กัณฑ์ที่
๙๒
โง่ หรือ ฉลาด
ชีวิตของพวกเราทุกๆคนเปรียบเหมือนกับการเดินทาง
เรามีทั้งพาหนะและคนขับ
เหมือนกับเวลาที่เราเดินทางโดยรถยนต์
เราต้องมีทั้งรถยนต์และคนขับถึงจะไปได้
ชีวิตของเราก็เช่นกัน
มีทั้งคนขับและมีพาหนะที่จะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการไป
ส่วนที่เป็นพาหนะก็คือร่างกายของเรา
ส่วนที่เป็นคนขับก็คือใจของเรา
ใจจะเป็นผู้ที่ขับพาร่างกายเราไปกระทำสิ่งต่างๆ ผู้ที่รับผลจากการกระทำก็คือใจ
ใจเป็นผู้สั่งการให้กายไปกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
ให้ไปพูดอย่างนั้นอย่างนี้
เมื่อกระทำไปแล้วผลก็จะเกิดขึ้นภายในใจ
เป็นความสุขบ้าง
เป็นความทุกข์บ้าง
เป็นความดีใจบ้าง
เป็นความเสียใจบ้าง
นี่ก็คือเรื่องราวของชีวิตของเรา
ทีนี้ใจผู้พากายไปนี้มีทั้งความฉลาด
และความโง่เขลาเบาปัญญาผสมกันอยู่
มากน้อยต่างกันไปของแต่ละบุคคล
บางคนได้สั่งสมความฉลาดไว้มาก
ก็จะมีความฉลาดเป็นผู้พาไป
บางคนไม่ได้สั่งสมความฉลาดไว้มาก
ก็จะมีความโง่เขลาเบาปัญญาพาไป
ชีวิตของเราจะดีหรือจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับความโง่เขลาเบาปัญญาหรือความฉลาดเป็นผู้นำพาไป
ถ้าเรามีผู้ฉลาดนำพาไป
ชีวิตของเราก็จะไปได้ด้วยความราบรื่น
ด้วยความสุข ด้วยความเจริญ
ถ้าเรามีความโง่เขลาเบาปัญญาพาไป
ชีวิตของเราก็จะมีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ความทุกข์
มีแต่ความเสื่อมเสีย
เราจึงควรดูความโง่เขลาเบาปัญญาและความฉลาดที่มีอยู่ในตัวเรา
พยายามประเมินตัวเราเองว่าเรามีความฉลาดมากพอหรือยัง
หรือว่ายังมีความโง่เขลาเบาปัญญาอยู่
พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักของคนโง่คนฉลาดไว้ดังนี้
คนที่คิดว่าตนเองเป็นคนฉลาด
คนนั้นท่านถือว่าเป็นคนโง่
คนที่รู้ว่าตนยังโง่อยู่
คนนั้นท่านว่าเป็นคนฉลาด
เพราะยังมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นคนฉลาดได้
คนที่คิดว่าตนเองฉลาดแล้ว
ก็จะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาร่ำเรียนหาความรู้เพิ่มเติม
แต่คนที่ยังคิดว่าตนเองยังเป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญาอยู่
ถึงแม้จะฉลาดแต่ก็ยังไม่มากพอ
ยังไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ คนนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสว่าจะเป็นคนที่มีโอกาสที่จะเป็นคนฉลาดได้อย่างแท้จริง
จึงขอให้เราประเมินตัวเราเอง
ถามตัวเราเองว่าเราฉลาดเต็มที่หรือยัง
หรือยังมีความโง่ผสมกับความฉลาดอยู่
ถ้าเราไม่รู้จะประเมินอย่างไร
ก็ขอให้ถือหลักสุขกับทุกข์เป็นตัวประเมิน
ถ้าอยู่ในโลกนี้ได้ทุกวันโดยที่ไม่มีความทุกข์ใจเลย
ถือว่าเราฉลาดแล้ว
คนที่จะไม่มีความทุกข์ใจได้เลยนั้นต้องเป็นคนอย่างพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกเท่านั้น
ถ้าเรายังมีความทุกข์อยู่
แสดงว่าเรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า
หรือเป็นพระอรหันต์
ยังต้องขวนขวาย
ยังต้องหาความรู้ต่อไป
เพราะว่าคนฉลาดเท่านั้นแหละที่จะสามารถดำรงชีวิตของตนเองได้ด้วยความสุข
ด้วยความเจริญ
ปราศจากความทุกข์ทั้งหลาย
ถ้ายังไม่สามารถที่จะดำรงตนอยู่ในสภาพนั้นได้
ยังมีความทุกข์อยู่
ยังมีความกังวลอยู่
ยังมีความไม่สบายใจอยู่
แสดงว่าเรายังเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาอยู่
ยังขาดปัญญาความรู้อยู่
ความรู้ที่พูดถึงนี้หมายถึงความรู้ทางศาสนาที่เรียกว่า
ธรรมะ แสงสว่างแห่งธรรม
เราไม่ได้พูดถึงความรู้ทางโลกเช่นความรู้จากวิชาการต่างๆ
รู้จักวิชาการทำกับข้าวกับปลาอาหาร
หรือการประกอบสิ่งของต่างๆ
ที่เรียนกันในทางโลก
วิชาเหล่านี้เราไม่ถือว่าเป็นปัญญา เราถือว่าเป็นวิชาชีพ
เป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ทำมาหากินได้
แต่วิชาความรู้เหล่านี้ไม่สามารถมากำจัดความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจของเราได้
วิชาที่จะกำจัดความทุกข์ภายในใจของเราได้
ต้องเป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ถ้าต้องการที่จะกำจัดความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจของเรา
ต้องการที่จะอยู่ด้วยความสุข
ด้วยความสงบ เราต้องเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะสั่งสอนใจที่มีความโง่เขลาเบาปัญญา
มีความมืดบอด มีความเห็นผิด
มีความหลง
ให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
โดยหลักใหญ่ๆแล้ว
ความเห็นผิดของใจก็อยู่ที่ความเห็นว่า
การที่จะมีความสุขได้เราต้องออกไปแสวงหาสิ่งของภายนอก
คือต้องหา ลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข แล้วจึงจะมีความสุข
พระพุทธเจ้าก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้
พระพุทธองค์ก็เป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์ก็ทรงอยู่ท่ามกลาง
ลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุขทั้งหลาย
แต่ในพระทัยของพระพุทธองค์กลับหามีความสุขอย่างแท้จริงไม่
ยังมีความวิตก
ยังมีความกังวล
เพราะพระพุทธองค์ทรงเห็นสภาพของโลกว่าเป็นโลกที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ถึงแม้ว่าจะเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์ในวันนี้ก็ตาม
แต่ในวันข้างหน้าเหตุการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้
อาจจะเกิดสงคราม อาจจะมีผู้ที่มีอำนาจมากกว่า
มาบุกรุก
มาครอบครองแผ่นดินของพระองค์ก็เป็นได้
แล้วพระองค์ในฐานะที่เคยเป็นลูกของกษัตริย์ก็จะไม่ได้เป็นลูกของกษัตริย์อีกต่อไป
อย่างนี้เป็นต้น
ทรงเห็นว่าโลกที่เราอยู่นี้เป็นโลกที่ไม่เที่ยง
แม้กระทั่งร่างกายของเราก็เป็นของไม่เที่ยง
เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมี
การแก่ การเจ็บ การตาย
ไปในที่สุด เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยชราแล้ว
ความสุขที่เคยได้จาก ลาภ
ยศ สรรเสริญ กามสุข
ก็จะเป็นไปได้ยาก
เพราะสังขารร่างกายไม่อำนวยนั่นเอง
และในที่สุดร่างกายก็ต้องแตกสลายไป
ลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุขที่มีอยู่ในชาตินี้
ในภพนี้ ก็จะหมดไป
นี่คือความจริงของชีวิตของเรา
ของร่างกายของเรา
ที่คนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น
เมื่อทรงรู้ทรงเห็นอย่างนี้แล้ว
ก็ทำให้พระพุทธองค์ทรงมีความปรารถนาที่อยากจะแก้ปัญหานี้
จึงทรงพยายามเสาะแสวงหาดูทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเกิด
แก่ เจ็บ ตาย
ในที่สุดก็ไปเห็นพวกนักบวช
ก็เลยถามมหาดเล็กว่าพวกนักบวชนี้เขาทำอะไรกัน จึงได้ทรงทราบว่าพวกนักบวชนี้
เขาแสวงหาความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
หลุดพ้นจากการที่จะต้องตกอยู่ในสภาพของความไม่เที่ยงซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ในใจของเรา
พวกเราทุกคนที่อยู่ในโลกนี้
ที่อยู่ในศาลานี้
ถึงแม้จะมีลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุข มากน้อยขนาดไหนก็ตาม
ลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุขเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะไปลบล้างไปทำลายความทุกข์ใจ
ความไม่สบายใจ ความกังวลใจ
ที่มีอยู่ภายในใจของเราได้
เพราะว่าความทุกข์ใจก็ดี
ความไม่สบายใจก็ดี
ความกังวลใจก็ดี
เกิดจากความหลงของใจ
ใจขาดปัญญา
ขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับสิ่งที่ใจมาเกี่ยวข้องด้วย
และธรรมชาติของใจว่าเป็นอย่างไร
เป็นสิ่งที่คนฉลาดเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงสัจธรรมความจริงของสิ่งที่อยู่ภายนอกใจ
และธรรมชาติของใจว่าเป็นอย่างไร
นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
หลังจากที่ได้ทรงออกบวชและปฏิบัติธรรมอยู่
๖ ปีด้วยกัน ในคืนวันเพ็ญเดือน
๖ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมขึ้นมา
เข้าถึงสัจธรรมอันนี้
เข้าถึงสัจธรรมความจริงของธรรมชาติของสิ่งต่างๆทั้งหลายที่ใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
คือทรงเห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายที่ใจเข้ามาเกี่ยวข้อง
เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข
ร่างกายและอารมณ์ต่างๆภายในใจ
เป็นของไม่เที่ยง
เป็นของที่ปราศจากตัวตน
เป็นธรรมชาติ เป็นเหมือนกับ
ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นการผสมกันของ
ดิน น้ำ ลม ไฟ
ทำให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมา
เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เป็นทรัพย์สมบัติเงินทอง
ข้าวของต่างๆ
อยู่กันได้สักระยะหนึ่ง
ก็ต้องแตกสลาย แยกออกไปหมด
ใครก็ตามที่หวังความสุขกับสิ่งเหล่านี้ก็จะพบกับความทุกข์อยู่เสมอ
เพราะเป็นของที่ไม่อยู่ไปตลอด
ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเอามารวมกันใหม่ๆ
ก็เป็นของใหม่ แล้วสักระยะหนึ่งของเหล่านี้ก็จะค่อยๆ
กลายสภาพไป กลายเป็นของเก่า
ในที่สุดก็ต้องชำรุดทรุดโทรมและแตกสลายหมดไป
ผู้ที่ต้องการความสุข
ไม่ต้องการความทุกข์
จะต้องไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้
จะต้องไม่แสวงหาสิ่งเหล่านี้มาให้ความสุขกับเรา
ต้องตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป
พระพุทธองค์ทรงเข้าถึงสัจจธรรมส่วนที่สอง
คือความสุขที่แท้จริงว่า
มีอยู่ในใจของเราแล้ว
ใจนี่แหละที่มีความสุขพร้อมอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าใจต้องหยุดหาความสุขจากภายนอกเท่านั้นเอง ใจต้องหยุดหา ลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข อย่าไปมีความผูกพัน
อย่าไปอยากมี อยากเป็น
อย่าไปหาความสุขกับรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขแต่เป็นความทุกข์
โดยธรรมชาติของเขาเป็นของไม่เที่ยง
และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถไปบังคับให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้
ขอให้เข้าใจไว้เถิดว่าใจของเรามีความสุขพร้อมอยู่แล้ว
ถ้าเปรียบใจเป็นบ้านของเรา
เราไม่ต้องออกไปนอกบ้าน
ภายในบ้านของเรามีของทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์แล้ว เราไม่ต้องออกไปแสวงหาสิ่งของภายนอก อยู่ที่บ้านก็มีเหลือเฟือ
เหลือกิน เหลือใช้
นี่คือธรรมชาติของใจ
แต่ความสุขของใจจะปรากฏขึ้นมาได้
ใจจะต้องสงบ ใจจะต้องนิ่ง เมื่อใจนิ่งแล้วสันติสุขก็จะปรากฏขึ้นมา ความสุขอันนี้แหละที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า
ไม่มีสุขอันใดในโลกนี้จะเหนือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ
นัตถิ
สันติ ปรัง สุขัง
สุขอื่นใดที่เหนือความสงบของใจนี้ไม่มี
นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง
และเป็นความสุขที่เราไม่ต้องไปดิ้นรนหา
เพียงเอาชนะใจของเราให้ได้เท่านั้นเอง
ใจของเราในขณะนี้ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้
เพราะอำนาจของโมหะความหลง
อวิชชาความไม่รู้นี่แหละ
ที่คอยผลักดันให้เกิดตัณหาความอยาก
เกิดกิเลส ความโลภ ความโกรธ
ความหลงขึ้นมา แล้วก็พาเราไปแสวงหาสิ่งต่างๆจากภายนอก
ถ้าหามาได้เราก็ดีใจ
ถ้าหาไม่ได้เราก็เสียใจ
ถ้ายังมีความหิว
ยังมีความกระหาย
ยังมีความอยากอยู่
ก็ยังต้องหาต่อไป
เมื่อหาได้มาแล้วก็มีความพอใจอยู่เพียงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็อยากจะได้สิ่งใหม่ๆขึ้นมาอีก
ลองสังเกตชีวิตราชการของเราดู
ตอนต้นเราเป็นเพียงนักเรียนนายเรือ
อยู่โรงเรียนเราก็ยังไม่มียศ
พอเรียนจบจากโรงเรียนมาแล้ว
เราก็ได้เป็นว่าที่นายเรือ
หลังจากนั้นก็ทำงานไปเรื่อยๆ
ก็ได้เลื่อนยศไปเรื่อยๆ
ตอนที่ได้เลื่อนขั้นก็มีความดีอกดีใจ
แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะเลื่อนขึ้นไปอีก
ความอยากก็จะพาเราไปเรื่อยๆ
ไม่มีที่สิ้นสุด
จนกระทั่งได้เป็นแม่ทัพของกองทัพเลยก็ตาม
มันก็ยังไม่พอ มีวลีอยู่คำหนึ่งที่ว่า
เหนือฟ้ายังมีฟ้า
ถึงแม้ได้ขึ้นไปถึงบนฟ้าแล้ว
ก็ยังมีคนที่อยู่เหนือเราอีก
ก็เลยทำให้เราไม่พอสักที
ถึงแม้จะไปถึงจุดสูงสุด
เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
หรือเป็นประธานาธิบดี
ก็มาอยู่สภาพเดียวกับพระพุทธเจ้าอีก
เพราะการเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เป็นของที่เที่ยงแท้แน่นอน
ไม่แน่ว่าจะเป็นไปได้ตลอด
สักวันหนึ่งก็ต้องหมดสภาพจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
จะก่อนตายก็ดี
หรือตอนที่ตายก็ดี
นี่แหละเป็นวิถีทางของความอยาก
ของความโลภ มันจะพาไปไม่มีที่สิ้นสุด
ได้มาเท่าไรก็จะไม่รู้จักคำว่า
พอ
ไม่รู้จักคำว่า อิ่ม
ถ้ายังไม่มีความอิ่ม
ไม่มีความพอ
ก็ยังจะไม่มีความสุข
ในทางตรงกันข้าม
ทางที่พระพุทธเจ้าทรงชี้บอก
คือทางที่เราควรจะไปกัน เพราะทางนี้จะพาเราไปถึงจุดอิ่ม
จุดพอได้ เราจะต้องต่อสู้กับความอยากที่มีอยู่ในใจเรา
คือ กามตัณหา
ความอยากในกาม ภวตัณหา
ความอยากมีอยากเป็น
วิภวตัณหา
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ที่ทำให้ใจเราหมุน
ทำให้ใจเราไม่หยุดนิ่ง
เมื่อใจเราไม่หยุดนิ่งแล้ว
ต่อให้มีทรัพย์สมบัติเงินทองกองเท่ากับศาลานี้ก็ตาม
ให้ได้เป็นประธานาธิบดี
เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีคนสรรเสริญเยินยอ
ต้องการจะดู จะฟัง
จะลิ้มรส
จะสัมผัสกับอะไรทั้งสิ้น
ก็สามารถหามาได้หมดก็ตามเถิด
ก็ยังไม่ทำให้ใจเรามีความสุข
เพราะใจไม่นิ่งนั้นเอง
ปัญหาของพวกเราจึงไม่ได้อยู่ที่การขาดของภายนอก เราทุกคนมีของภายนอกเกินความจำเป็นอยู่แล้ว
เพราะความจำเป็นมีเพียงไว้ดูแลรักษาร่างกายของเราให้อยู่ไปได้วันๆหนึ่งเท่านั้นเอง
คือมีปัจจัย ๔ อาหาร
ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม
และยารักษาโรค ร่างกายก็อยู่ได้อย่างสบาย
ไม่มีปัญหาอะไร
ก็มีความสุขได้แล้ว
ถ้าสามารถทำใจของเราให้หยุดนิ่งได้
ให้ใจหยุดคิดหยุดปรุงได้
ไม่ให้ไปเห็นว่าสิ่งต่างๆภายนอกเป็นสิ่งที่วิเศษ
เห็นคนอื่นเขามีอะไรก็อย่าไปอยากมีตามเขา
เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นของหลอก
ของปลอม
ของเล่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ได้มามากน้อยเท่าไรก็มีแต่ความไม่พอนั่นแหละ
ได้มาแล้วก็อยากจะได้ของใหม่ๆเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ
ดังนั้นการผลิตสินค้าใหม่ๆออกมาจึงเป็นสิ่งที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง
เพราะเมื่อมีสินค้าผลิตออกมาใหม่ๆก็จะมีคนที่จะไปซื้อสินค้าเหล่านี้มา
เพราะถูกอกถูกใจของกิเลส
ของตัณหานั่นเอง
แต่ไม่ได้ช่วยสร้างความสุขให้กับใจเราเลย
ทำให้ใจเราต้องดิ้นรนขวนขวายไปไม่รู้จักหยุด
ไม่มีที่สิ้นสุด
และถ้าไม่ระมัดระวังการขวนขวายของเรานี้
ก็อาจจะพาเราไปในทิศทางที่ไม่ถูก
ออกนอกลู่นอกทาง
ไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม
ถ้าแสวงหาตามความอยากด้วยความสุจริตอย่างน้อยก็ยังไม่มีผลเสียตามมาทางใจ
คือไม่ทำให้สภาพใจของเราเสื่อมลงจากความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
หรือเป็นสัตว์นรกไป
แต่ถ้ามีความอยากมากๆแล้ว
ไม่สามารถแสวงหาสิ่งต่างๆที่เราต้องการด้วยความสุจริตได้
แต่ไปแสวงหาด้วยความทุจริตแล้ว
มันก็จะฉุดกระชากลากคุณภาพใจของเราให้ต่ำลงไปด้วย
ให้เรากลายจากความเป็นมนุษย์ไปเป็นเดรัจฉาน
เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
หรือเป็นสัตว์นรก
นี่แหละคือโทษของการไม่ต่อสู้กับความอยาก
ไม่ต่อสู้กับความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ถ้าเราต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้แล้ว
สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถฉุดลากพาเราไปสู่อบายได้
และสิ่งที่จะช่วยให้เรามีกำลังต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายนี้ได้
ต่อสู้กับกิเลสตัณหานี้ได้
ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราจึงต้องเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ศึกษาว่าอะไรเป็นเหตุที่จะพาเราไปสู่สภาพที่ดี
พาเราไปสู่ความสุข ความเจริญ
อะไรเป็นเหตุที่จะพาเราไปสู่สภาพที่ไม่ดี
ความเสื่อม ความทุกข์
พระพุทธองค์ทรงสรุปคำสอนของพระพุทธองค์ไว้
๓ ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ๑.ให้ละการกระทำบาปทั้งปวงเสีย
เพราะการกระทำบาปนี้จะเป็นตัวฉุดลากให้เราไปสู่ที่ต่ำ ๒.
ให้ทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม
คือทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
เพราะความดีนี่แหละจะเป็นเครื่องฉุดลากเราไปสู่ที่ดี
ที่งาม ที่สุข ที่เจริญ ๓.
ให้ชำระใจเราให้ผ่องแพ้ว
คือให้ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของเราให้หมดไป
เพราะว่าต้นเหตุของการกระทำบาปนั้นเกิดจากกิเลสตัณหานี้เอง
ถ้าทำลายกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปแล้ว
ใจก็จะสงบโดยธรรมชาติ
เพราะไม่มีอะไรมาคอยกระตุ้น
มาคอยฉุด มาคอยลาก ให้ใจหมุน
ให้ใจทำงาน เมื่อใจไม่หมุน
ใจไม่ต้องทำงานแล้ว
ใจก็จะสงบ ใจจะนิ่ง
นั่นแหละคือความสุขของเรา
ดูพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง
หลังจากที่ท่านได้สละทรัพย์สมบัติต่างๆ
ที่ท่านเคยมีอยู่ในชีวิตของฆราวาส
แล้ว
ท่านก็ออกมาบำเพ็ญปฏิบัติธรรม
พยายามสร้างแต่ความดี
ชำระบาป ชำระจิตใจ
ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง
กิเลสตัณหาทั้งหลาย
ให้หมดไปจากจิตจากใจ
จนกระทั่งจิตของท่านนั้นสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา
หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ไปแสวงหาอะไรอีกต่อไป
ท่านก็ดำรงสมณเพศอยู่อย่างนั้นไปจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตของท่าน
และในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
ท่านก็ใช้ชีวิตของท่านบำเพ็ญประโยชน์
คือสั่งสอนผู้อื่นด้วยธรรมะ
สอนให้คนรู้จักความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ที่ไหน
และวิธีที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงนั้นทำได้อย่างไร
ท่านจึงเป็นสรณะของพวกเรา
เป็นพุธธัง ธัมมัง
สังฆัง สรนังคัจฉามิ
เป็นสรณะที่แท้จริงของพวกเรา
ท่านเป็นผู้ที่มีดวงตาที่สว่างแล้ว
เป็นคนที่ตาดี
ส่วนพวกเรายังเป็นเหมือนคนตาบอดอยู่
เราจึงต้องพึ่งพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ
เป็นผู้นำทางให้กับพวกเรา
ถ้าพวกเราปรารถนาความสุขความเจริญ
ปรารถนาความที่ไม่มีความทุกข์อยู่ในใจของเราแล้ว
ขอให้เราน้อมเอาพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
เข้ามาเป็นที่พึ่งของเรา
คำว่าที่พึ่งก็หมายถึงให้ท่านเป็นผู้สอนเรา
เป็นผู้นำทางเรา
ให้เราเอาตัวอย่างของท่านที่ท่านดำเนินมาเป็นแบบฉบับที่จะพาเราไปสู่ทิศทางที่ดี
ถ้าเราทำได้แล้ว
ความสุขความเจริญที่แท้จริงจะเป็นของเราอย่างแน่นอน
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้