว เราก็จะปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้วเราก็จะไม่ทุกข์กับอะไร ตอนนี้เราทุกข์กับอะไรอยู่  ถ้าเราปล่อยวางเราก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  ถ้าเรายังมีความทุกข์อยู่ก็ขอทำความเข้าใจว่า เป็นเพราะว่าเราไปยึดไปติดกับสิ่งนั้นๆ เรายังอยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้อยู่  แต่ถ้าเราไม่สนใจแล้ว สิ่งนั้นๆจะเป็นอย่างไรเราก็จะไม่เดือดร้อน  ยกตัวอย่าง บ้านของคนอื่นเราไม่ไปยึดไปติดใช่ไหม บ้านของคนอื่นขโมยจะขึ้นเราก็ไม่เดือดร้อน ไฟจะไหม้เราก็ไม่เดือดร้อน น้ำจะท่วมบ้านหลังนั้นเราก็ไม่เดือดร้อน เพราะใจเราไม่ไปยึดไปติดกับบ้านหลังนั้น  ฉันใดบ้านของเราก็ควรจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  เราก็ควรจะมองบ้านเราเหมือนกับว่าเป็นบ้านของคนอื่น เราก็ไม่ไปยึดไปติดกับบ้านหลังนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านหลังนั้นก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของสิ่งที่มันจะต้องเกิดขึ้น อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

นี่คือเรื่องของการทำใจให้สงบ ถ้าเราไม่มีปัญญาแล้ว ใจเราก็จะวุ่นวายจะพยายามต่อสู้กับธรรมชาติอยู่เสมอ เวลาร้อนก็พยายามทำให้มันเย็น เวลาหนาวก็จะทำให้มันอุ่น แทนที่เราจะทำใจให้มันเป็นปกติแล้วรับกับสภาพนั้นๆ  ร้อนก็ทนเอาหน่อย หนาวก็ทนเอาหน่อยจะเป็นไรไป หนาวเรามีผ้าใส่ เราก็ใส่ไป ร้อนเราก็ถอดเสื้อผ้าออก ใส่เสื้อผ้าบางๆ เราไม่ต้องไปดิ้นรนสร้างเครื่องปรับอากาศ สร้างพัดลมมาให้มันวุ่นวายไปเปล่าๆ  คนสมัยก่อนเขาไม่มีพัดลม เขาไม่มีเครื่องปรับอากาศ เขาอยู่กันได้อย่างไร  สมัยพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทำไมท่านถึงมีความสุขมากกว่าพวกเรา  ท่านมีถึงปรมังสุขัง ความสุขที่เลิศที่สุด บรมสุข  ท่านมีโดยที่ท่านไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ สมัยนี้พวกเรามีอะไรกันมากมายก่ายกอง แต่แทนที่เราจะมีความสุขกัน เรากลับกลายเป็นผู้ที่ต้องไปห่วง ไปกังวลกับสมบัติของเรา  กลายเป็นคนพิการไปทั้งๆที่เราไม่ใช่เป็นคนพิการ เมื่อก่อนนี้เราอยู่ได้โดยที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีพัดลม ไม่มีตู้เย็น ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีรถยนต์  แต่เดี๋ยวนี้เราอยู่กันไม่ได้แล้ว วันไหนถ้าเกิดไฟดับขึ้นมา ก็จะมีแต่คนบ่น มีคนร้องกันขึ้นมากันเต็มไปหมดเลย กลายเป็นคนพิการไป ทั้งๆที่เราไม่ใช่คนพิการ ก็เพราะอะไร ก็เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของเรานั่นเอง ที่เราไม่เข้าใจถึงสภาพที่แท้จริงของความสุขว่ามันอยู่ในใจ  และเราสามารถสร้างมันขึ้นได้  ความทุกข์ใจเราก็สามารถดับมันได้ แต่เราไม่ดับมัน เราไม่แก้ที่ต้นเหตุคือในใจเรา แต่กลับไปแก้ที่ปลายเหตุคือภายนอก เวลาเราร้อนเราก็ไปหาเครื่องปรับอากาศมา เวลาเราอยากจะไปไหน เราก็ไปหารถยนต์มา ทั้งๆที่ความจริงแล้วเราไม่ต้องไปไหนเราก็อยู่ได้ เราอยู่บ้านเฉยๆก็อยู่ได้  สมัยก่อนพระพุทธเจ้าจะไปไหนท่านก็ใช้เท้าเดินเอา ท่านก็ไปได้ไม่เห็นจะต้องมาทุกข์กับเรื่องรถราเลย  นี่แหละคือเรื่องของเรา คือตัวเรานี้แหละขาดปัญญา ขาดความรู้ ขาดธรรมะ  จึงถูกความหลงหลอกให้ออกไปหาความสุขที่อยู่ภายนอก แต่หามาได้เท่าไร แทนที่สิ่งเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความสุข แต่กลับนำมาซึ่งความทุกข์ความกังวลใจ ความห่วง ความเสียดาย ความอาลัยอาวรณ์ เมื่อจะต้องจากสิ่งเหล่านั้นไป จึงขอให้เราพยายามศึกษาพระธรรมคำสอนให้ดี  ให้จำไว้เถิดว่าไม่มีอะไรจะประเสริฐเท่ากับใจที่สงบ และไม่มีอะไรที่จะทำใจให้สงบได้ นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงขอให้เราพยายามเข้าหาพระธรรมคำสอน ด้วยการศึกษาจากพระไตรปิฎกก็ได้ จากหนังสือของครูบาอาจารย์ก็ได้ หรือเข้าหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ทางด้านธรรมะ ศึกษากับท่านแล้วนำเอาไปปฏิบัติ แล้วเราจะประสบกับความสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ในใจของเรานั่นแหละ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้