กัณฑ์ที่
๙๕ ๒๒
ธันวาคม ๒๕๔๔
ที่พึ่งทางใจ
พวกเราเป็นพุทธศาสนิกชน
มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ทำไมพวกเราจึงต้องมีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง ถ้าเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวก พวกเราเปรียบเหมือนกับคนที่ยังมีความมืดบอดอยู่
เหมือนคนตาบอด
ส่วนพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก
ท่านเปรียบเหมือนกับคนตาดี
ตาสว่าง
เราจึงต้องอาศัยคนตาดี
ตาสว่างเป็นผู้นำทาง
คนตาบอดจะไปไหนมาไหนตามลำพังย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ไม่สามารถที่จะไปได้โดยสวัสดิภาพ
เพราะมองไม่เห็นทางนั่นเอง
ฉันใดพวกเราผู้เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่เกิดมาในโลกนี้
ยังมีความมืดบอดอยู่
ยังไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริง
ถึงแม้จะมีความปรารถนาเหมือนๆกัน
คือปรารถนาที่จะมีแต่ความสุขความเจริญ
ไม่ปรารถนาที่ประสบกับความทุกข์
ความเสื่อมเสีย
ความหายนะทั้งหลาย
แต่ทำไมชีวิตของพวกเราจึงไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนากัน
นั่นก็เป็นเพราะว่าเรายังไม่รู้จริงว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นความสุข
เป็นความเจริญ อะไรเป็นสิ่งที่เป็นความทุกข์
เป็นความหายนะ
เป็นความเสื่อมเสีย
เรามักจะมองเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความจริง
มักจะเห็นสิ่งที่เป็นสุขว่าเป็นทุกข์
เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
เราจึงมักจะคว้าเอาแต่กองทุกข์เข้ามาสุมหัวใจ
เพราะไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่เราไปหลง
ไปยึด ไปติด
โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเรานั่นเอง
เราจึงต้องอาศัยพระศาสนาเป็นที่พึ่ง
เป็นผู้ที่นำทางให้กับเรา
ถ้าเรามีพระศาสนาอยู่ในใจของเราแล้ว
เราจะรู้จักแยกแยะว่าอะไรคือสุข
อะไรคือทุกข์ อะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข
และอะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความทุกข์
ถ้าเรามีพระพุทธเจ้า
มีพระอรหันตสาวกเป็นผู้นำทางแล้ว
การเดินทางของชีวิตเราก็จะเป็นไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม
ไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง
เราจึงต้องเข้าหาพระศาสนา
ยึดพระศาสนาไว้เป็นที่พึ่งของเรา
เป็นแบบฉบับ เป็นผู้นำทาง
เราจึงต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ
เช่นทุกๆวันพระ
เราควรฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการเตือนสติ
เพื่อให้เรารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร
เพราะว่าถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว
จิตใจของเราจะถูกความมืดครอบงำ
ความมืดก็คือความหลงนี่เอง
ความหลงคืออวิชชาความไม่รู้สภาพความเป็นจริงของความสุขและความทุกข์
ซึ่งมักจะหลอกให้เราไปแสวงหาความทุกข์มากกว่าความสุข
นี่คือธรรมชาติของความหลง
ของความมืดบอด
สิ่งที่จะสามารถทำลายความมืดบอดความหลงนี้ได้ก็คือแสงสว่างแห่งธรรม
คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
เหมือนกับแสงที่เราใช้ในยามค่ำคืน
ถ้าเราเปิดไฟไว้ความมืดก็จะไม่เข้ามา
แต่ถ้าเราปิดไฟความมืดก็จะเข้ามาทันที
ฉันใดการที่เราไม่ได้ยินได้ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ
อย่างต่อเนื่อง
ก็เท่ากับเป็นการปิดไฟในยามค่ำคืน ถ้าปิดไฟในยามค่ำคืนมันก็จะมืด
จะมองไม่เห็นอะไร
แต่ถ้าเปิดไฟอยู่ตลอดเวลา
ก็จะมีแสงสว่างในยามค่ำคืน
ทำให้เห็นอะไรต่างๆได้
เราจึงต้องฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ
เพระเป็นการให้แสงสว่างกับใจ
ถ้ามีแสงสว่างภายในใจแล้ว
เราก็จะรู้ว่า
อะไรเป็นสิ่งที่ควรจะทำ
อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควร
และเมื่อเราทำในสิ่งที่ดีที่งาม
และไม่กระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามแล้ว
ผลที่จะตามมาย่อมเป็นไปตามเหตุนั้นๆ
ทำดีย่อมได้ดีทำชั่วย่อมประสบกับความเสื่อมเสีย
ความทุกข์ ความหายนะ
นี่เป็นหลักความจริงของโลกนี้
ที่ท่านเรียกว่าหลักกรรม
หลักกรรมเป็นสิ่งตายตัว
เป็นของคู่กันระหว่างเหตุกับผล
เมื่อกระทำอะไรไปแล้วผลย่อมตามมา
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะปฏิเสธได้
มาห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้
จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม
นี่เป็นความเป็นจริง ตราบใดที่ยังมีการกระทำอยู่
ตราบนั้นก็จะมีผลคือความสุขและความทุกข์
ความเจริญหรือความเสื่อมตามมา
การกระทำก็คือการกระทำทางกาย
ทางวาจา และทางใจ เป็นเหตุ
เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผลตามมา
ผลก็มีทั้งสุข
และมีทั้งทุกข์
ขึ้นอยู่กับเหตุว่าเหตุที่ทำนั้นเป็นเหตุที่ดีหรือเป็นเหตุที่ไม่ดี
ถ้าเป็นเหตุที่ดี
คือ คิดดี พูดดี กระทำดีแล้ว
ผลที่จะตามมาก็คือความสุข
ความเจริญ ในทางตรงกันข้าม
ถ้าคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี
ผลที่จะตามมาก็คือความทุกข์
ความเสื่อมเสีย
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเราทุกๆคน
กับชีวิตของเราทุกๆ วัน
ชีวิตของเรามีทั้งความสุขและความทุกข์สลับกันไป
แต่เรามักจะไม่มองว่าความสุขและความทุกข์ของเราเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา
นั่นเป็นเพราะว่าเรามีความมืดบอด
มีความหลงอยู่ในใจเรา
เราจึงมักจะไปโทษสิ่งอย่างอื่น
ไปโทษผู้อื่นว่าเป็นเหตุทำให้เรามีสุขบ้าง
มีทุกข์บ้าง เราจึงออกไปแสวงหาสิ่งต่างๆ
จากภายนอกเพื่อที่จะทำให้เรามีความสุข
แต่เราหารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆ
ที่เราคิดว่าเป็นความสุขนั้น
ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นความทุกข์
เพราะโดยธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนว่าเป็นทุกข์
ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์
คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปเกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
หรือทางใจก็ตาม
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง
มีการแปรปรวน
ไม่นิ่งอยู่กับที่
มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถ
ไปบังคับ
ไปควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้
เมื่อเราไปยึดไปติดกับสิ่งที่เราชอบ
เรารัก เรายินดี
แต่เมื่อสิ่งนั้นอยู่ภายใต้กฎของความเป็นของไม่เที่ยง
เป็นของที่ไม่อยู่ในการควบคุมของเรา
เราก็จะต้องทุกข์กับของนั้นๆ
ของนั้นไม่ช้าก็เร็ว
ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป
และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไป
ถ้าเรายังหลงยึดติดอยู่กับของเดิมอยู่เราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
เพราะสิ่งที่เราเคยรักนั้น
ไม่เป็นไปดังที่เคยเป็นเสียแล้ว
เขาได้เปลี่ยนไปแล้วด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
บางสิ่งที่เคยมีอยู่
อยู่ๆก็หายไป
บางสิ่งมีอยู่ไม่หายไปแต่ก็เกิดชำรุดทรุดโทรมขึ้นมา
ไม่สามารถทำประโยชน์ได้ดังเคย
สิ่งเหล่านั้นก็เลยกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา
ทั้งๆที่โดยธรรมชาติของตัวเราหรือของใจเรานั้น
ไม่ต้องมีอะไรมากมายก็สามารถอยู่ได้
เพราะใจโดยธรรมชาตินั้นไม่มีความจำเป็นจะต้องพึ่งอะไรให้ความสุขกับใจ
เพราะความสุขของใจจะขึ้นอยู่กับความสงบของใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ตราบใดใจยังไม่สงบ
ใจจะหาความสุขไม่ได้
ต่อให้มีข้าวของเงินทองกองเท่าภูเขาก็จะไม่มีความสุขกับสิ่งเหล่านั้น
เราอาจจะมีความรู้สึกดีอกดีใจในขณะที่ได้สิ่งเหล่านั้นมา
แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะกลายเป็นผู้ที่มีความทุกข์
มีความห่วงใยกับสิ่งเหล่านั้น
เพราะเมื่อไปยึดไปติดกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว
ก็ต้องอยากจะให้สิ่งเหล่านั้นอยู่กับเราไปเสมอ
อยู่กับเราไปตลอด
เพราะเราได้ยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นที่พึ่งเสียแล้ว
ทั้งๆที่ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งเขาเลย
เมื่อหลงไปพึ่งเขาแล้ว
ก็เลยเกิดมีความกังวลใจขึ้นมา
เพราะรู้อยู่ว่า
สิ่งเหล่านี้สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป
ต้องจากเราไป นี่ก็เป็นเพราะว่าใจของเราได้ถูกความหลงหลอกให้ไปรัก
ไปชอบ
ไปยินดีกับสิ่งต่างๆที่เราจะพึ่งพาอาศัยไม่ได้
ยึดเป็นสรณะเป็นที่พึ่งไม่ได้
เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเราไปไม่ได้ตลอด
เพราะเราไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมเป็นเครื่องนำพาชีวิตของเราไปนั่นเอง
วันไหนถ้าห่างจากธรรมะ
ไม่ระลึกถึงธรรมะแล้ว
ใจของเราก็จะถูกความหลง
ความมืดบอดพาไปทันที
พาไปในทางที่จะทำให้เรามีแต่ความทุกข์เท่านั้น
เราจึงต้องเข้าหาธรรมะอย่างสม่ำเสมอ
อาทิตย์หนึ่งๆควรฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ฟังธรรมแล้วเราก็ต้องเอากลับไปกับเรา ไม่ใช่ทิ้งไว้ที่วัดนี้
สิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ต้องเอากลับไปคิดต่อ
ในขณะใดเวลาใดที่มีเวลาว่างจากภารกิจการงาน
คือในขณะที่ใจไม่ต้องคิดเรื่องงานเรื่องการ
เรื่องทำมาหากิน
เราควรดึงใจให้คิดถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพราะว่าเมื่อเราระลึกถึงธรรมะอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว
ก็เท่ากับจุดประกาย
จุดแสงสว่างให้กับเรา
เพราะการมาฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นเพียงแต่มาเอาแสงสว่างไป
เอาไฟฉายไป
ถ้าเอาไฟฉายไปแล้วแต่ไม่เปิดไฟฉาย
ไฟฉายก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา
การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เช่นกัน
ฟังธรรมแล้วต้องพยายามนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังติดตัวไปด้วย
สิ่งที่พอจะจำได้ให้เอาไประลึกถึงอยู่เสมอ
เตือนสติสอนใจเรา
ให้เป็นเครื่องนำพาใจของเราไปเพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตของเรา
ไปในทางที่ถูกต้องดีงามต่อไป
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
ให้พุทธศาสนิกชนเจริญอยู่อย่างสม่ำเสมอมีอยู่
๔ ประการด้วยกัน
คือ ๑. ศรัทธา
ความเชื่อ ๒. จาคะ
การเสียสละ
๓. ศีล ความประพฤติดี
ทางกายและวาจา ๔. ปัญญา
ความรู้ความฉลาด
นี่คือธรรมะที่ชาวพุทธควรเจริญอยู่เสมอๆ
ศรัทธาคือความเชื่อ ให้เชื่ออะไร ๑.
ให้เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทรงเห็นเป็นของจริง
เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง
๒.ให้เชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ว่าเป็นความจริงล้วนๆ
ไม่ได้ทรงแต่งขึ้นมาหลอกพวกเรา
ให้ปฏิบัติไปโดยไม่มีผลอะไรตามมา
๓. ให้เชื่อในพระอริยสงฆ์สาวก
ว่าเป็นผู้สืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นผู้รับคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ
จนได้บรรลุธรรมขึ้นมา
มีดวงตาเห็นธรรม รู้จริง เห็นจริง
เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้
ทรงเห็น
เป็นผู้ได้พิสูจน์เห็นแล้วว่า
พระพุทธเจ้าและพระธรรมคำสอนเป็นของจริงล้วนๆ
พร้อมด้วยเหตุคือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
และผลคือความสุขความเจริญ
การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
สิ่งที่พระอริยสงฆ์สาวกสั่งสอน
ก็เป็นสิ่งเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั่นเอง
คือสอนให้มีจาคะ การเสียสละ
ให้มีศีล
ให้เจริญภาวนาพัฒนาจิตใจให้เกิดความรู้ความฉลาดเกิดปัญญาขึ้นมา
เราควรระลึกอยู่เสมอว่าพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของจริง
ทรงสอนให้เรากระทำความดี
ละเว้นความชั่ว
และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
คือชำระความโลภ ความโกรธ
ความหลง เป็นสิ่งที่เราควรน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ ในเบื้องต้นทรงสอนให้เสียสละ
การเสียสละเป็นการทำประโยชน์ให้ทั้งกับตัวเราและผู้อื่น
เพราะว่าข้าวของคือปัจจัย
๔ ที่เรามีอยู่นั้น
ถ้าเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพของเราแล้ว
ถ้าเก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับเรา
นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังเป็นโทษกับเราอีกด้วย
โทษที่เราจะต้องคอยดูแลรักษา
ทำให้เรามีความทุกข์
มีความกังวลกับสมบัติข้าวของเงินทอง
ที่ไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีพของเรา
ถ้าเสียสละให้กับผู้อื่นแล้วจะทำให้ใจเราเบา
หมดภาระที่จะต้องคอยดูแลสมบัติข้าวของส่วนนั้นไป
ผู้ที่เราสงเคราะห์ช่วยเหลือก็ได้ประโยชน์
ได้รับความสุขจากข้าวของที่เหลือใช้นั้น
ปล่อยไว้เฉยๆก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
เอาไปให้ผู้ที่ยังมีความขาดแคลนอยู่
ให้เขาได้รับประโยชน์
เขาก็จะมีความสุข
เมื่อเราให้ความสุขกับผู้อื่นแล้ว
ใจของเราก็จะมีความสุข
เพราะนี่คือธรรมชาติของใจ
ใจยิ่งได้มากยิ่งมีความทุกข์มาก
ยิ่งให้มากเท่าไรยิ่งมีความสุขมาก
ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วพระเวสสันดรจะไม่สามารถทำการเสียสละต่างๆได้
เวลาที่ท่านทำไปแล้วท่านมีความสุขใจ
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะสละพระราชสมบัติได้
ถ้าเราทุกคนคิดว่าการมีสมบัติ
มีข้าวของเงินทองมากๆ
แล้วจะมีความสุขกัน
ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้
จะไม่มีพระอริยสงฆ์สาวกมาออกบวช
มาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า
เพราะว่าทุกคนจะมีแต่ความเห็นแก่ตัว
จะกอดรักษาทรัพย์สมบัติข้าวของๆตนไว้อย่างเหนียวแน่น
ไม่ยอมเสียสละให้กับใคร
ทั้งๆที่มีแต่ความทุกข์กับทรัพย์สมบัติเหล่านั้น
เพราะความมืดบอดนั่นเองที่ทำให้เรายึดติดกับทรัพย์สมบัติ
เพราะกลัวความทุกข์
ความยาก ความลำบาก
แต่แทนที่จะมีความสุข
เรากลับจะมีความทุกข์มากกว่าคนที่เสียสละเสียอีก เพราะเมื่อเสียสละไปแล้วจิตใจจะต้องเข้มแข็ง
จิตใจต้องกล้าหาญ จิตใจต้องมีความอดทน
ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ประเสริฐ
ใครมีความกล้าหาญ
มีความเข้มแข็ง มีความอดทน
ย่อมไม่มีความหวั่นไหวกับความทุกข์
ความยาก ความลำบาก แต่คนที่มีแต่ความอ่อนแอ
คิดแต่จะพึ่งสิ่งอื่นๆ
ไม่เคยคิดที่จะพึ่งตัวเองเลย
คนแบบนั้นจะเป็นคนที่จะมีแต่ความทุกข์
ความยากลำบากไปตลอด
ดูพระพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวกเป็นตัวอย่าง
ก่อนที่ท่านจะออกบวชท่านก็เป็นคนอย่างเราอย่างท่าน
มีสมบัติข้าวของเงินทอง
มีอะไรมากมายก่ายกอง
แต่เนื่องจากท่านเป็นคนฉลาด
สามารถเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้แทนที่จะให้ความสุข กลับเป็นความทุกข์
เป็นภาระมากกว่า ท่านถึงกล้าที่จะตัด
ที่จะเสียสละสิ่งต่างๆเหล่านั้น
แล้วออกบวชอยู่แบบขอทาน
คือเอาเท่าที่จำเป็น
ยึดหลักความมักน้อยสันโดษ
ขอให้มีพอเพียงต่อการดำรงชีพก็พอ
คือมีปัจจัย ๔
อาหารก็ออกไปหาแต่ละวัน
ออกไปบิณฑบาต ได้มาเท่าไรก็ยินดีเท่านั้น
พออยู่ได้ไม่ตาย
แต่จิตใจจะสบาย
จิตใจจะไม่มีความกังวลกับเรื่องราวต่างๆ
นี่คือเหตุผลทำไมถึงจะต้องเสียสละกัน
ทำไมถึงต้องมีจาคะ
เพราะว่าการเสียสละจะทำให้ใจของเรามีความสบาย
ถ้ามีแต่ความยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทอง
เราจะมีแต่ความทุกข์
ความกังวลใจ
ประการต่อมา
สิ่งที่เราพึงปฏิบัติ
ก็คือควรจะมีศีล
ความประพฤติดี ทางกายและวาจา
เพราะการเป็นผู้มีศีลจะทำให้ชีวิตของเราดำเนินไปได้ด้วยความสงบ
เพราะเมื่อเราไม่ไปสร้างเวรสร้างกรรม
สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นแล้ว
เวรกรรมและความเดือดร้อนนั้นก็จะไม่กลับมาหาเรา คนที่มีศีลจะอยู่ได้ด้วยความสงบสุข ดังในอานิสงส์ของศีลที่แสดงว่า
สีเลน
นิพพุติงยันติ
ศีลเป็นเหตุนำมาซึ่งความดับทุกข์
ความวุ่นวายใจ คนที่ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร
ก็จะมีแต่ความสบายใจ
เพราะไม่มีความกังวล
ว่าจะมีใครตามมาเอาผิดกับเรา
เพราะเราไม่ได้ทำความผิดนั่นเอง
ต่างกับคนที่ทำความผิดมาแล้ว
ถึงแม้ว่ายังไม่ถูกเขาจับ
แต่เห็นเจ้าหน้าที่เดินมาก็มีความทุกข์ใจแล้ว
คิดว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาจับเรา
ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่เขายังไม่รู้เรื่องของเราเสียด้วยซ้ำไป
แต่เพราะว่าเราได้กระทำความผิดไปแล้วในใจของเรา ใจของเราก็จะมีแต่ความหวาดวิตก
มีแต่ความกลัวว่าจะต้องถูกเขาจับไปลงโทษนั่นเอง
ถ้าต้องการที่จะอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุข
ก็ขอให้พยายามหักห้ามจิตใจของเรา
ถ้าต้องการอะไรก็ขอให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม
อย่าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
อย่าไปลักขโมย อย่าไปประพฤติผิดประเวณี
อย่าไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น
อย่าไปเสพสุรายาเมาซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ขาดสติ เมื่อไม่มีสติแล้วจะไม่สามารถหักห้ามจิตใจได้
ในขณะที่เกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
ถ้าจะทำอะไรที่ชั่วร้ายก็จะไม่มีสติพอยับยั้งจิตใจได้
จึงควรมีสติด้วยการอยู่ให้ห่างจากพวกของมึนเมาทั้งหลาย
เมื่อมีสติแล้วเราก็จะสามารถควบคุมจิตใจของเรา
ไม่ให้ไปกระทำอะไรนอกลู่นอกทางที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทั้งหลายต่อไป
ประการสุดท้ายทรงสอนให้เจริญปัญญา
ความรู้ความฉลาด
ด้วยการศึกษาเล่าเรียน
ดังที่ท่านได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันนี้
ก็เป็นการศึกษา
ความรู้ทางพระพุทธศาสนา
ศึกษาให้รู้ถึงเหตุและผล
ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความเจริญ
อะไรจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย
อะไรเป็นเหตุของความสุข
อะไรเป็นเหตุของความทุกข์
เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ต้องนำเอาไปทบทวน
เอาไปคิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
ว่าวันนี้มาฟังเทศน์ฟังธรรม
พระท่านสอนอะไรบ้าง
อันไหนเราเข้าใจก็นำเอาไปปฏิบัติ
ถ้าได้ปฏิบัติตามที่พระสอนแล้ว
เราก็จะดำเนินชีวิตของเราไปได้ด้วยความราบรื่นดีงาม
มีแต่ความสุขความเจริญ
ไม่ต้องไปมีเรื่องมีราวมีปัญหา
ไม่ต้องไปประสบกับความเสื่อมเสีย
ความหายนะทั้งหลาย
แล้วใจของเราจะมีแต่ความสงบ
มีความร่มเย็นเป็นสุข
เพราะว่าไม่มีอะไรจะดีเลิศเท่ากับความสงบของจิตใจ
ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้
ที่จะเหนือกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ
ใจจะสงบได้ก็จะต้องมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดูแลรักษา
ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอน
ไม่มีธรรมะหรือปัญญาเป็นผู้ดูแลรักษาแล้ว
ใจก็จะถูกความมืดบอด
ความหลงหลอกให้ไปหาเรื่องหาราวต่างๆเข้ามา
ทำให้มีแต่ความวุ่นวายใจ
มีแต่ความกังวลใจ
มีแต่ความทุกข์ใจ
เพราะถูกหลอกให้ไปหาสิ่งต่างๆภายนอกมาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอใจ
แทนที่สิ่งเหล่านั้นจะมาบำรุงบำเรอใจ
กลับกลายเป็นตัวสร้างภาระให้กับใจ
ทำให้ยึดติด ทำให้ห่วง
ทำให้หวง ทำให้ทุกข์
ขอให้เข้าหาพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ
ศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่เรื่อยๆ
ถ้าไม่สามารถเข้าวัดได้
ในสมัยนี้เรายังสามารถที่จะฟังเทศน์ฟังธรรมที่นอกวัดได้
ศึกษาพระธรรมคำสอนได้ด้วยหลายวิธี
หนังสือธรรมะก็มีอยู่เยอะ
การแสดงพระธรรมเทศนาผ่านทางสื่อต่างๆ
เช่นวิทยุ โทรทัศน์
หรือการอัดเทปก็มีอยู่
เราสามารถที่จะฟังเทศน์ฟังธรรมได้อย่างสม่ำเสมอ ข้อสำคัญอยู่ที่เราจะต้องมีความตั้งใจ
ว่านี่คือหน้าที่ของเรา
นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องกระทำกัน
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถมากระตุ้นหรือชักนำให้เราทำได้
เป็นสิ่งที่เราจะต้องเป็นผู้ที่ชักนำตัวเราเองให้กระทำ
ถ้าเราไม่คอยสอน
คอยเตือนสติ
บอกเราว่าเราต้องพยายามศึกษาหาความรู้จากธรรมะอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว
เราก็จะไม่มีแสงสว่างเป็นเครื่องนำพาเราไปสู่ความสุขความเจริญอย่างแท้จริง
ทุกๆวันนี้ที่พวกเราออกไปทำมาหากินกัน
พวกเราก็คิดว่าเราไปหาความสุขความเจริญกัน
แต่ทำไมเราไม่ค่อยพบกับความสุขความเจริญเท่าที่ควร
ก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ไปหาความสุขความเจริญที่แท้จริง
เรากลับไปหาความทุกข์เข้ามาใส่หัวใจของเรา
ด้วยอำนาจของความหลงทำให้เราเกิดความอยากในสิ่งต่างๆ
ที่ไม่มีความจำเป็นต่อความสุขของเรา
เราก็ไปหาซื้อสิ่งต่างๆมา
แล้วสิ่งเหล่านั้นก็ทำให้เรามีความดีอกดีใจชั่วขณะหนึ่ง
หลังจากนั้นก็กลายเป็นภาระที่จะต้องคอยดูแลรักษา
และถ้าเกิดเสียหายชำรุดไป
ก็ต้องไปหามาใหม่ กลายเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่ความสุขเลยสิ่งต่างๆภายนอกไม่ว่าจะมาทางตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับเรา
จึงขอให้เตือนตัวเราอยู่เสมอว่า
สิ่งที่จำเป็นกับชีวิตของเรานั้นก็มีเพียงปัจจัย
๔ คือ อาหาร
ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม
และยารักษาโรค
นอกจากนั้นแล้วของภายนอก
ไม่ว่าเป็นวัตถุหรือบุคคล
จะเป็นทุกข์มากกว่าสุข แต่ถ้ายังไม่สามารถที่จะตัดได้
ก็ขอให้สอนใจอยู่เสมอว่า
สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง
จะต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้นไปสักวันหนึ่ง
อย่างน้อยเวลาที่เกิดการพลัดพรากจากกัน
จะได้ไม่เสียหลัก ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจจนกระทั่งอยู่ไม่ได้
บางคนเวลาสูญเสียอะไรที่ตนรักไป
ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ก็มี
เพราะขาดปัญญา ขาดธรรมะ
ขาดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
จึงขอให้เตือนตัวเราเองอยู่เสมอว่า
เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว
สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่กับตัวเรานี้
เราก็ต้องจากเขาไป
ไม่ช้าก็เร็ว เราไม่จากเขาไปก่อน
เขาก็ต้องจากเราไปก่อน
เมื่อเขาจากเราไปแล้วเราก็ต้องยอมรับว่าเป็นคติธรรมดา
จะได้ไม่เสียหลัก
เศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
จนทนอยู่ไม่ได้ต่อไป
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้