กัณฑ์ที่ ๙๑      ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔

พรอยู่ที่ตัวเรา

การเป็นผู้เจริญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการไปขอความเจริญจากผู้อื่น แต่เกิดจากเราสร้างมันขึ้นมา เพราะความเจริญเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของเราเอง  เกิดจากการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ถ้าคิดดี พูดดี ทำดีแล้ว ผลที่จะตามมาก็คือผลดีที่จะทำให้เราเป็นผู้เจริญนั่นเอง  ดังนั้นเวลาเราไปหาพระแล้วไปขอพรพระ คิดหรือว่าจะได้พรจากท่าน จะได้ในสิ่งที่เราต้องการ  เพราะสิ่งที่เราต้องการนั้นเป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเราเอง ขอไปเท่าไร พระให้พรไปเท่าไร ก็สักแต่ว่าให้ สักแต่ว่าขอกันเท่านั้นเอง เพราะว่าไม่เข้าในหลักของเหตุและผล เหตุคือการกระทำ ดีหรือชั่ว ผลคือสิ่งที่ตามมา ดีงามหรือเลวร้าย ถึงจะตามมาได้ เวลาเราไปขอพรพระ สิ่งที่พระท่านให้นั้นไม่ใช่ให้พรเรา แต่ท่านจะสอนเรา ให้ธรรมะ ให้แสงสว่างกับเรา ให้เรารู้ว่าอะไรคือเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญที่เราปรารถนากัน มันอยู่ในตัวของเราแล้ว อยู่ในกำมือของเรา  เราทำให้มันเกิดขึ้นมาก็ได้ หรือทำให้มันหายไปก็ได้ ไม่มีใครทำลายสิ่งที่เราต้องการได้ นอกจากตัวของเราเอง

เพราะเกิดจากความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ ความหลง คิดว่าสิ่งวิเศษต่างๆเป็นสิ่งที่ให้กันได้  เราจึงไปหาพระสงฆ์องค์เจ้าเพื่อขอพรบ้าง ขอให้ท่านประพรมน้ำมนต์บ้าง หรือถ้าขึ้นบ้านใหม่หรือมีรถใหม่ ก็ขอให้ท่านเอาแป้งไปเจิมที่รถบ้าง ที่บ้านบ้าง เผื่อบ้านเราจะได้ไม่พัง ไฟจะได้ไม่ไหม้บ้าน  รถจะได้ไม่ไปชนกับเขาหรือพลิกคว่ำ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดทั้งนั้น เพราะว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น มันเกิดจากการกระทำของเรา ถ้าเราประมาท ไม่คอยดูแลบ้านเรา เปิดไฟทิ้งไว้ เปิดพัดลมทิ้งไว้ จุดธูป จุดเทียนทิ้งไว้ โอกาสที่ไฟจะไหม้บ้านย่อมเกิดขึ้นได้  หรือเราขับรถด้วยความคึกคะนอง ด้วยความประมาท กินเหล้าเมายา โอกาสที่รถจะต้องไปชน ไปพลิกคว่ำย่อมเกิดขึ้นได้   เพราะนี่แหละคือเหตุที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่เราไม่ปรารถนา คือความประมาทขาดสตินั่นเอง แต่ถ้าเรามีความระมัดระวัง มีสติคอยดูแลควบคุมใจเราอยู่เสมอ อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ยาก  เพราะใจเป็นตัวสำคัญที่สุด จะพูดอะไร จะทำอะไรได้ ต้องมีใจเป็นผู้สั่งการ  ถ้าใจสั่งให้ไปทำในสิ่งที่ผิด ผลมันก็จะผิด ถ้าสั่งให้ไปทำในสิ่งที่ถูก ผลมันก็จะถูก  อย่างเราขับรถมาถึง ๔ แยก ถ้าสั่งให้เหยียบเบรก รถก็จะหยุดให้เรา ถ้าสั่งให้เหยียบคันเร่ง รถก็จะพุ่งฝ่าไฟแดงไป ก็ต้องเกิดการชนกันขึ้นมา ขึ้นอยู่ที่ใจของเราเป็นสำคัญ

พรที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่ไหนนอกจากการดูแลใจเราเป็นหลัก  เราต้องคอยดูแลใจเรา  ถ้าใจไม่ฉลาดก็ต้องสอนใจ ให้รู้จักเรื่องผิดถูกดีชั่ว เรื่องบาป บุญ คุณ โทษ เรื่องที่ควร ที่ไม่ควร ถ้าไม่รู้ก็ต้องไปหาผู้ที่รู้อย่างพระสงฆ์องค์เจ้า นั่นแหละคือหน้าที่ของพระ พระท่านมีหน้าที่สั่งสอนเรา บอกให้เรารู้ถึงเหตุและผลที่จะตามมา เหตุก็คือการกระทำของเรา ว่าถ้าเรากระทำสิ่งนี้ไปแล้ว ผลอะไรจะตามมา อย่างเมื่อสักครู่นี้เราก็ได้มาสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ กัน พระก็ให้ศีล ๕ ให้ศีล ๘ แต่การให้ศีลนี้ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะเอาศีลของท่านมาให้กับเรา แล้วเราก็มีศีลขึ้นมาทันที นี่ไม่ใช่การให้ศีล การให้ศีลคือการสอน การบอกให้รู้ว่าศีลที่พึงปฏิบัตินั้นมีอะไรบ้าง เพราะว่าบางท่านไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยได้ศึกษาพระธรรมคำสอน ไม่เคยได้ยิน ก็อาจจะไม่รู้ว่าศีลนั้นมีอะไรบ้าง จึงต้องให้พระเป็นผู้สอนเป็นผู้บอก ศีล ๕ ก็มี ๑. ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ๒. ละเว้นจากการลักทรัพย์ ๓. ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ๔. ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ ๕. ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา เป็นการกระทำที่ดี ถ้าละเว้นได้ก็จะเป็นเหตุที่ดี ทำให้ผลดีตามมา ดังในท้ายศีลที่ท่านแสดงไว้ว่า สีเลน สุคติง ยันติ ไปสู่สุคติได้ด้วยศีล สีเลน โภคสัมปทา ถึงพร้อมโภคทรัพย์ได้ด้วยศีล    สีเลน นิพพุติงยันติ   ดับทุกข์ได้ด้วยศีล ตัสมา สีลัง วิโสธเย จึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์

นี่คือผลที่จะตามมา พระท่านไม่ได้บอกว่าท่านจะมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา อย่างที่เวลาขอพรพระ  ท่านบอกว่า ขอให้มีความสุขความเจริญ ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน มั่งมีศรีสุข  อย่างนี้เป็นการขอไปเปล่าๆ สักแต่ว่าขอเท่านั้นเอง ผู้รับก็ได้แต่ลมปากไปเท่านั้นเอง เพราะพระไม่สามารถทำให้ชีวิตของเราอยู่ยืนยาวนานได้ ไม่สามารถให้เรามีความสุขความเจริญได้ เพียงแต่สอนได้ว่า ถ้าอยากจะมีอายุยืนยาวนานก็ต้องดูแลรักษาร่างกายให้ดี อย่าไปกินในสิ่งที่มันเป็นโทษ เป็นพิษเป็นภัยกับร่างกาย เช่น อย่าไปเสพสุรายาเมา ยาเสพติด อย่าไปเอาควันพิษเข้าไปทำร้ายร่างกายของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้สุขภาพร่างกายของเราก็จะสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุยืนยาวนาน แต่ถ้ามัวแต่กินเหล้าเมายา ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อนมีแต่เที่ยว มีแต่เล่นอย่างเดียว อายุก็จะสั้น อย่างนี้เป็นต้น

จึงขอให้เราทำความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในตัวของเราเอง  เราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา เราต้องการความสุขความเจริญ เราก็สร้างความสุขความเจริญนั้นได้ ด้วยการประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร คือพูดดี คิดดี ทำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิดดี เพราะว่าความคิดนี้จะเป็นผู้สั่งการให้เราไปกระทำสิ่งต่างๆต่อไป ถ้าเราคิดไม่ดี เช่นเราคิดว่าวันนี้ไปเที่ยว ไปเล่น ไปกินเหล้าเมายา ไปเข้าบ่อน ไปเล่นการพนันแล้วเราจะมีความสุข ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูก เป็นความคิดที่ไม่เจริญ ไม่สร้างสรรค์ เพราะจะนำไปสู่ความเสื่อมเสีย  ถ้าไปกินเหล้าเมายาเดี๋ยวก็ต้องเกิดอาการมึนเมาขึ้นมา จะไม่สามารถควบคุมความประพฤติของเราได้ วาจาของเรา การกระทำของเราก็จะไปในทิศทางที่ไม่สวยไม่งาม ไม่ดีไม่ชอบ ทำให้ไปเกิดเรื่องเกิดราวกับผู้อื่น แล้วผลเสียหายก็จะตามมา   เริ่มต้นจากความคิดที่ไม่ดี ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้นเพราะว่าเราไม่มีความคิดที่ดีไว้ต่อต้าน มีแต่ฝ่ายเสนอไม่มีฝ่ายค้าน พอฝ่ายเสนอมาปั๊บก็ตกลงกันเลยทันที ไม่มีการค้าน ไม่มีการไตร่ตรองกันก่อนว่า สิ่งที่คิด สิ่งที่จะไปทำนี้ดีหรือไม่อย่างไร ผลเสียจึงตามมา เพราะขาดการดูแลใจ ใจสามารถไปในทิศทางไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุที่จะทำให้ไป  ถ้ามีเหตุที่ทำให้ใจคิดไปในทางที่ไม่ดี ใจก็จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ถ้ามีเหตุที่จะทำให้ใจคิดไปในทางที่ดี ใจก็จะคิดไปในทางที่ดี เหตุที่จะทำให้คิดไปในทางที่ไม่ดีคือกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วจะทำให้ใจไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดี

เราไม่ต้องไปมองผู้อื่นหรอก ขอให้มองตัวเราเองก็พอ อย่างในขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ใจเรามีความสงบ เรามีความสบาย เราก็สามารถนั่งอยู่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าตอนนี้กิเลสตัณหาไม่ทำงาน ความโลภไม่เกิดขึ้น ความโกรธไม่เกิดขึ้น ความหลงไม่ปรากฏ ความอยากต่างๆไม่มี ก็เลยทำให้เรานั่งอยู่สบายๆเฉยๆได้ แต่ถ้าเกิดใครมาพูดอะไร หรือมาทำอะไรทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมา ความโกรธก็จะเกิดขึ้นมา และถ้าเกิดความโกรธมากๆ ก็ไม่สามารถที่จะห้ามใจไม่ให้ไปพูด หรือไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เมื่อได้ลุแก่โทสะ ลุแก่โลภะ ลุแก่โมหะแล้ว ใจจะทนนิ่งอยู่เฉยๆไม่ได้ จะต้องออกไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อระบายความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดไป แต่เมื่อทำไปแล้วผลเสียมักจะตามมา เพราะเมื่อเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากแล้ว จะนำไปสู่การกระทำที่ผิดศีลผิดธรรม เป็นการเสื่อมเสีย ถ้าต้องการอะไรมากๆแล้วหามาด้วยความสุจริตไม่ได้ ก็ต้องไปลัก ไปขโมย ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น  เมื่อกระทำไปแล้วเกิดการขัดขืน ก็ต้องมีการต่อสู้กัน ฆ่ากันขึ้นมา โดยเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นต้นเหตุ 

แต่ถ้าเราเข้าหาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนให้เราหมั่นสร้างความดี ให้ทำความเข้าใจว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นมูลเหตุของความชั่ว ตัณหาความอยากต่างๆ เป็นมูลเหตุของความเลวร้าย ถ้ามีแล้วจะฉุดกระชากลากพาเราไปสู่การกระทำความชั่วทั้งหลาย เราจึงควรทวนกระแสความโลภ ของความโกรธ ความหลง ตัณหาความอยากทั้งหลาย ด้วยการกระทำในสิ่งที่ดี ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำจิตใจให้สงบแล้วก็เจริญวิปัสสนา ศึกษาดูสภาพความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การกระทำเหล่านี้จะเป็นเครื่องชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากให้หมดไปจากใจของเรา ถ้าไม่มีการกระทำเหล่านี้แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากทั้งหลายก็จะไม่หมดไปจากจิตจากใจ จะอยู่ในใจของเรา คอยเป็นผู้นำ เป็นผู้สั่งการให้เราไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย สร้างความทุกข์ให้กับเราไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้นถ้าเราต้องการความเจริญที่แท้จริง เราต้องดูใจเป็นหลัก เราต้องสอนใจเรา พัฒนาใจเรา แก้ไขปัญหาที่ใจของเรา คือพยายามทำลายต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งหลาย คือกิเลสตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ในใจของเราด้วยการมีสติ  ถ้าเรามีสติแล้วเราจะคอยดูใจของเราอยู่เสมอว่า ใจของเราขณะนี้กำลังอยู่ที่ไหน กำลังคิดอะไรอยู่ ถ้าเราไม่มีสติแล้วเราจะไม่รู้ว่าใจเรากำลังคิดอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน บางทีตัวเรานั่งอยู่ที่ตรงนี้ กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ แต่อยู่แต่กาย ใจนี่ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ลอยไป คิดไป ถึงเรื่องในอดีตบ้าง ถึงเรื่องในอนาคตบ้าง โดยที่ไม่รู้สึกตัว เพราะว่าเราไม่มีสติการระลึกรู้ คอยเฝ้าดูใจเรานั่นเอง สตินี้ถ้าเปรียบเทียบก็เปรียบเหมือนกับยาม ส่วนกิเลสตัณหาก็เปรียบเหมือนขโมย ถ้าเรามียามคอยเฝ้าบ้าน ขโมยก็จะไม่สามารถเข้ามาขโมยของในบ้านได้ แต่ถ้ายามเผลอยามหลับไป เดี๋ยวขโมยก็ขึ้นบ้านได้ อย่างนี้เป็นต้น จิตของเราก็เช่นกันถ้าเราไม่มีสติคอยเฝ้าดูใจของเรา ดูจิตของเราแล้ว พอเผลอปั๊บเดียวความโลภก็ออกมาแล้ว เดี๋ยวความโกรธก็ออกมาแล้ว เดี๋ยวความหลงก็ออกมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลงนี่มันออกมาแบบที่เราไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดนั่นเอง ความหลงนี้เราจะแก้ได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่ดี

ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วเราจะหลง เราจะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว จะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน จะเห็นตรงกันข้ามกับความจริง เราจึงมีแต่ความทุกข์ เพราะทุกวันนี้เราวิ่งเข้าหากองทุกข์ แทนที่เราจะวิ่งหนีออกจากกองทุกข์ เรากลับวิ่งเข้าหากองทุกข์ เหมือนกับคนตาบอดที่วิ่งเข้าหากองไฟ แทนที่จะหนีออกจากกองไฟ เรากลับวิ่งเข้าหากองไฟ อะไรคือกองไฟของพวกเรา กองไฟของพวกเราก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ซึ่งเป็นเหมือนกองไฟ เป็นเพราะเหตุใดจึงเป็นกองไฟ เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ไม่สามารถที่จะไปบังคับให้เขาเป็นไปตามความต้องการของเราได้ เป็นทุกข์เมื่อเราไม่สามารถที่จะไปบังคับให้เขาอยู่กับเราได้ เวลาเราได้มาเราก็จะมีความดีอกดีใจ แต่พอเวลาเราสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป เราก็เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา

นี่ก็เป็นเพราะความหลงนั่นเอง เราไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ว่าเป็นของที่ไม่ใช่ของที่จะอยู่กับเราไปตลอด มาวันนี้เดี๋ยวพรุ่งนี้อาจจะไปแล้วก็ได้ แล้วเมื่อเวลาไปถ้าเราไม่ปล่อยไม่วาง เรายังมีความยึด มีความติด เรายังมีความอยากให้สิ่งนั้นอยู่กับเราอยู่ เราก็จะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เช่นเวลาเราสูญเสียคนที่เรารักไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง อาจจะเพราะว่าเราทะเลาะกันแล้วเขาก็ทนอยู่กับเราไม่ได้ เขาก็ต้องแยกทางไป หรือว่าเขาตายไปแล้วแต่ว่าเรายังรักเขาอยู่ เรายังคิดถึงเขาอยู่ ทุกครั้งเวลาเราคิดถึงเขา เราก็มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้ว แล้วมันก็ไม่กลับมา

แต่ถ้าเราเป็นคนฉลาด เราเคยได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าสอนเราอยู่ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่อยู่กับเราไปตลอดนะ เป็นเหมือนกับของที่เขาให้เรายืมมาใช้เท่านั้นเอง เขาจะเอาคืนไปเมื่อไรเราก็ไม่รู้ ถ้าเรารู้ว่าไม่ใช่เป็นของๆเราแล้ว เราก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้ เพราะเมื่อเขามาขอคืนไปเราก็คืนให้เขาไป เรื่องก็จบ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหาก็เพราะว่าเราไม่คิดอย่างนั้นกัน เรากลับคิดว่าของทุกอย่างที่เรามีอยู่เป็นของๆเรา และจะต้องอยู่กับเราไปนานๆ อย่างน้อยที่สุดถ้าจะจากกัน เราต้องตายเสียก่อนถึงจะจากสิ่งเหล่านี้ไป แต่สิ่งเหล่านี้ไม่แน่นอนหรอก บางทีเราก็อาจจะอยู่กับเขาไปจนกระทั่งเราตายไปก็ได้ แต่บางทีก็อาจจะจากไปก่อนที่เราตายไปก็ได้ ถ้าเราไม่เตรียมเนื้อเตรียมตัวเตรียมใจไว้ ยอมรับว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องอยู่ปราศจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราเตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้แล้ว เวลาเหตุการณ์เกิดขึ้นเราก็จะไม่เดือดร้อนใจ แต่ถ้าเราไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ เวลาเกิดขึ้นมาแล้วเราจะตั้งหลักไม่อยู่ เราจะทำใจไม่ได้ แล้วความทุกข์มันจะโหมใส่เราแบบที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ในขณะนี้เราอยู่อย่างนี้ เรามีความสุข เรามีความสบายใจ แต่เราเคยคิดดูหรือเปล่าว่าถ้าพรุ่งนี้เกิดเราต้องสูญเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป เราพร้อมที่จะรับมันได้หรือเปล่า เราต้องทดสอบตัวเราเอง ลองถามตัวเราเองดูซิว่าในขณะนี้เรามีอะไรบ้างที่เราชอบที่เรารัก แล้วจะอยู่กับเราไปตลอดหรือเปล่า 

ถ้าสมมุติว่าเขาจะต้องจากเราไปขึ้นมาทันทีทันใด เราจะทำใจได้หรือเปล่า ถ้าเราทำใจไม่ได้ก็แสดงว่าเรายังตั้งอยู่ในความประมาท เราไม่ได้เตรียมตัวไว้รับกับเหตุการณ์ แต่ถ้าเราคอยหมั่นสอนใจเรา เตือนใจเราอยู่เสมอ แล้วปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติด ไม่หวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ เราจะสามารถรับกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ และผ่านไปได้โดยไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความทุกข์เลย ปัญหาของเราส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาก็เพราะว่า ใจเราไม่ชอบพึ่งตนเอง ไม่ชอบเป็นที่พึ่งของตนเอง แต่กลับชอบพึ่งสิ่งภายนอกให้มาให้ความสุขกับเรา เราพึ่งเงินเพื่อที่จะได้มีเงินไปหากามสุข ไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นที่ชอบอกชอบใจของเรา แทนที่เราจะตัดความยินดีในสิ่งเหล่านี้ เรากลับส่งเสริมความอยาก ความชอบในสิ่งเหล่านี้ด้วยการทำตามความอยากของเรา เมื่อเราชอบแล้วก็เกิดความติดพันขึ้นมา ต้องมีอยู่เสมอ เราเคยกินเคยใช้อะไร ก็ต้องมีกินมีใช้อยู่เสมอทั้งๆที่สิ่งนั้นๆก็ไม่มีความจำเป็นเลย เช่นสุรา ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของเราเลย แต่ถ้าลองได้กินเข้าไปจนติดแล้ว เราก็จะต้องไปหามากินอยู่ตลอดเวลา ยาเสพติดชนิดอื่นๆก็เช่นกัน ไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีพของเรา ไม่มีความจำเป็นกับความสุขของเรา เพราะเราสามารถมีความสุขได้โดยที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นเพราะความหลง ความไม่เข้าใจ ความเห็นผิดเป็นชอบ กลับเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความสุข  เราเลยทุ่มเทชีวิตจิตใจของเราแสวงหาแต่สิ่งเหล่านี้ หามาแล้วก็เสพสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ในขณะที่เรามีเสพเราก็พอมีความสุข แต่พอเราไม่มีเสพ เราก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความหิวขึ้นมา เราก็ต้องออกไปแสวงหาสิ่งเหล่านี้อีก

ถ้าสามารถหามาได้ด้วยความสุจริตก็รอดตัวไป แต่ถ้าไม่สามารถหามาได้ด้วยความสุจริต ก็ต้องหามาด้วยความทุจริต ต้องไปทำผิดศีลผิดธรรมขึ้นมา แล้วผลเสียผลร้ายก็จะตามมา ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในปัจจุบันก็จะมีแต่ความวุ่นวายใจ มีแต่ความทุกข์ใจ ถ้าจับได้ก็ต้องถูกเขานำไปลงโทษ ขังในคุกในตะราง เมื่อตายไปก็ต้องไปสู่ทุคติ ไปสู่อบาย ไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะผู้ที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้จะต้องไม่ละเมิดศีล ต้องมีศีล ๕ สีเลน สุคติง ยันติ ศีลเป็นเหตุนำพาไปสู่สุคติ คือภพของมนุษย์ ของเทวดา ของเทพ ของพรหม ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านมีศีลเป็นเครื่องนำพาไป ถ้าไม่มีศีลแล้วภพที่จะตามมาก็คือเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก นี่เป็นสัจจธรรมความจริง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างนั้น เพราะเป็นเหตุและผล เหตุก็คือการกระทำของเราทางกาย ทางวาจา และทางใจ ผลที่จะตามมาก็คือความสุข ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในใจของเรา ถ้าเราทำความดี พูดดี คิดดีใจเราก็จะมีความสุข มีความสบาย แต่ถ้าเราไปคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี ใจเราก็จะร้อนขึ้นมา ใจเราก็จะทุกข์ขึ้นมา  เมื่อใจแยกออกจากร่างกายใจก็จะไปตามสภาพของใจ ถ้าใจเป็นสภาพที่ดีก็จะไปสู่ภพภูมิที่ดี ถ้าใจอยู่ในสภาพที่เลวร้าย มีแต่ความรุ่มร้อน ก็ต้องไปสู่ภพที่ไม่ดีนั่นเอง

นี่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม  จะนับถือศาสนานี้หรือไม่นับถือศาสนานี้ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสากลเป็นหลักธรรมชาติ ถ้าตราบใดมีใจอยู่แล้ว เรื่องเหล่านี้จะต้องปรากฏขึ้นมากับใจนั้นๆ ไม่ว่าใจนั้นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม จะเชื่อไม่เชื่อก็ตาม มันจะต้องเกิดขึ้น เพราะว่ามันเป็นความจริงนั่นเอง เป็นความจริงที่ไม่มีใครสามารถลบล้างได้ เป็นความจริงที่ผู้ฉลาดจะพึงปฏิบัติตามเท่านั้นแหละ คือพยายามสร้างเหตุที่ดี และพยายามระงับเหตุที่ไม่ดี และพยายามชำระต้นเหตุที่ทำให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี คิดในสิ่งที่ไม่ดี พูดในสิ่งที่ไม่ดี เท่านั้นเอง นี่เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตของเราไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม ด้วยความสุข ด้วยความเจริญ คนอื่นไม่สามารถปฏิบัติให้เราได้ คนอื่นคิดให้เราไม่ได้  พูดให้เราไม่ได้ ทำให้เราไม่ได้ เราจะต้องเป็นผู้ที่คิดเอง พูดเอง และทำเอง ถ้าเราต้องการที่จะคิดดี พูดดี ทำดี เราก็ต้องมีสิ่งที่ดีคอยผลักดันให้เราไปคิดดี พูดดี ทำดี สิ่งที่จะผลักดันให้เราไปคิดดี พูดดี ทำดี ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

เราจึงควรเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อยที่สุดอาทิตย์หนึ่ง ควรจะได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสักครั้งหนึ่ง เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ควรนำเอาไปใคร่ครวญพิจารณาและปฏิบัติตาม เพราะว่าการฟังเฉยๆอย่างเดียวยังไม่พอเพียง การฟังก็เปรียบเหมือนกับการเข้าไปในร้านอาหาร แล้วนั่งดูอาหารที่เขานำมาตั้งไว้บนโต๊ะ โดยที่ไม่ได้รับประทานอาหารนั้น เราก็จะไม่รู้ว่าอาหารนั้นมีรสชาติอย่างไร รับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้อิ่มหรือไม่อิ่มอย่างไร เราจะไม่รู้ ฉันใดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เช่นกัน อย่างวันนี้ท่านได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ไม่เอาไปปฏิบัติ ยังดำเนินชีวิตของท่านแบบเดิมๆอยู่ ชีวิตของท่านก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้านำเอาคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่นวันนี้ท่านได้สมาทานศีล ๕  ก็ขอให้เอาศีล ๕ นี้ไปรักษา อย่ารักษาแต่เฉพาะในขณะที่ท่านอยู่ในศาลานี้เท่านั้น ขอให้เอาไปรักษา ยิ่งมากยิ่งดี เท่าที่ท่านจะสามารถจะทำได้ แล้วจะเห็นผลที่เกิดจากการรักษาศีล ว่าดีไม่ดีอย่างไร เมื่อเห็นผลแล้วก็จะทำให้เกิดมีศรัทธา ฉันทะ วิริยะ มีความเชื่อมั่นที่จะทำความดี ที่จะละความชั่วให้มากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้กระทำแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น มีคุณ มีประโยชน์ หรือมีโทษอย่างไร

การฟังธรรมเฉยๆจึงไม่เพียงพอ เมื่อฟังแล้วต้องนำไปปฏิบัติด้วย แล้วสิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟังมา ท่านก็จะสามารถพิสูจน์ได้กับตัวของท่านเองว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีความถูกต้อง ผิดถูกอย่างไร แต่ถ้าไม่เอาไปปฏิบัติก็จะไม่รู้ จึงขอให้ท่านทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความสุขความเจริญนั้นมีอยู่ในตัวของท่านแล้ว มันเกิดจากการกระทำของท่านทางกาย ทางวาจา และทางใจ การที่ท่านเข้าหาพระสงฆ์องค์เจ้านั้นท่านไม่ได้ขอความสุขความเจริญจากท่าน แต่ท่านขอแสงสว่างแห่งธรรม ขอพระธรรมคำสอนต่างหาก เมื่อได้พระธรรมคำสอนแล้วนำเอาไปประพฤติปฏิบัติตาม ความสุขความเจริญที่ท่านปรารถนาย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้