คำนำ

 

การเข้าถึงธรรมหรือสัจจธรรมของชีวิต อาจทำได้ง่าย ถ้าเราหมั่นฝึกฝนการฟังการคิดและการปฏิบัติ ให้อยู่ในหลักคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า จากการที่ได้ยินได้อ่านเรื่องราวของธรรมะอยู่บ่อยๆ และใช้การพิจารณาไตร่ตรองในทุกๆเรื่อง ให้เข้ากับของจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อฟังคิดอ่านแล้ว ก็ต้องลงมือทำนั่นเอง  จริงๆแล้ว เรื่องของธรรมะเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องราวที่มีอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว และทุกคนก็ได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆเหมือนกัน ซ้ำซาก วนเวียน เรื่องเก่าเล่าใหม่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชีวิตขึ้นลง บทบาทปรับเปลี่ยน แต่ทำไมทุกข์ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวังวนของโลกเรานี้ หรือเป็นเพราะธรรมะยังห่างไกล จากจิตใจเราอย่างนั้นหรือ

ธรรมชาติก็อยู่ใกล้รอบๆตัวเรา สัมผัสได้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แต่ทำไมใจจึงดูเหมือนเข้าซึ้งถึงธรรมะได้ยากเหลือเกิน ทั้งๆที่ถ้าเข้าใจมันแล้ว มันก็เป็นทั้งหมดของชีวิตจิตใจเราด้วยซ้ำ  ใจที่พูดนี้คงเป็นใจที่ขาดกำลังเป็นใจที่หลงผิด ติดอยู่ในโลกสมมุติ และไม่พยายามที่จะหาที่พึ่ง ที่จะดึงใจให้ออกจากความยึดมั่นที่ผิดๆนี้ได้ ถ้าคิดถูก เข้าใจถูก ปฏิบัติถูก เราก็จะรู้ว่าที่แท้จริง ใจมีที่พึ่งที่ดีที่สุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บังเกิดขึ้นในใจของผู้ปฏิบัตินั่นเอง เป็นที่พึ่ง เป็นหลักชัยของผู้ที่ชนะใจตนเอง เป็นกำลังเสริมให้ใจมีเรี่ยวมีแรง จะต่อสู้กับอวิชชา ตัณหา ความมืดบอดได้

เพราะจิตที่มีกำลังเข้าถึงพุทธคุณ ย่อมก่อเกิดแสงสว่างและปัญญา จิตที่ลิ้มรสพระธรรมช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของสมาธิ และจิตที่ระลึกถึง เคารพ บูชา พระอริยสงฆ์และอริยบุคคล ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นแบบอย่างผู้ทรงศีลอย่างเคร่งครัด ช่วยให้จิตเกิดศรัทธาและยึดมั่นในศีลได้อย่างถาวร พระรัตนตรัยของชาวพุทธ จึงเป็นกำลังสำคัญ ที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของใจ และใจจึงได้รับประโยชน์ที่แท้จริงของการดำรงชีวิต ที่กายและใจมิใช่สิ่งเดียวกัน แต่อยู่กันได้อย่างสันติสุข เมื่อใจเข้าซึ้งถึงธรรมะ ใจก็ปราศจากทุกข์ กายก็พลอยได้รับความสบายไปด้วย ชีวิตที่มีธรรมะหล่อหลอมจิต จึงเป็นชีวิตที่ธรรมดา เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ไม่เรียกร้อง เรียบง่าย รักสงบเมื่อนั้นเราจะเข้าถึงความเป็นธรรมดา ที่ความไม่มีอะไรเลยเป็นบรมสุข

 

                                                                                                                                     คณะผู้จัดทำ

                                                                                                                                      กรกฎาคม ๒๕๔๗