กัณฑ์ที่
๙๔
ปลีกวิเวก
คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้
ต่างก็มีความปรารถนา
มีความต้องการเหมือนๆกัน
คือทุกคนอยากจะมีความสุข
มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์
ไม่มีใครอยากจะพบกับความหายนะ
ความเสื่อมเสียทั้งหลาย
เราจึงแสวงหาความสุขกัน
แต่มักจะไม่ค่อยเป็นไปตามที่เราปรารถนากัน ไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควร
ยังมีความทุกข์รุมเร้าจิตใจเราอยู่
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร
เพราะเรายังเป็นปุถุชนคนธรรมดา
ที่ยังมีความหลง มีอวิชชา
ความมืดบอดครอบงำใจเราอยู่
เปรียบเหมือนกับคนตาบอดเดินคลำทางไป
ก็คลำไปแบบผิดๆถูกๆ
ได้ความสุขบ้าง
ได้ความทุกข์บ้าง
ซึ่งต่างกับพระพุทธเจ้า
กับพระอรหันตสาวก
ผู้มีตาที่ดี ตาสว่าง
ตาไม่มืดบอด ท่านจึงรู้ถึงความจริงของความทุกข์และความสุข
ว่าอะไรคือความสุข
อะไรคือความทุกข์ ท่านจึงอยู่เหนือความทุกข์
มีแต่ความสุขอย่างเดียวในใจของท่าน
เป็นบุญวาสนาของพวกเราที่เกิดมาในชาตินี้
ได้พบกับพระพุทธศาสนา
พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้รู้จริงเห็นจริงในเรื่องของความสุขและความทุกข์ทั้งหลาย
แล้วนำสิ่งที่ได้ทรงรู้ทรงเห็นมาประกาศสั่งสอนให้กับมนุษย์ทั้งหลายได้ทราบ
ผู้ที่มีจิตศรัทธา
คือเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว
ก็เกิดความเลื่อมใส
เกิดความเชื่อ
นำเอาไปปฏิบัติก็จะพบกับความสุขความเจริญที่แท้จริง
ไม่ต้องมีความทุกข์มารุมเร้าจิตใจ
พวกเราถ้าปรารถนาความสุขที่แท้จริง
ไม่ต้องการมีความทุกข์มากวนใจ
จึงต้องเข้าหาพระศาสนา
เข้าหาพระธรรมคำสอน
แล้วน้อมเอาพระธรรมคำสอนมาปฏิบัติกับตัวเรา
แล้วเราจะได้เป็นเหมือนกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
เป็นผู้มีแต่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง
เป็นผู้ที่พ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง
แล้วอะไรเล่าคือความสุขที่แท้จริง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
ไม่มีสุขอันใดในโลกนี้จะเหนือกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ
นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง
เป็นความสุขที่อยู่กับเรา
เพราะว่าเป็นของที่อยู่ในตัวของเราเอง
เป็นความสุขที่ไม่มีใครจะมาพรากจากเราไปได้ แต่เป็นความสุขที่เรายังต้องสร้างขึ้นมา เพราะว่าในขณะนี้ใจของเรายังไม่สงบ ใจของเรายังมีความฟุ้งซ่าน
มีความดิ้นรนทะเยอทะยานอยากอยู่
ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา
ที่มีโมหะอวิชชาความไม่รู้ความจริงเป็นเครื่องผลักดันใจของเราอยู่
ทำให้ใจของเราอยู่นิ่งไม่ได้
และเมื่อใจอยู่นิ่งไม่ได้
ใจก็เลยไม่มีความสุข
มีแต่ความหิว
มีแต่ความกระหาย
เมื่อมีความหิว
มีความกระหาย
ก็เลยต้องออกไปดิ้นรนขวนขวายหาความสุข
มาเพิ่มขึ้นอีก
ก็เลยทำให้เกิดความวุ่นวายใจตามมา
เพราะว่าในขณะที่ออกไปขวนขวายหาสิ่งต่างๆ
ที่เราคิดว่าเป็นความสุข เช่นลาภ
คือทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ
ยศ
คือตำแหน่งต่างๆ
สรรเสริญ คือคำยกย่องเยินยอ
และ กามสุข คือความสุขที่เกิดจากการได้สัมผัสกับรูปที่ถูกใจ
เสียงที่ถูกใจ กลิ่นที่ถูกใจ
รสที่ถูกใจ
และโผฏฐัพพะที่ถูกใจ
ทำให้จิตต้องหมุน
ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา
ไม่ได้ทำให้จิตสงบ
จิตหลุดพ้น แต่กลับทำให้ติด
เกิดความผูกพันกับรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ลาภ ยศ
สรรเสริญ กามสุข
เลยทำให้จิตต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ที่ได้มา
แล้วก็พยายามหามาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
เปรียบเหมือนกับตุ่มน้ำที่รั่วใบหนึ่ง
ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้นาน
เติมน้ำเข้าไปเท่าไร
ทิ้งไว้สักระยะหนึ่งน้ำก็จะพร่องลงไป
พอพร่องลงไปเราก็ต้องคอยเติมให้มันเต็มอยู่เรื่อยๆ
นั่นก็คือลักษณะของใจเรา
ที่เป็นเหมือนกับตุ่มน้ำที่ยังมีรอยรั่วอยู่
๓ รอยด้วยกัน รอยรั่วทั้ง
๓ นี้เรียกว่าตัณหา
ความอยาก คือ ๑.กามตัณหา
ความอยากในกาม ๒.ภวตัณหา
ความอยากมีอยากเป็น ๓.วิภวตัณหา
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
ซึ่งทำให้ใจไม่เต็ม
ไม่อิ่ม ไม่พอ ได้อะไรมามากน้อยเท่าไร
สักระยะหนึ่งความพอใจก็หมดไป
ความอยากได้ใหม่ก็จะปรากฏขึ้นมา
เปรียบเหมือนกับตุ่มน้ำที่มีรอยรั่วอยู่
๓ รอย เติมน้ำเข้าไปให้เต็มอยู่พักหนึ่ง
น้ำก็จะซึมออกไปแล้วก็จะพร่องลงไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่เติมเข้าไปอีก
น้ำก็จะไม่มีเหลืออยู่ในตุ่ม
นี่แหละคือลักษณะของใจของพวกเราที่ยังมีโมหะอวิชชา
ความหลงความมืดบอดสร้างรอยรั่วให้กับใจ
คือสร้างกิเลสตัณหา
ความอยากต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในใจ
ทำให้ใจมีความรู้สึกว่ายังไม่มีความสุข
ยังไม่อิ่ม ยังไม่พอ
เพราะใจไม่นิ่งนั่นเอง
ถ้าตราบใดใจยังไม่นิ่ง
ยังไม่สงบ ใจก็จะไม่มีความสุข
นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
ทรงพบเห็นในธรรมชาติของใจว่า
ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่สมบูรณ์แล้วนั้น
มีอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว
แต่เราไม่รู้
เรากลับไปคิดว่าความสุขอยู่ที่ภายนอก
อยู่ที่ข้าวของเงินทอง
อยู่ที่วัตถุสมบัติ
อยู่ที่บุคคลสมบัติ
คือต้องมีสิ่งต่างๆ
มีข้าวของเงินทองไว้ใช้
ต้องมีสามี มีภรรยา มีลูก
ถึงจะมีความสุข
แต่เมื่อมีแล้ว
แทนที่จะให้ความสุขกับเราอย่างเดียว
ก็ยังมีความทุกข์ตามมาด้วย
ความทุกข์ที่แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ก็คือ
อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา นั่นเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีครอบครองอยู่
ล้วนเป็นของไม่เที่ยง
ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
เป็นของธรรมชาติ
สักวันหนึ่งธรรมชาติก็จะต้องเอากลับคืนไป
ถ้าเราไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านี้เราก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ
ถามตัวเราเองดูซิว่า
เวลาเรามีสามีก็ดี ภรรยาก็ดี
มีลูกก็ดี
หรือมีสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ
มียศถาบรรดาศักดิ์
ตำแหน่งต่างๆ
เรามีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น
เราจะต้องมีความกังวลใจ
เพราะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะจากเราไปเมื่อไร ความกังวลใจนี้ก็คือความทุกข์แล้ว
นี่แหละคือลักษณะของความหลง
หลอกให้เราเอาความทุกข์เข้ามาเผาใจ
รุมเร้าจิตใจเรา
แทนที่จะหาความสุขที่แท้จริงคือความสงบ
เรากลับไปหากองทุกข์เข้ามารุมเร้าใจเรา
เราจึงไม่มีความสุข
มีแต่ความทุกข์กัน
เราจึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง
ให้ท่านเป็นผู้นำพาเรา
ด้วยการฟังคำสอนของท่านแล้วนำมาปฏิบัติ
ท่านสอนให้เราทำใจให้สงบ
เราก็ต้องทำ
วิธีที่จะทำใจให้สงบนั้นเราต้องปลีกวิเวก
คือต้องหาที่สงบสงัด
ปราศจากรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รบกวนใจเรา รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่เราชอบ
ที่เรารักนั่นแหละ
หรือที่เราไม่ชอบนั่นแหละจะเป็นตัวที่จะมาคอยทำให้ใจเราไม่สงบ
ท่านจึงต้องสอนให้เราหาสถานที่สงบสงัดวิเวกอย่างในวัด
อย่างที่ญาติโยมบางท่านได้มาถือศีลปฏิบัติธรรม
นุ่งขาวห่มขาวกัน
เป็นวิธีแสวงหาความสงบในเบื้องต้น
กายวิเวก
คือสงบกายเสียก่อน
คือสิ่งแวดล้อมของร่างกายต้องสงบ
ถ้าเราอยู่ท่ามกลางรูป เสียง
กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่ทำให้ใจเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมาแล้ว
ใจก็จะกระเพื่อม
ใจก็จะไม่นิ่ง
ใจนี้ถ้าเปรียบก็เหมือนกับน้ำ
น้ำถ้าปล่อยไว้เฉยๆไม่ไปตักไม่ไปกวน
ไม่ไปคน
ไม่โยนอะไรใส่เข้าไปในน้ำ
ก็จะไม่มีลูกคลื่น
น้ำก็จะนิ่ง จะใส
เวลาเรามองน้ำที่นิ่งใสก็จะสามารถสะท้อนเห็นตัวเรา
เห็นหน้าของเราได้
เป็นเหมือนกระจกเงา
แต่ถ้าน้ำมีคลื่นเราก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นหน้าเราได้
เพราะว่าน้ำไม่นิ่งนั่นเอง
ลูกคลื่นที่เกิดจากการตักน้ำก็ดี
การโยนอะไรใส่เข้าไปในน้ำก็ดี
หรือการกวนน้ำก็ดี
น้ำก็จะมีลูกคลื่นมาก
น้ำก็จะขุ่น น้ำก็จะไม่ใส
ใจของเราก็เช่นกัน
ถ้าไม่นิ่งก็จะไม่ใส
เมื่อไม่ใสเราก็จะไม่เห็นสิ่งต่างๆที่เป็นคุณและเป็นโทษกับใจของเรา
เราก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ
เราก็เลยมักจะไปคว้าสิ่งต่างๆที่เป็นโทษกับใจของเรา
คือคว้าเอาความโลภ
คว้าเอาความโกรธ
คว้าเอาความหลงเข้ามา
ทำให้เราไม่ค่อยมีความสุขกัน
ถึงแม้ว่าเราจะหาสิ่งต่างๆมาได้มากมาย
มีเงินทองมาก มีข้าวของมาก
มีทรัพย์สมบัติมาก
มีทั้งสามี มีทั้งภรรยา
มีทั้งลูก
มีทั้งตำแหน่งที่สูงๆ มีทั้ง
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ทุกรูปแบบ ต้องการรูปแบบไหน
เสียงแบบไหน กลิ่นแบบไหน
รสแบบไหน โผฏฐัพพะแบบไหน
เราหามาได้หมด
แต่ใจเรากลับไม่มีความสุข
นั่นก็เพราะว่าใจเราไม่สงบ
ใจเราไม่นิ่งนั่นเอง
เราจึงต้องมาทำใจของเราให้นิ่งด้วยการปลีกวิเวก
ต้องตัดรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ
ที่เป็นตัวคอยทำให้ใจของเรากระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา
จึงต้องหนีจากสิ่งเหล่านี้
เมื่อหนีมาแล้ว
ในขั้นต่อไปเราต้องมีเครื่องควบคุมใจ
ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรจากภายนอกมาทำให้ใจเรากระเพื่อมได้
คือให้คิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ
ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ มาจี้
มาผลักดันให้ใจคิดปรุงก็ตาม
แต่ใจยังนิ่งอยู่เฉยๆไม่ได้
ใจยังต้องคิดโน่นคิดนี่อยู่
เพราะนี่คือธรรมชาติของกิเลสนั่นเอง
ของความโลภ ความโกรธ ความหลง
จะคอยผลักให้ใจคิดปรุงตลอดเวลา
ใจก็ยังไม่นิ่ง
การที่จะทำให้ใจนิ่งได้จะต้องมีสติ
สติจะเป็นตัวควบคุมใจ
ไม่ให้ใจคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ
ในเบื้องต้นท่านถึงสอนให้เรามีสติควบคุมใจ
โดยให้จิตระลึกอยู่กับอารมณ์กรรมฐานใดอารมณ์หนึ่ง
ที่เป็นนามธรรมก็ดี
เป็นรูปธรรมก็ดี ผูกใจไว้
ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกรรมฐานนั้นๆ
เพราะว่าถ้าใจไม่มีสติระลึกอยู่กับกรรมฐานใจก็จะลอยไปลอยมา
ใจก็เปรียบเหมือนกับเรือ
เรือที่จอดอยู่กับท่าแต่ไม่มีเชือกผูกไว้กับท่า
จอดทิ้งไว้เฉยๆ
เดี๋ยวกระแสน้ำก็จะพัดลอยออกไปจากท่าฉันใด
ใจก็เช่นกัน
ถ้าใจไม่มีอะไรผูกไว้แล้ว
ใจก็จะลอยไป คิดไป ปรุงไป
ใจก็จะไม่สงบ
จึงต้องมีการผูกใจ
คือต้องมีสติซึ่งเปรียบเหมือนกับเชือกผูกใจไว้กับท่า
ท่านี้คือกรรมฐาน
มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน
โดยทั่วไปแล้วจะใช้กันอยู่ ๒
แบบ คือการบริกรรมคำว่า
พุทโธๆๆ
นี่ก็เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง
เรียกว่าพุทธานุสติ
คือการมีสติระลึกถึงคำว่าพุทโธ
ถ้าเราให้ใจมีสติระลึกรู้อยู่กับคำว่าพุทโธๆๆ
อย่างเดียว
ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวอย่างอื่นๆ
ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะสงบได้
เพราะใจไม่สามารถจะลอยไปตามกระแสความคิดปรุงต่างๆ
เหมือนกับเรือที่มีเชือกผูกไว้กับท่าเรือ
ถึงแม้จะมีกระแสน้ำไหลมาเชี่ยวกรากขนาดไหน
กระแสน้ำก็ไม่สามารถที่จะลากเรือให้ลอยไปจากท่าเรือได้ฉันใด
ใจก็เช่นกัน
ถ้ามีกรรมฐานเช่นคำบริกรรมพุทโธๆๆอยู่
และสติคือการระลึกรู้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆๆนั้นอยู่
ถ้าทำไปได้เรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง
ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะรวมลง
เข้าสู่ความสงบ
ถ้าใจรวมลงเข้าสู่ความสงบแล้ว
ใจก็จะนิ่ง ใจก็จะเบา
ใจจะมีความสุข
ขณะที่รวมลงสู่ความสงบนั้น
การบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ
ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
เพราะการบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆนั้น
เป็นเพียงการดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ
เมื่อใจเข้าสู่ความสงบแล้ว
ใจก็จะไม่มีอารมณ์อะไรมาฉุดลากพาให้ไปในอารมณ์ต่างๆ
ในขณะนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร
ใจจะสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น
จะนานหรือไม่นานก็สุดแท้แต่เหตุปัจจัยที่ทำให้ใจสงบ
ในขณะนั้น
เราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไร
ถึงแม้ว่าจะมีธุระจำเป็นที่จะต้องไปก็อย่าเพิ่งดึงใจออกมาจากความสงบนั้น
เพราะว่าไม่มีอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่าความสงบของใจ
และถ้าใจถูกดึงออกมาแล้ว
ในคราวต่อไปใจอาจจะไม่สงบได้ง่าย
ในขณะที่ทำสมาธิแล้วใจรวมลงอยู่ในความสงบ
จึงอย่าไปรบกวนใจ
ปล่อยให้ใจอยู่ในความสงบ
เพราะเป็นการพักใจ
เป็นการเติมพลังให้กับใจ
ไม่มีอะไรมีความสำคัญยิ่งกว่าความสงบของใจ
ถึงแม้จะมีธุระหรือมีอะไรที่จะต้องทำในขณะนั้นก็ขอให้เราลืมเสียเถิด
อย่าไปสนใจ
เพราะความสงบของใจเปรียบเหมือนกับก้อนเพชรเม็ดใหญ่ๆ
ส่วนงานที่เราจะไปทำนั้น
เปรียบเหมือนกับก้อนหิน
คุณค่ามันแตกต่างกันมาก
ไม่ต้องไปกังวล
ขณะที่จิตรวมลงแล้ว
ควรปล่อยให้จิตรวมลงอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ
จนกว่าจิตจะถอนตัวขึ้นมาเอง
เมื่อจิตถอนตัวออกมาแล้วใจจะมีความสดชื่นเบิกบาน
ใจจะมีความสบายใจ
แต่จะเป็นอยู่อย่างนั้นไปได้ไม่นาน
เพราะเมื่อออกมาแล้ว ตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ
ก็จะเริ่มทำงาน
ตาก็จะเห็นภาพ
หูก็จะได้ยินเสียง
จมูกก็จะได้ดมกลิ่น
ลิ้นก็จะได้ลิ้มรส
ร่างกายก็ได้สัมผัสกับโผฏฐัพพะต่างๆ
ใจก็จะสัมผัสกับอารมณ์ต่างๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว
กิเลสซึ่งสงบตัวอยู่ขณะที่อยู่ในความสงบก็จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา
ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ
ความหลงขึ้นมา
เมื่อมีความโลภ ความโกรธ
ความหลงขึ้นมา
ก็จะมีความทุกข์ร้อนใจตามมา
จึงเป็นหน้าที่ของธรรมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปัญญา
หรือ วิปัสสนา ที่จะต้องทำหน้าที่ต่อไป
คือในเบื้องต้นเราทำใจให้สงบก่อน
ใจสงบแล้วเรามีความสุข
และเรารู้ว่านี่แหละคือสภาพของใจที่ต้องรักษาไว้
แต่เมื่อออกจากสมาธิหรือออกจากความสงบแล้ว
ใจก็จะเริ่มทำงาน
คิดปรุงไปเรื่อยๆ
ความคิดของใจคิดไปได้ ๒
ทิศทางด้วยกัน
คิดไปทางหนึ่งก็ยังทำให้ใจสงบอยู่
เรียกว่าคิดไปในทางมรรค
คิดไปอีกทางก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายใจ
คือคิดไปในทางสมุทัย
คิดไปทางมรรคทำใจให้สงบเย็นได้
คิดไปทางสมุทัยคือไปทางโลภ
โกรธ หลง ทางกามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา
ความยึดมั่นถือมั่น
ก็จะทำให้ใจเกิดความร้อนใจขึ้นมา
เราจึงต้องมาควบคุมความคิดของใจต่อไป
พยายามให้ใจคิดไปในทางมรรค
คิดอย่างไรถึงจะให้ใจคิดไปในทางมรรค
ก็ให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ไม่ใช่ของๆเราอย่างแท้จริง
ถ้าเรายึดเราติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้
ก็จะเกิดความโลภ
เกิดความโกรธ เกิดความหลง
ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าเราปล่อยวาง
ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่
เรามีอยู่เราก็ใช้ไป
ดูแลรักษาไปตามกำลังความสามารถของเราเท่าที่เราจะทำได้
แต่เมื่อถึงเวลาที่สิ่งเหล่านี้จะต้องจากเราไป
เราก็ไม่ต้องไปเสียดาย
เราทำใจพร้อมไว้ก่อนแล้วว่าพร้อมที่จะให้
พร้อมที่จะหมด
พร้อมที่จะให้หมดไป
ถ้าเราคิดอย่างนี้แสดงว่าเรากำลังเจริญมรรคอยู่
มรรคก็คือเครื่องดับทุกข์นั่นเอง
แต่ถ้าเราคิดไปอีกแนวทางหนึ่ง
คือคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ต้องอยู่กับเราไปตลอด
ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วเราจะแย่
เราจะตาย
นี่เป็นการคิดแบบยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้
เป็นความคิดที่ฝืนหลักของความเป็นจริง
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่กับใครไปตลอด
เวลาเรามาเกิดในโลกนี้
เราก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมา
ของต่างๆที่เราได้มาในโลกนี้
แม้กระทั่งร่างกายของเราก็เป็นของโลกนี้
เป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้มาก่อน
เมื่อเราตายไปเราก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมด
เราเอาอะไรไปไม่ได้
มีแต่ใจดวงเดียวที่ไปเท่านั้นเอง
ถ้าไม่อยากจะทุกข์
จึงต้องทำความเข้าใจว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่
ที่เราสมมุติว่าเป็นเรา
เป็นของๆเรานั้น
โดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นเราเป็นของๆเรา
เราต้องปล่อย เราต้องตัด
เราต้องวาง
แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราทิ้งไปเลย
เพราะว่าสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ก็ยังมีคุณ
มีประโยชน์
ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
เราก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไว้ดูแลรักษาอัตภาพร่างกายชีวิตของเรา
เรายังต้องกิน เรายังต้องใช้
เรายังต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่
เราก็ใช้สิ่งเหล่านี้ไปตามเหตุตามผล
อย่าไปใช้ตามอารมณ์ของกิเลส
คือใช้เท่าที่จำเป็น
เช่นเสื้อผ้าก็มีเท่าที่จำเป็น
ราคาของเสื้อผ้าก็ไม่จำเป็นต้องแพงมากมาย
เอาเท่าที่จำเป็น
เท่าที่สมกับฐานะของเราก็แล้วกัน
เรามีเท่าไรพอที่จะใช้ได้ในราคาระดับไหนก็ใช้ไป
แต่ให้ทำความเข้าใจว่า
เสื้อผ้าก็ดี อาหารก็ดี
บ้านก็ดี หรือยารักษาโรคก็ดี
ก็มีไว้เพียงแต่ดูแลรักษาร่างกายของเราเท่านั้นเอง
เสื้อผ้าจะราคาชุดละหมื่น
ราคาชุดละพัน
มันก็มีไว้ปกปิดร่างกายของเรา
อาหารก็เช่นกัน
จะมื้อละหมื่นหรือมื้อละพัน
มันก็เพียงแต่ไปเยียวยาดูแลรักษาร่างกายของเราไม่ให้หิวเท่านั้นเอง
ให้อยู่ได้ไปวันๆหนึ่ง
จึงขอให้เราอย่าหลง
เวลาใช้เงินใช้ทองใช้ของที่เรามีอยู่
ขอให้ใช้ด้วยปัญญา
ใช้ด้วยเหตุด้วยผล
ถ้าเราใช้ด้วยเหตุด้วยผลแล้ว
สิ่งต่างๆที่เรามีอยู่จะไม่เป็นโทษกับเรา
แต่จะเป็นคุณประโยชน์กับเรา
เพราะจะไม่กดดันให้เราต้องไปหามามากมายก่ายกองเกินความจำเป็น
คนเราบางคนมีสมบัติมากมายแต่ใจก็ยังมีความรู้สึกไม่พอ
ยังอยากจะได้เพิ่มขึ้นอีกเพราะอะไร
เพราะความหลงนั่นเอง
เห็นคนอื่นเขามีอะไรขึ้นมาใหม่
ก็อยากมีกับเขาขึ้นมาทันที
โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลเลยว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า
แต่ถ้ามีปัญญามีเหตุมีผลแล้ว
เราจะใช้สิ่งเหล่านี้ตามความจำเป็นเท่านั้น
เราจะกลายเป็นคนมักน้อยสันโดษขึ้นมาทันที
มักน้อยก็คือถึงแม้เราจะมีมากแต่เราจะเอาน้อยๆ
เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเอง
เพราะว่ามีมากเกินความจำเป็นก็ต้องดูแลรักษามาก
มีเสื้อผ้ามากๆก็ต้องมีตู้เก็บหลายๆใบ
ต้องคอยดูแล ต้องคอยเอามาซัก
เอามาทำความสะอาด ถ้ามีเพียง
๒ - ๓
ชุด ก็จะดูแลรักษาง่ายกว่า
สบายกว่า
นี่แหละคือลักษณะของคนที่มีปัญญา
คนที่มีปัญญาจะไม่หลงอยู่กับวัตถุสิ่งของ
ข้าวของเงินทองต่างๆ
เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสุขกับใจ
ความสุขที่แท้จริงคือการไม่มีภาระ
ไม่มีความกังวล
การที่จะไม่มีภาระ
ไม่มีความกังวลก็ต้องมีปัญญา
มีเหตุและผล รู้จักปล่อยวาง
รู้จักตัด
ถ้าจะเอาอะไรก็เอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
อย่างพระพุทธเจ้าทรงมีแค่บริขาร
๘
สมบัติของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลายมีแค่
๘ ชิ้นเท่านั้นเอง
ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ
คือมีบาตรไว้ใบหนึ่งไว้ใส่อาหารบิณฑบาต
มีผ้า ๓
ผืนไว้ห่มปกปิดร่างกายป้องกันความหนาว
มีที่กรองน้ำไว้สำหรับกรองน้ำเวลาไปหาน้ำในลำธาร
จะต้องมีที่กรองน้ำ
เพราะว่าในลำธารมีสัตว์น้ำตัวเล็กๆ
เช่นลูกน้ำที่เรามองไม่เห็น
ถ้าเอาน้ำขึ้นมาดื่มโดยที่ไม่ได้กรองแล้วมีตัวสัตว์
ก็เท่ากับไปทำร้ายสัตว์
เลยต้องมีที่กรองน้ำ
มีใบมีดโกนไว้ปลงผม
มีประคดเอวไว้สำหรับรัดผ้านุ่ง
มีด้ายกับเข็มสำหรับเย็บปะจีวรเวลาจีวรเกิดขาดขึ้นมา
นี่คือสมบัติจำเป็นของพระมีอยู่
๘ ชิ้นเท่านั้นเอง
เรียกว่าอัฐบริขาร
เวลาใครจะบวชจะต้องมีสมบัติทั้ง
๘ ชิ้นนี้ ถ้าผู้จะบวชไม่มี
หามาไม่ได้
ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์เป็นผู้หาให้
เป็นสมบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระดูแลรักษาอย่างดี
ไปไหนต้องเอาติดตัวไปด้วย
ถ้ามีสมบัติทั้ง ๘
ชิ้นนี้แล้วไม่อดตาย
อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้
นี่แหละคือสมบัติที่จำเป็นต่อการครองชีพของพระ
ส่วนความสุขนั้นทรงสอนให้หาจากความสงบของใจ
พยายามปลีกวิเวกหาที่สงบสงัด
พยายามตัดรูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย
อย่าไปสนใจ อย่าไปอยากได้
อย่าไปเข้าใกล้เลย
สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง
เพราะสิ่งเหล่านั้นมีความทุกข์ปนอยู่ด้วย
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้