กัณฑ์ที่ ๙๙       ๒๘ มกราคม ๒๕๔๕

ขันธ์ ๕

ในพระอริยสัจข้อแรกคือทุกขสัจ  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ ความปรารถนาที่ไม่สมหวังความรันทดใจ ความเศร้าโศกเสียใจ โดยสรุปแล้วก็คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ คืออุปทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์   อะไรคือขันธ์ ๕   ขันธ์ ๕ ก็คือส่วนประกอบของชีวิตเรา  คือร่างกายและจิตใจ  มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  นี่คือส่วนประกอบที่มีอยู่ในทุกสัตว์ ทุกบุคคล หมายถึงมนุษย์ทุกๆคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ มีขันธ์ ๕ ด้วยกันทุกๆคน รวมไปถึงพวกเดรัจฉาน เขาก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน   ขันธ์ ๕ แบ่งไว้เป็น ๒ ส่วน  คือ รูปกับนาม 

รูปก็คือสังขารร่างกายที่ประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ  ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เกิดจากการรวมตัวของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผ่านมาทางอาหารที่เรารับประทานเข้าไป  น้ำที่เราดื่มเข้าไป  อากาศที่เราสูดเข้าไป  เมื่อมารวมตัวกันแล้วธาตุ ๔ ก็กลายเป็นอาการ ๓๒  นี่คือลักษณะของรูปขันธ์ เป็นไตรลักษณ์ คือเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปราศจากตัวตน  ความไม่เที่ยงของร่างกายเราก็เห็นได้ชัดเจน ร่างกายเมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่ได้อยู่เป็นเด็กทารกไปตลอด เมื่อเกิดมาแล้วก็มีการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วต่อมาก็เป็นคนชรา  และในที่สุดก็แตกสลายคือตายไป   ก่อนที่จะตายก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วย  นี่คือลักษณะของร่างกาย 

ร่างกายเมื่อตายไปแล้ว  อาการทั้ง ๓๒ ก็สลายตัวกลับคืนสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ้ลม ไฟ  ร่างกายของพวกเราจะไม่อยู่อย่างนี้ไปตลอด  เวลาคนตายไปถ้าไม่เอาไปเผา ทิ้งไว้เฉยๆ มันก็จะค่อยๆเน่าเปื่อย  ค่อยๆย่อยสลายไปหมด  กลับคืนสู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ถ้าเอาไปเผาก็จะกลายเป็นขี้เถ้าไป   นี่คือลักษณะของรูปขันธ์ เป็นไตรลักษณ์ เป็นของไม่เที่ยง  ไม่มีตัวตน  ถ้าไปยึดไปติด มีอุปทาน ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของๆเราเข้า ก็จะเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา  ถ้าจะไม่ให้ทุกข์ก็ต้องใช้ปัญญาศึกษาธรรมชาติของร่างกายนี้ ให้เห็นอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญาว่าเป็นสิ่งที่เกิดมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ และจะต้องกลับคืนสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเกิดมาแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากเด็กเป็นผู้ใหญ่  จากผู้ใหญ่เป็นผู้เฒ่า จากผู้เฒ่าก็กลายเป็นผู้ตายไปในที่สุด  นี่คือสภาพของร่างกาย 

ถ้ามีปัญญาก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด  ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะไม่ทุกข์กับร่างกายคือรูปขันธ์นี้  แต่ถ้าไม่มีปัญญา มีแต่ความหลง มีแต่ความมืดบอดครอบงำจิตใจ ความมืดบอดก็จะหลอกให้ใจ ไปยึด ไปติดกับร่างกาย ว่าเป็นตัวตน  เป็นเรา เป็นของๆเรา แล้วก็อยากจะให้ร่างกายนี้อยู่กับเราไปนานๆ ไม่อยากให้ร่างกายนี้แก่ ไม่อยากให้ร่างกายนี้เจ็บ  ไม่อยากให้ร่างกายนี้ตาย  ซึ่งเป็นของที่ฝืนธรรมชาติ  ฝืนสัจจธรรมข้อแรก  คือทุกขสัจที่แสดงว่าเกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  ต้องพลัดพรากจากกันและกัน  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราใช้สติ ใช้ปัญญากำหนดรู้ทุกข์  ทุกขสัจนี้ต้องรู้  ต้องกำหนดรู้  คำว่ากำหนดรู้หมายถึงให้ศึกษาอย่างถ่องแท้ ถึงสภาพความเป็นจริงของทุกขสัจว่าเป็นอย่างไร  คือร่างกายนี้ รูปขันธ์นี้ หรือธาตุขันธ์นี้ เป็นของไม่เที่ยง มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ปราศจากตัวตน  มาจากธาตุแล้วก็ต้องกลับไปสู่ธาตุ  ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้วปล่อยวางได้ ก็จะไม่ทุกข์กับรูปขันธ์ ธาตุขันธ์นี้   

นามขันธ์ มี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ    เป็นธรรมชาติที่ออกมาจากใจ คือมีใจเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นอาการของใจ  เป็นไตรลักษณ์ คือเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปราศจากตัวตน  เช่นเดียวกับรูปขันธ์ มีการเกิด มีการดับ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ตัวตน  ไม่มีตัวตนในนามขันธ์ทั้ง ๔  เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกับธาตุขันธ์   ธาตุขันธ์มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลมไฟ  ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง  เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง  เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนเหมือนกับดิน น้ำ ลม ไฟ 

เวทนาคือความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวเราทุกๆคน  คือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์  ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เวทนาทางกายเรียกว่ากายเวทนา  เวทนาทางจิตก็เรียกว่าจิตเวทนา   เวทนาทางกายกับเวทนาทางใจนี้ต่างกัน มีเหตุที่ทำให้เกิดต่างกัน  เวทนาทางกายเกิดจากการแปรปรวนของร่างกาย เช่นอุบัติเหตุ เดินไปสะดุดไปเตะหินเข้า ก็ทำให้เกิดเจ็บเท้าขึ้นมา  หรือรับประทานอาหารแล้วเกิดท้องเสียขึ้นมา เกิดการปวดท้อง  หรือเกิดจากพยาธิเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเป็นไข้ ปวดไปตามอวัยวะต่างๆ นี่เป็นเรื่องของเวทนาทางกาย เป็นของไม่เที่ยงคือเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แล้วก็ดับไปได้  เช่นอาการปวดหัว ปวดท้องของเรา ก็ไม่ได้เป็นไปตลอดเวลา  เป็นแล้วก็หาย หายแล้วก็เป็น สลับผลัดเปลี่ยนกันไป  นี่คือลักษณะของกายเวทนา 

จิตเวทนาหรือเวทนาทางใจ เกิดจากความหลงของใจ ที่ไปอยากสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าแล้วไม่สมความอยาก ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา  เช่นอยากไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย  เวลาร่างกายเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา  ใจก็ไม่สบายตามไปด้วย คือนอกจากกายไม่สบายแล้ว ใจยังไม่สบายตามไปด้วย เป็นการไม่สบาย ๒ ชั้นด้วยกัน  ไม่สบายทางกายแล้วยังต้องมาไม่สบายทางใจ  เป็นเพราะความหลง ความมืดบอด  ความไม่เข้าใจธรรมชาติของร่างกาย เพราะไม่เคยได้ศึกษา ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า จึงทำให้มีอุปทานยึดติดอยู่กับเวทนา  เวลาเกิดสุขเวทนาก็อยากให้สุขเวทนาอยู่กับเราไปนานๆ เวลาความสุขหมดไปก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  เวลาเกิดความทุกข์ขึ้นมาทางร่างกายก็ดี หรือการสูญเสียสิ่งที่เรารักที่เราชอบไปก็ดี ก็เกิดทุกขเวทนาทางจิตทางใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะอุปทานความยึดติดอยู่ในเวทนานั่นเอง  

แต่ถ้าได้ศึกษาด้วยปัญญาแล้วจะรู้ว่า การสูญเสีย การพลัดพราก การเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย เป็นเรื่องของธรรมชาติ  เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมดาของร่างกายที่จะเป็น  ไม่มีใครห้ามได้  เวลาเป็นแล้วไปทุกข์กับมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  กลับจะทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวขึ้นมาในใจอีกชั้นหนึ่ง  ซึ่งเป็นความทุกข์ที่รุนแรงยิ่งกว่าความทุกข์ของร่างกายเสียอีก  คนฉลาดจึงต้องรู้จักปล่อยวางเวทนาทางกาย คือถ้าเกิดอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ มียากินได้ก็กินไป  ถ้าไม่มียาก็ทำความเข้าใจว่าเวทนานี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่เราบังคับไม่ได้ อยากให้มันหายไม่ได้  เพราะถ้าอยากให้มันหายแล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง  แต่ถ้ายอมรับความทุกข์ของทางร่างกายว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทุกข์ใจก็จะไม่เกิด ทุกข์กายเกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่  สักครู่หนึ่งก็ดับไป  เป็นเรื่องธรรมดา  เหมือนกับฝนฟ้าอากาศ  บางวันเราไม่อยากให้ฝนตก  แต่พอฝนตกขึ้นมาเราก็ต้องยอมรับสภาพของฝนนั้น  เรารู้ว่าเราห้ามไม่ให้ฝนตกไม่ได้ฉันใด  เราก็ห้ามไม่ให้ทุกขเวทนาทางกายเกิดขึ้นฉันนั้น  ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็ปล่อยวางเสียเหมือนเราปล่อยวางฝน  เวลาฝนฟ้าตกเราก็ไม่เดือดร้อนใจ เพราะอะไร  เพราะเรารู้ว่าเราไปบังคับฝนไม่ได้  เมื่อเราบังคับฝนไม่ได้ เราก็ปล่อยให้ฝนตกไปตามเรื่องของเขา  จนกว่าเขาจะหมดฤทธิ์ เขาก็จะหยุดตกเอง   

เวทนาความทุกข์ทางกายก็เป็นแบบเดียวกัน  ถึงเวลาที่เขาจะต้องแสดงอาการเจ็บปวดออกมา ก็ปล่อยให้แสดงไป  ถ้ามีหยูก มียา มีหมอ พอที่จะช่วยบรรเทาได้  ก็ใช้ช่วยบรรเทาไป  ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีหยูกยา ไม่มีหมอ เราก็ต้องพึ่งตัวเราเอง  ต้องมีตนเป็นที่พึ่งของตน  ที่พึ่งของตนนี้ก็ไม่ใช่อะไร ก็คือ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้ใช้ปัญญาแยกแยะขันธ์ ๕  ให้เข้าใจว่าเวทนาซึ่งเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ ว่าเป็นของไม่เที่ยง ปราศจากตัวตน เป็นสิ่งที่เราไปบังคับควบคุมไม่ได้ เราไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ปล่อยให้เขาเป็นไปเหมือนปล่อยให้ฝนตก  ปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว  เราจะดับความทุกข์ในใจของเราได้  ใจของเราจะไม่เดือดร้อน  จะไม่วุ่นวาย  จะสงบ  จะเย็น  ท่ามกลางความทุกข์ของร่างกายนั้นแหละ 

เปรียบเหมือนกับน้ำแข็งที่อยู่ในกองไฟ  ถึงแม้ว่ากองไฟจะร้อนขนาดไหนก็ตาม น้ำแข็งก็ยังเย็นอยู่อย่างนั้น ฉันใดใจของผู้ที่มีปัญญาก็จะเป็นใจที่เย็นเหมือนกับน้ำแข็ง ในขณะที่ร่างกายเจ็บปวดรวดร้าวด้วยพิษของความเจ็บไข้ได้ป่วย  แต่ถ้าใจมีปัญญาแล้วใจจะปล่อยวางเวทนาทางกายคือไม่ไปวุ่นวาย เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  ถ้ามีหมอมียารักษาได้ก็รักษาไป  แต่ไม่ได้หวังพึ่งยาพึ่งหมอไปตลอดเวลา เพราะรู้ว่าในที่สุดแล้วร่างกายนี้ก็จะต้องเป็นไปตามสภาพของเขา คือจะต้องถึงจุดสุดท้ายที่แม้กระทั่งหมอหรือยาก็ไม่สามารถที่จะเยียวยารักษาได้  แต่ใจนี้สามารถที่จะรักษาใจได้ด้วยธรรมโอสถ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเวทนาเป็นสิ่งที่เราไปบังคับไม่ได้  ร่างกายนี้เราไปบังคับเขาไม่ได้  ในที่สุดเขาก็ต้องเป็นไปตามสภาพของเขา  นี่คือการใช้ปัญญาพิจารณาทุกขสัจ ซึ่งเป็นกิจของผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ 

ความทุกข์เกิดจากการขาดปัญญา  เมื่อไม่มีปัญญาจะเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของๆเราขึ้นมาทันที  มีใครปฏิเสธบ้างว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา  ทุกคนจะต้องบอกว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา  แต่ทำไมพระพุทธเจ้าถึงมาบอกตรงกันข้ามกับเรา  เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านมีดวงตาเห็นธรรม  ท่านปฏิบัติธรรมจนตรัสรู้ ท่านได้ชำระกิเลส โมหะ ความลุ่มหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ ความเห็นกลับตาลปัตร หมดสิ้นไปจากใจ  ท่านเห็นร่างกายตามความเป็นจริงของเขา  แต่เราเห็นร่างกายตามความหลงของเรา  เราจึงเห็นไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงเห็น  เราเห็นร่างกายเป็นตัวตน  เห็นนามขันธ์ทั้ง ๔  คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของๆเรา  เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็พยายามควบคุมบังคับให้ร่างกาย ให้นามขันธ์ เป็นไปตามความต้องการของเรา  แต่เราก็เป็นเหมือนกับคนตาบอด ทำไปเท่าไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ  ร่างกายก็ต้องแก่ไปตามเรื่องตามราว  เวทนาก็ต้องแสดงอาการของเขาไปตามเรื่องตามราวของเขา  เขาจะทุกข์ก็ทุกข์  เขาจะสุขก็สุข  เขาจะไม่ทุกข์ไม่สุขเขาก็ไม่ทุกข์ไม่สุข  เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

นี่แหละคือความแตกต่างของคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ กับคนที่ได้ศึกษาธรรมะ   ถ้าคนได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้แล้วนำมาปฏิบัติกับตนกับขันธ์ ๕ แล้ว ก็จะต้องปล่อยขันธ์ ๕  ขันธ์ ๕ จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยไปตามสภาพของเขา  เมื่อใจปล่อยวางแล้ว ใจจะสงบ ใจจะเย็น ใจจะไม่เดือดร้อน ท่ามกลางความทุกข์อันใหญ่โตของร่างกายนี้  ดังที่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก ในขณะที่จะเสด็จปรินิพพาน จะนิพพาน ใจของท่านไม่มีความหวั่นไหว  ใจของท่านเป็นปกติเฉยๆ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ท่านรู้แล้วด้วยปัญญาว่าเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง  เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ  ใจไม่ได้ไปอยากให้เป็นอย่างอื่น  ธรรมชาติความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้น   ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกได้ทำแล้ว  ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่สุขสบาย เป็นชีวิตที่อยู่เหนือความทุกข์  เพราะความทุกข์เกิดจากความหลงที่เราสร้างขึ้นมาในใจของเราเอง  ความทุกข์ภายในใจเราสามารถดับได้หมด  ไม่ให้มีความทุกข์ภายในใจเลยได้  แต่ความทุกข์ทางร่างกายเราห้ามเขาไม่ได้  เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา  เราก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  แต่เราไม่ต้องไปเดือดร้อนกับเขา  นี่คือวิธีปฏิบัติที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์  เราจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่าเป็นอย่างไร  ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร  แล้วปล่อยวางเขาไปตามเรื่องของเขา 

สัญญาคือความจำได้หมายรู้  เวลาเห็นรูปที่เราเคยพบ เคยเห็นมาก่อนเราก็จะจำได้ว่า รูปนี้เป็นรูปของใคร เช่นเราเคยเห็นคนนี้มาก่อน เราก็รู้ว่าเป็นนาย ก. นาย ข. อย่างนี้เป็นต้น คือการจำได้เวลาเห็นรูป  หรือเวลาได้ยินเสียงก็รู้ว่าเป็นเสียงของใคร เป็นเสียงของนาย ก. เสียงของนาย ข. หรือจำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตได้  เช่นเมื่อวานนี้เราไปทำอะไรมาบ้าง  อย่างนี้เรียกว่าสัญญาคือการจำได้หมายรู้ สังขารคือความคิดปรุงแต่ง  คิดเรื่องราวต่างๆ คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้  เรียกว่าสังขาร  อย่างวันนี้คิดว่าจะมาทำบุญที่วัด  สังขารเป็นตัวคิด  เราคิดว่าหลังจากทำบุญเสร็จแล้วก็จะไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อ นี่ก็เป็นสังขารความคิดปรุงแต่งเหมือนกัน วิญญาณในขันธ์ ๕ ต่างกับปฏิสนธิวิญญาณ  วิญญาณในขันธ์ ๕ เป็นส่วนที่รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  เมื่อรูปมาสัมผัสกับตา  ก็จะมีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นมา เป็นการรับทราบรูปผ่านทางตา เข้าสู่ใจโดยจักขุวิญญาณรับทราบว่ามีรูปปรากฏขึ้นในใจแล้ว  เช่นเดียวกับ เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ  เมื่อสัมผัสกับ หู จมูก ลิ้น กาย แล้ว ก็มีวิญญาณรับทราบเข้ามาสู่ใจ   เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้วสัญญาก็เป็นผู้ทำหน้าที่ต่อไป  เวลารูปเข้ามาในใจ  สัญญาก็จะแปรว่ารูปนั้นว่าเป็นรูปอะไร  เป็นรูปนาย ก. หรือ นาย ข. เป็นต้น  เช่นเดียวกับ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  เมื่อมีการแปรความหมายด้วยสัญญาแล้วก็มีเวทนาตามมา  ถ้าเป็นรูปที่เราชอบถูกใจเรา ก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมา  ถ้าเป็นรูปที่ไม่ถูกใจเราก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าเป็นรูปที่เราไม่ยินดียินร้ายด้วย ก็เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าเป็นสุขเวทนา สังขารก็จะคิดปรุงให้ตั้งอยู่นานๆหรือตลอดไปเลย ถ้าเป็นทุกขเวทนา สังขารก็จะคิดปรุงให้หมดไปเร็วๆ นี่คือการทำงานของนามขันธ์ทั้ง ๔

ขันธ์ทั้ง ๔ นี้เป็นของไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป  เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา  ออกมาจากใจ   ถ้าเราจะเปรียบเทียบขันธ์ ๔ กับใจแล้ว  ใจก็เปรียบเหมือนกับสระน้ำ  เวลาเราโยนก้อนหินเข้าไปในสระน้ำก็จะมีคลื่น มีฟองน้ำเกิดขึ้นมา  เช่นเดียวกันกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวลาทำงาน จิตก็จะกระเพื่อมขึ้นมา  กระเพื่อมแล้วก็สงบนิ่งลง   เวลาทำงานอีกก็จะกระเพื่อมขึ้นมาอีก  นี่คือลักษณะของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ที่มีอยู่ภายในจิตของเรา  พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าเป็นของไม่เที่ยง มีการเกิดดับ เกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ  คิดอะไรแล้วก็ผ่านไป  จำอะไรได้แล้วก็ผ่านไป  วิญญาณปรากฏขึ้นมาให้เห็นภาพ ได้ยินเสียง แล้วก็ผ่านไป  เวทนาก็เกิดความสุข เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป  เป็นของที่ไม่มีตัวตน เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามเหตุตามปัจจัย

เราจึงไม่ควรไปยึดไปติดว่าเวทนาเป็นเวทนาของเรา  เวลามีเวทนาเกิดขึ้นมาก็อย่าไปบอกว่าเราเจ็บ เราสุข  ต้องทำความเข้าใจว่า มีความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว มีความทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนกับมีแขกมาเยี่ยมบ้านเรา  วันนี้มีนาย ก. มาเยี่ยม  เมื่อเช้านี้มีนาย ข.มาเยี่ยม เขามาสักครู่แล้วเขาก็ไป  เขาอาจจะอยู่นานหรือไม่นานก็เรื่องของเขา เราไปห้ามเขาไม่ได้  นี่คือลักษณะของนามขันธ์ทั้ง ๔  เขาเกิดขึ้น เขาตั้งอยู่ แล้วเขาก็ดับไป  จะช้าหรือเร็วก็สุดแท้แต่เขา  แต่เราไม่ต้องไปยึดไปติดว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา  ไม่ต้องไปหลงตาม  เวลาสังขารคิดปรุงอย่างไร  พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราใช้ปัญญา ใช้เหตุผล  อย่าไปตามสังขาร  ถ้าสังขารปรุงว่าเดี๋ยววันนี้ไปกินเหล้าเราก็ต้องไม่เชื่อสังขารนี้  เราต้องใช้เหตุผลคือปัญญา ทบทวนดูก่อนว่าสังขารบอกให้เราไปทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง  ทำไปแล้วเกิดสุขหรือเกิดทุกข์ขึ้นมา  ถ้าทำไปแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมาก็อย่าไปทำ  ถ้าทำไปแล้วเกิดสุข เกิดคุณ เกิดประโยชน์ขึ้นมา เราถึงค่อยทำ  ถ้าทำได้  ถ้าทำไม่ได้ ไม่ต้องไปเดือดร้อน ก็ทำความเข้าใจว่าทำไม่ได้  แล้วก็ปล่อยวางไป เท่านั้นก็จบ

นี่คือการปฏิบัติกับขันธ์ทั้ง ๕  คือทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของเขาว่าเป็นอย่างไร  แล้วก็ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา  ขันธ์ ๕ เปรียบเหมือนต้นเทียน  เวลาจุดเทียนก็จะมีแสงเทียน มีควัน มีความร้อน มีการกะพริบของแสงเทียน  รูปขันธเปรียบเหมือนต้นเทียน ไส้เทียน แสงเทียน เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ด้วยตา  ส่วนความร้อนของไฟกับลมที่พัดแสงเทียน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เปรียบเหมือนกับนามขันธ์   ถ้าจุดต้นเทียนแล้วปล่อยให้ไหม้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเทียนก็จะไหม้หมดไป เปรียบเหมือนร่างกายของเรา  ร่างกายของเราเมื่อเกิดมาแล้วก็ค่อยๆเจริญเติบโต ค่อยๆแก่ และในที่สุดก็จะต้องดับไป เหมือนกับต้นเทียนที่ไหม้หมดไป ส่วนความร้อนที่เกิดจากไฟกับลมที่ทำให้แสงเทียนกะพริบ ก็เป็นเหมือนกับนามขันธ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีตัวไม่มีตน  เป็นธรรมชาติ 

นี่คือลักษณะของขันธ์ ๕ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน  ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของๆเรา  ดูร่างกายของเราก็ให้ดูเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ต้องแก่ ต้องเจ็บ  ต้องตาย  เป็นธรรมดา   ดูเวทนาก็ต้องเห็นว่าเป็น ปรากฎการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ปรากฎขึ้นกับร่างกายและจิตใจ  เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป  สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นกัน  จำได้หมายรู้แล้วก็ดับไป  สังขารปรุงแล้วก็ผ่านไป  วิญญาณรับทราบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ดับไป  ผ่านไป  ไม่มีตัว ไม่มีตน  เป็นสิ่งที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้  เราเพียงแต่ทำความเข้าใจว่าเขาเป็นอย่างไร รู้แล้วปล่อยวางตามความเป็นจริง  เท่านั้นก็พอ   ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วใจของเราก็จะไม่มีความทุกข์  เวลาไปเจอสิ่งที่เราไม่ปรารถนา  ต้องไปพบกับคนที่เราไม่ชอบหน้า เราก็ต้องทำความเข้าใจว่านี่ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง  คนนั้นเขาก็เป็นรูปขันธ์ นามขันธ์ เป็นขันธ์ ๕  ไปบังคับขันธ์ ๕ นี้ไม่ได้  วิญญาณที่รับรู้รูปนี้ก็รับรู้มาแล้ว ไปบังคับมันไม่ได้ นอกจากเราหลับตา   ถ้าหลับตาแล้วก็จะมองไม่เห็นคนที่เราไม่ชอบนั้นได้  หรือเดินหนีไปเราก็จะพ้นจากบุคคลนั้นได้  แต่ถ้าหลับตาไม่ได้ เดินหนีไม่ได้ เราต้องใช้ปัญญาเข้าไปสอนใจ  ต้องบอกว่ามันเป็นเพียงแต่ขันธ์ ๕ เป็นสภาวธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และในที่สุดก็ต้องดับไป  ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับเขา  เขาจะเป็นอย่างไรมันก็เรื่องของเขา 

ถ้าเราทำอย่างนี้ได้แล้วชีวิตของเราก็จะเป็นชีวิตที่มีแต่ความสงบ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความกังวล  ความทุกข์ความกังวลนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าเราไปยึดไปติด ไปชอบขันธ์ ๕ เข้า เช่นเราไปชอบบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้า  สามีของเราก็ดี  ภรรยาของเราก็ดี  เราก็อยากจะให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  นี่ก็เป็นการไปควบคุม  พยายามที่จะควบคุมขันธ์ ๕ ให้เป็นตามความอยากของเราแล้ว  ถ้าทำอย่างนี้ก็จะสร้างความทุกข์ใจขึ้นมา  เพราะไม่ได้เป็นไปตามความอยากความต้องการของเรา  ซึ่งมักจะสวนทางกับความเป็นจริงเสมอ ถ้ารักใครเราก็อยากจะให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ  อยากจะให้เขาไม่แก่  อยากจะให้เขาไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  อยากไม่ให้เขาตาย  เป็นความอยากของคนเรา  แต่เราไม่รู้หรอกว่าความอยากนี้เป็นต้นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  เพราะความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง  ไม่เคยเข้าวัดเข้าวา ไม่เคยศึกษาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เลยปล่อยให้ใจถูกอำนาจของตัณหาความอยากพาไป  เมื่อมีตัณหาความอยากพาไปแล้วใจก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ มีแต่ความวุ่นวายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับไปตลอดจนวันตาย  และเมื่อตายแล้วก็ยังไม่หมดสิ้นเพราะความอยากนี้ก็จะพาไปเกิดอีก จึงควรเห็นโทษของตัณหาความอยาก แล้วละเสียด้วยปัญญา คือปล่อยวางขันธ์ ๕ ให้เขาเป็นไปตามความจริงของเขา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะได้หมดทุกข์กันเสียที การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้